ถามแพทย์

  • ลูกมีน้ำมูก ไอ มีเสมหะ ไม่กินข้าว กินนมได้น้อย มีวิธีช่วยลดเสมหะกับน้ำมูกไหม

  •  Numtaan Phatcharachat
    สมาชิก
    ลูกมีน้ำมูก ไอ มีเสมหะในคอ ไม่ยอมกินข้าวเลย ถ้าไม่บังคับ นมก็กินได้น้อยพอกินแล้วเหมือนเขาเหนียวคอก็จะไอ และไม่กินนมต่อ แต่น้ำกินได้เยอะมากๆ ตอนนี้น้ำหนักตัวลดด้วยคะ มีวิธีช่วยลดเสมหะกับน้ำมูกไหมคะ แล้วลูกกินแต่น้ำจะเป็นไรไหมคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Numtaan Phatcharachat,

                     อาการมีน้ำมูก ไอ และมีเสมหะของลูก อาจเกิดจาก

                    1. ไข้หวัดธรรมดา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน อาการได้แก่ มีไข้ ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ เสียงแหบ คัดจมูก มีน้ำมูก จาม ตาแดง อาจมีอาการอาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วยได้ มักหายได้เองใน 1 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการไอต่อเนื่องไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ 

                    2. .ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มอินฟลูเอนซา (Influenza) อาการมักรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ส่วนใหญ่จะหายได้เองเช่นกันในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ในบางรายโดยเฉพาะเด็กเล็ก คนสูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น

                     3. หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มากกว่า 90% เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และโดยมากก็คือไวรัสที่ทำให้เกิดอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นอาการโดยส่วนใหญ่คือจะมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน และต่อเนื่องด้วยอาการไอมาก ไอบ่อยและมักมีเสมหะร่วมด้วย อาจมีหอบเหนื่อย หายใจลำบากได้ อาการไอมักนานกว่า 1 สัปดาห์ 

                    4. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (respiratory syncytial virus) เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ส่วนใหญ่มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งประมาณ 70% มักมีปอดบวมและหลอดลมฝอยอักเสบ อาการคือในช่วง 2-4 วันแรก จะมีอาการจะคล้ายไข้หวัดธรรมดา เมื่อเชื้อลงสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จะทำให้หลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และปอดบวม อาการคือโดยจะมีไข้สูง ไอมาก ไอจนอาเจียน เสมหะมาก หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก หอบ หายใจเร็ว หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ตัวเขียว ซึมลง อาจถึงขึ้นเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

                       ฃ ดังนั้นหากอาการของลูกยังไม่รุนแรง คือไม่ไอมากจนหอบเหนื่อย ไม่มีหายใจแรง ไม่มีไข้สูง  ไม่ซึม ไม่มีอาเจียนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรดังกล่าวข้างต้น ก็ยังไม่ถือว่าอันตราย สามารถให้การดูแลด้วยตนเองได้ เช่น การให้ลูกดื่มน้ำมากๆ (น้ำไม่เย็น) หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องแอร์หรือโดนลมจากพัดลมโดยตรง เพราะอาจทำให้น้ำมูก หรือเสมหะเหนียวข้นขึ้น กระตุ้นให้ไอมากขึ้น หลีกเลี่ยงการให้ทานขนมต่างๆ ของทอดหรือผัด เพราะทำให้เสมหะเหนียวข้นเช่นกัน อาหารควรเป็นประเภทต้มหรือนึ่ง เป็นต้น 

                        สำหรับวิธีการลดน้ำมูกในเด็กเล็ก เช่น การใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำเกลือแล้วสอดเข้าไปเช็ดรูจมูกทีละข้าง การดูดน้ำมูกด้วยลูกยางแดง โดยใช้ผ้าห่อตัวเด็ก ให้นอนศีรษะสูง ตะแคงหน้าไปด้านหนึ่ง แล้วใช้ลูกยางแดงใส่ในรูจมูกบีบเอาน้ำมูกออกมา หรืออาจใช้น้ำเกลือหยอดจมูกข้างละ 1-2 หยดก่อน แล้วตามด้วยการใช้ลูกยางแดงดูดเอาน้ำมูกออกมา หรืออาจใช้อุปกรณ์พ่นน้ำเกลือแบบสเปรย์สำหรับพ่นจมูกก็ได้ นอกจากนี้อาจนำวิธีใช้น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรมาช่วยให้เด็กหายใจโล่งขึ้น เช่น การใช้หัวหอมหลายๆ หัว ปอกเปลือก ทุบพอบุบ นำไปวางไว้ใกล้ศีรษะเด็กเวลานอน เป็นต้น   

                       สำหรับเสมหะ หากมีมาก อาจใช้วิธีการเคาะปอดเพื่อช่วยให้เสมหะออกมา สามารถอ่านวิธีการเคาะปอดได้ ที่นี่

                       หากอาการของน้องไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่นร่วม เช่น  ไข้สูง ไอมาก เด็กหายใจแรง หอบ งอแงมาก อาเจียนมาก ไม่ทานนมหรืออาหารใดๆ ควรรีบพาไปพบกุมารแพทย์โดยเร็วค่ะ