โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenia: ITP)

ความหมาย โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenia: ITP)

Immune thrombocytopenia (ITP) หรือ Idiopathic Thrombocytopenic Purpura เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง (Autoimmune Disease) ที่ทำให้เกิดรอยช้ำบนผิวหนังหรือบริเวณเยื่อบุผิวในช่องปาก เลือดแข็งตัวช้า และมีเลือดออกง่าย โดยมีสาเหตุจากจำนวนเกล็ดเลือดลดลงมากผิดปกติ ซึ่ง ITP เป็นโรคที่พบได้ทุกวัย แต่ในเด็กมักพบหลังการติดเชื้อไวรัสบางชนิดในร่างกาย เช่น อีสุกอีใส คางทูม หรือโรคหัด เป็นต้น 

ตามปกติแล้วเกล็ดเลือดที่สร้างจากไขกระดูกมีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัวและอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือด แต่หากเกล็ดเลือดลดต่ำลงจะทำให้เลือดแข็งตัวช้าและมีเลือดออกในร่างกายหรือใต้ผิวหนังได้ง่ายกว่าปกติ โดยในระยะแรกมักไม่มีอาการและอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้นควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ โดยแพทย์อาจให้ยากระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือด หรือให้ผู้ป่วยรักษาด้วยการผ่าตัดม้ามเมื่อรักษาด้วยวิธีการอื่นไม่ได้ผล

โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenia: ITP)

อาการของ ITP

โดยปกติ คนเราจะมีจำนวนเกล็ดเลือดอยู่ที่ประมาณ 150,000–450,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร แต่ผู้ป่วยโรค ITP จะมีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร และบางรายอาจมีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่า 10,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกรุนแรง

โรค ITP อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

ITP ชนิดเฉียบพลัน 

เป็นประเภทที่พบได้บ่อย มักพบในเด็กเล็ก อายุระหว่าง 2–6 ปี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในร่างกาย อาการจะเกิดขึ้นทันที มักหายดีภายใน 6 เดือน และไม่มีอาการซ้ำอีกในภายหลัง ผู้ป่วยจึงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา 

ITP ชนิดเรื้อรัง 

ใช้เรียกเมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน พบได้มากในทุกวัย แต่จะพบบ่อยในวัยผู้ใหญ่และวัยรุ่น และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย บางกรณีผู้ป่วยอาจกลับมามีอาการซ้ำอีกจึงจำเป็นต้องติดตามอาการเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรกมักไม่พบอาการใด ๆ แต่ในรายที่มีอาการจะพบอาการที่แตกต่างกัน เช่น 

  • เกิดรอยช้ำได้ง่ายหรือรุนแรงกว่าคนทั่วไปเนื่องจากเลือดออกใต้ผิวหนัง ลักษณะเป็นรอยขนาดใหญ่สีม่วง ฟ้า หรือเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เขียว ในภายหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายบริเวณข้อศอกหรือหัวเข่าตามปกติแม้ไม่ได้รับบาดเจ็บจากการชนหรือกระแทก 
  • มีจุดเลือดหรือจ้ำเลือดสีม่วงหรือแดงขนาดเล็กขึ้นใต้ผิวหนัง มีลักษณะคล้ายผื่น มักพบบริเวณหน้าแข้งและเท้า 
  • เลือดออกง่ายผิดปกติ อย่างเลือดกำเดาหรือเลือดออกในช่องปากหรือเหงือก ซึ่งอาจพบขณะตรวจสุขภาพฟัน 
  • มีเลือดออกเมื่ออาเจียน ปัสสาวะ หรืออุจจาระ
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • เลือดหยุดช้าหรือเลือดออกมากเมื่อมีบาดแผลหรือผ่าตัด

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจทำให้มีเลือดไหลไม่หยุด เลือดออกในสมองที่อาจเกิดจากการประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บที่ศีรษะ หรืออาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย 

หากพบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ ในกรณีที่มีอาการเลือดไหลไม่หยุดแม้จะห้ามเลือดด้วยการการปฐมพยาบาลแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

สาเหตุของ ITP

ในอดีต ITP เป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ปัจจุบันมีการแบ่งสาเหตุการเกิดโรค ITP ได้เป็น 2 สาเหตุ ได้แก่ สาเหตุปฐมภูมิ (Primary ITP) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และสาเหตุทุติยภูมิ (Secondary ITP) ซึ่งเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคประจำตัว การใช้ยา หรือสภาวะร่างกายของผู้ป่วย เป็นต้น

สาเหตุปฐมภูมิ

โดยปกติแล้ว ร่างกายจะสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย แต่ผู้ป่วยโรค ITP อาจมีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ทำให้แอนติบอดี้ทำลายเกล็ดเลือดและขับออกจากร่างกายผ่านม้าม ทำให้จำนวนเกล็ดเลือดลดต่ำลงกว่าปกติ 

นอกจากนี้ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันยังกระทบต่อกระบวนการสร้างเกล็ดเลือด ทำให้ผลิตเกล็ดเลือดเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง ในบางกรณีเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยอาจโจมตีเกล็ดเลือดโดยตรงเอง ทำให้เกล็ดเลือดถูกทำลายได้เช่นกัน

สาเหตุทุติยภูมิ

ปัจจัยต่าง ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค ITP ได้ดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อ หากเป็นเด็กมักเกิดหลังจากการติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส คางทูม ไข้หวัดใหญ่ ในผู้ใหญ่มักเกิดในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C) หรือเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori) ในทางเดินอาหาร ในบางกรณีอาจเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง (Sepsis)
  • โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดซีแอลแอล (CLL) ซึ่งอาจทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาทำลายโปรตีนบนผิวเกล็ดเลือด
  • การใช้ยาบางชนิดที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยากันชัก ยารักษาอาการติดเชื้อ และยาเฮพาริน (Heparin) ซึ่งเป็นยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
  • การทำบายพาสหัวใจ หรือการฉายแสงที่บริเวณไขกระดูก
  • ปัจจัยอื่น ๆ อย่างกรรมพันธุ์ และการตั้งครรภ์

การวินิจฉัย ITP

แพทย์จะสอบถามอาการ ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ ประวัติสุขภาพ ประวัติครอบครัว อาหารและยาที่รับประทาน จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น ร่วมกับการวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อตัดสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการใกล้เคียงกับโรค ITP อย่างมีเลือดออกหรือมีเกล็ดเลือดต่ำ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count) เป็นการเจาะเลือดเพื่อเก็บตัวอย่างของเลือด เพื่อตรวจดูจำนวน ขนาด และรูปร่างของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งแพทย์อาจนัดตรวจซ้ำเป็นระยะ
  • การตรวจสเมียร์เลือด (Blood Smear) โดยการหยดเลือดลงบนสไลด์ และนำไปวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจดูรูปร่างลักษณะและจำนวนของเกล็ดเลือด 
  • การตรวจไขกระดูก ใช้ตรวจกรณีที่ผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำ โดยการเจาะไขกระดูก (Aspiration) หรือการตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพื่อตรวจดูลักษณะและจำนวนของเกล็ดเลือด ซึ่งช่วยตัดสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออก หากตรวจไม่พบความผิดปกติของไขกระดูกอาจวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรค ITP เนื่องจากเกล็ดเลือดที่ผลิตจากไขกระดูกถูกทำลายและกำจัดออกไปยังม้าม แต่หากพบความผิดปกติของไขกระดูกอาจสันนิษฐานว่าอาการเกล็ดเลือดต่ำของผู้ป่วยเกิดจากสาเหตุอื่น 
  • การตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจวัดแอนติบอดี้ที่ร่างกายผลิตออกมาทำลายเกล็ดเลือด (Antiplatelet Antibody Test) เป็นต้น

การรักษา ITP

ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการของ ITP ชนิดเฉียบพลัน และผู้ใหญ่บางรายที่มีอาการไม่ร้ายแรง อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่แพทย์จะตรวจวัดจำนวนเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง และผู้ป่วยควรดูแลตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • ระมัดระวังในการซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาที่หาซื้อได้ทั่วไปโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยา อย่างยาแอสไพริน (Aspirin) และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งอาจทำลายหรือทำให้เกิดความผิดปกติของเกล็ดเลือด
  • จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจลดการแข็งตัวของเลือด และทำให้มีเลือดออกง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่ใช้แรงปะทะ เช่น การชกมวย ศิลปะการต่อสู้ หรือฟุตบอล ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บของร่างกาย หรือการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะที่อาจทำให้เลือดออก จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเล่นกีฬาทุกชนิด
  • สวมใส่อุปกรณ์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย โดยเน้นการรับประทานผักใบเขียวและผลไม้ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
  • แพทย์อาจสั่งให้ผู้ป่วยงดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของควินิน (Quinine) และแอสพาร์แทม (Aspartame) หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งพบได้ในน้ำอัดลมประเภทต่าง ๆ และเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล

ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาจากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น โรคประจำตัว อายุ สุขภาพโดยรวม ประวัติการใช้ยา และประวัติการรักษาโรคอื่น ๆ โดยจุดมุ่งหมายในการรักษาคือการเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกในสมองหรือลำไส้ ซึ่งวิธีการรักษาทั่วไปที่นำมาใช้มีดังนี้ 

การใช้ยา

ในกรณีที่ผู้ป่วยซื้อยามารับประทานเอง เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรืออาหารเสริมชนิดต่าง ๆ แพทย์อาจให้หยุดใช้ยานั้น เนื่องจากอาจทำให้เกิดความผิดปกติของเกล็ดเลือด และอาจสั่งจ่ายยาที่ใช้ในการรักษา ITP ดังนี้

  • ยาสเตียรอยด์ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ อย่างยาเพรดนิโซน (Prednisone) ให้ผู้ป่วยรับประทาน โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและชะลอการทำลายเกล็ดเลือด โดยทั่วไปจำนวนเกล็ดเลือดของผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นหลังรับประทานยาได้ 2–3 สัปดาห์ และเมื่อจำนวนเกล็ดเลือดอยู่ในระดับปกติ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานยา เนื่องจากการใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง
  • การฉีดอิมมูโนโกลบูลินเข้าทางเส้นเลือด (Intravenous Immunoglobulin) เพื่อเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือด โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว แต่จะเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือดได้เพียงชั่วคราว มักใช้กรณีที่รับประทานยาสเตียรอยด์แล้วไม่เห็นผลหรือไม่สามารถใช้ยาสเตียรอยด์ได้ ในบางกรณีอาจใช้เมื่อต้องการเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือดภายในระยะเวลาสั้น ๆ อย่างการผ่าตัดหรือผู้ป่วยมีเลือดออกในอวัยวะสำคัญ
  • ยากระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือดของไขกระดูก อาทิ ยาเอลทรอมโบแพค (Eltrombopag) หรือยาโรมิโพลสติม (Romiplostim) ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดรอยช้ำหรือเลือดออกในกรณีที่ผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำจาก ITP ชนิดเรื้อรัง
  • ยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) ยาปฏิชีวนะ หรือยาริทูซิแมบ (Rituximab) ที่ช่วยลดการตอบสนองของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่ทำลายเกล็ดเลือด 

การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือใช้ยารักษาแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจใช้วิธีรักษา ดังต่อไปนี้

  • การให้เกล็ดเลือด ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกรุนแรง หรือผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ซึ่งเสี่ยงต่อการมีเลือดออกมาก
  • การผ่าตัดม้าม (Splenectomy) ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำลายเกล็ดเลือด ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีการใช้ยาแล้วไม่เห็นผล อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดม้ามอาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อได้ง่าย และไม่นิยมผ่าตัดในเด็ก เนื่องจากอาจเป็นอันตราย

ในกรณีที่ผู้ป่วย ITP อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ และมีอาการเกล็ดเลือดต่ำอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกขณะคลอดหรือหลังคลอดได้ แพทย์จะแนะนำวิธีดูแลตนเองอย่างเหมาะสมให้กับผู้ป่วย และเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการครรภ์เป็นพิษร่วมด้วย โดยทั่วไปบุตรที่เกิดมามักมีจำนวนเกล็ดเลือดปกติ หากตรวจพบว่าทารกที่มีเกล็ดเลือดต่ำ แพทย์จะรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของ ITP

ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะเลือดออกในสมอง แม้จะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย แต่ก็เป็นภาวะร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือในหญิงตั้งครรภ์ที่มีเกล็ดเลือดต่ำ อาจพบภาวะตกเลือดขณะคลอดหรือหลังคลอดบุตรได้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมักได้รับผลข้างเคียงจากการรับประทานยาหรือการผ่าตัดมากกว่าภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรค ITP โดยตรง เช่น การรับประทานยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โรคเบาหวาน ต้อกระจก (Cataracts) หรือสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ หรือบางรายที่ได้รับการผ่าตัดม้ามอาจติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น หากผู้ป่วยมีไข้หรือพบอาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อหลังผ่าตัดม้าม ควรไปพบแพทย์ทันที 

การป้องกัน ITP

ITP ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันอาจไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้โดยตรง แต่อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติของจำนวนและการทำงานของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจกระทบต่อกระบวนการการสร้างเกล็ดเลือด
  • ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น วัคซีนป้องกันโรคคางทูม อีสุกอีใส หรือไข้หวัดใหญ่