ไขข้อสงสัย ล้างพิษตับได้ผลชัวร์หรือมั่ว ปลอดภัยหรือไม่

หลายคนเชื่อกันว่า การล้างพิษตับจะช่วยขจัดสารพิษจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักหรือรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ช่วยให้ตับทำงานได้อย่างมีเต็มที่ เสริมสุขภาพร่างกายโดยรวม ช่วยลดน้ำหนัก หรือรักษาปัญหาสุขภาพตับ แต่จริง ๆ แล้ว การล้างพิษตับอาจไม่ได้มีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือบรรเทาอาการจากโรคได้อย่างที่คิดไว้  

ตับนั้นเป็นอวัยวะที่ใหญ่มากอวัยวะหนึ่งในร่างกายคนเรา มีหน้าที่หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วยในกระบวนการเผาผลาญ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบย่อยอาหาร รวมไปถึงหน้าที่สำคัญที่ช่วยกำจัดของเสียและล้างสารพิษ ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่แนวคิดในการทำความสะอาดตับหรือล้างพิษตับด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ตับทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง  

ไขข้อสงสัย ล้างพิษตับได้ผลชัวร์หรือมั่ว ปลอดภัยหรือไม่

ล้างพิษตับคืออะไร ?

ล้างพิษตับเป็นวิธีการที่เชื่อว่าช่วยขับสารพิษในร่างกาย ทำให้มีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหลังการดื่มสังสรรค์ เร่งการเผาผลาญในร่างกาย ช่วยลดน้ำหนัก อีกทั้งยังเชื่อกันว่ารักษาโรคตับอย่างตับอักเสบหรือไขมันพอกตับได้ด้วย โดยวิธีหรือข้อปฏิบัติในการล้างพิษตับนั้นอาจต่างกันไป เช่น อดน้ำหรือดื่มได้เพียงน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มบางชนิดเป็นเวลาหลายวัน จำกัดการรับประทานอาหาร รับประทานสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบางชนิดอย่างมิลค์ ทิสเซิล (Milk Thistle) หรือขมิ้นชัน เป็นต้น 

ล้างพิษตับได้ผลและปลอดภัยต่อร่างกายหรือไม่ ?   

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับล้างพิษตับจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปและยังสามารถหาซื้อได้ง่ายในช่องทางออนไลน์ จึงอาจมีผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยที่น่าเชื่อถือมารองรับ และอาจไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยา (อย.) ทำให้เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การล้างพิษตับด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะให้ผลลัพธ์ตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหรือเป็นอันตรายต่อตับได้ จึงควรปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทาน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ หรือผู้สูงอายุ แต่หากสนใจจะล้างพิษตับก็ควรทำด้วยความระมัดระวังอย่างมากและควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้ 

  • หลีกเลี่ยงน้ำผลไม้ที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์หรือกระบวนการฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ 
  • ผู้ป่วยโรคไตอาจมีอาการแย่ลงหากดื่มน้ำผลไม้ในปริมาณมาก 
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากต้องปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร 
  • การอดน้ำหรืออาหารอาจส่งผลให้รู้สึกอ่อนแรง หมดสติ ปวดศีรษะ หรือร่างกายขาดน้ำ อีกทั้งยังอาจทำให้ตับถูกทำลายมากขึ้นในผู้ป่วยโรคตับอักเสบบี    

เคล็ดลับดูแลสุขภาพตับอย่างถูกวิธี

การดูแลตับของเราให้แข็งแรงสมบูรณ์พร้อมทำหน้าที่หลากหลายในแต่ละวันนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างและหันกลับมาใส่ใจตนเองอยู่เสมอ เท่านี้ก็ไม่จำเป็นต้นพึ่งพาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับล้างพิษตับใด ๆ โดยสามารถเริ่มต้นด้วยคำแนะนำดังต่อไปนี้ 

  1. จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันโรคตับจากแอลกอฮอล์ โดยผู้ชายไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 หน่วยบริโภค ส่วนผู้หญิงไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 หน่วยบริโภค ยกตัวอย่างเช่นเหล้า 1 หน่วยบริโภคเทียบเท่ากับเหล้าที่มีแอลกอฮอล์ 35 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 30 มิลลิลิตร หรือเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 3.5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 1 กระป๋อง หรือประมาณ 330 มิลลิลิตร
  2. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้อ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
  3. ลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคไวรัสตับอักเสบ เช่น การใช้สารเสพติด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน เป็นต้น 
  4. เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากหรือครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตับ หรือฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอและบี หากเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสก่อโรค

อย่างไรก็ตาม หากเป็นกังวลถึงสุขภาพตับ สุขภาพโดยรวม หรือพบความผิดปกติใด ๆ ควรไปปรึกษาและขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพตับอย่างถูกวิธีจากแพทย์ หรือเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาเพิ่มเติมในกรณีที่เข้าข่ายปัญหาสุขภาพ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูและหายดีโดยเร็ว