โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กับเรื่องที่ผู้ชายควรรู้

ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยมีโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม เริม ซิฟิลิส หูดหงอนไก่ หรือติดเชื้อเอชไอวีจนพัฒนาไปสู่เอดส์ นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย หลายคนคิดว่าตนเองไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือเป็นแล้วก็รักษาให้หายได้ แต่แท้จริงแล้วโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคอาจรักษาให้หายได้ แต่บางโรคก็รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่อยากเสี่ยงติดเชื้อจึงควรศึกษาเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองเพื่อมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยที่สุด

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ใครที่เสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บ้าง ?

นอกจากหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ก็ไม่มีวิธีใด ๆ ที่จะสามารถป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น แม้การใช้ถุงยางอนามัยขณะร่วมเพศกับคู่นอนจะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนักได้ แต่ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ต้องตระหนักไว้เสมอว่าตนเองเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เสมอ เพียงแต่อาจมีความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกันไปตามวิธีป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์

สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในประเทศไทยช่วงปี 2553-2559 ตามข้อมูลของสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบว่ามีอัตราการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นจากอัตรา 20.43 เป็น 25.74 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยมีแนวโน้มผู้ป่วยโรคหนองในแท้ โรคซิฟิลิส และโรคแผลริมอ่อนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังพบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ที่แม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ยังคงปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ โรคหนองในเทียม และโรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง โดยกลุ่มประชากรที่ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างโรคหนองในและโรคซิฟิลิสมากที่สุด อยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี รองลงมาเป็นช่วงอายุ 25-34 ปี แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยเรียนและวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งสะท้อนได้ว่า ผู้ที่อยู่ในวัยดังกล่าวอาจมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ปลอดภัย จนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้ ทั้งนี้ มีรายงานว่าผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าบุคคลทั่วไป 5-9 เท่า และยังพบแนวโน้มของเด็กที่ป่วยเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมารดาที่ไม่ได้ฝากครรภ์ ทำให้ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อซิฟิลิส และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก่อนคลอด

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ผู้ชายควรระวัง  

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากในเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย ๆ ได้แก่

เริม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ติดต่อได้ง่าย เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) โดยเชื้อดังกล่าวติดต่อกันได้จากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีแผลพุพองและตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ถุงอัณฑะ บั้นท้าย ทวารหนัก ต้นขา และภายในท่อปัสสาวะ แม้อาการของโรคเริมจะบรรเทาลง แต่เชื้อไวรัสนี้จะยังคงอยู่ในร่างกายของผู้ติดเชื้อไปตลอดชีวิต และอาการของโรคอาจปรากฏขึ้นอีกครั้งหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนต่อมา แต่จะรุนแรงน้อยกว่าและหายเร็วกว่าครั้งแรก เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ความถี่ในการแสดงอาการของโรคจะน้อยลงเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัสจะช่วยลดระดับความรุนแรงและควบคุมอาการของโรคได้

หูดหงอนไก่ เป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนังเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV Virus) ซึ่งติดต่อกันผ่านกิจกรรมทางเพศ เป็น 1 ในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย โดยผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันออกไปตามสายพันธ์ุของเชื้อ บางสายพันธ์ุอาจก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง และมะเร็งอวัยะเพศหรือมะเร็งทวารหนักในเพศชาย เชื้อเอชพีวีอาจไม่พัฒนาเป็นโรคดังกล่าวเพราะภูมิคุ้มกันร่างกายอาจกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ออกไปได้เอง ทั้งนี้ ผู้ชายที่เป็นโรคหูดหงอนไก่จะมีติ่งเนื้อปรากฏที่อวัยวะเพศหรือทวารหนัก และหูดอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นจนคล้ายลักษณะของดอกกะหล่ำได้ แม้หูดหงอนไก่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาทางการแพทย์ เช่น การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) และการทายา อาจช่วยให้หูดหงอนไก่หลุดลอกออกและลดระดับความรุนแแรงของอาการได้

หนองในแท้ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการติดเชื้อแบคทีเรีย หนองในแท้อาจทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบหรือหนังหุ้มปลายองคชาตอักเสบได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะ อีกทั้งอาจมีมูกสีขาว เหลือง หรือเขียวไหลออกมาจากส่วนปลายองคชาต อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการแสดงของโรค แต่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ทั้งนี้ อาการอาจปรากฏหลังได้รับเชื้อมา 4-8 วัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจติดเชื้อหนองในแท้ที่อวัยวะบริเวณอื่น ๆ ได้ เช่น ทวารหนัก ลำคอ และดวงตา หนองในแท้รักษาให้หายดีได้ด้วยการฉีดยาร่วมกับการรับประทานยาปฏิชีวนะ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เชื้อแบคทีเรียอาจแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้มีผดผื่นขึ้นตามผิวหนัง ปวดตามข้อต่อ เกิดภาวะมีบุตรยาก และอาจก่อปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาได้

หนองในเทียม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อแบคทีเรียที่พบมากในวัยหนุ่มสาว โดยเชื้อมักแพร่ติดต่อกันทางช่องคลอด ทวารหนัก ลำคอ และดวงตา ผู้ชายที่ป่วยด้วยโรคนี้มักมีมูกใสหรือขาวขุ่นไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศ และรู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม มีผู้ชายประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะแสดงอาการดังกล่าวออกมา จึงทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่รู้ว่าตนกำลังติดเชื้อ

หนองในเทียมสามารถรักษาและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ยาซิโธรมัยซิน ดอกซีไซคลีน อิริโทรมัยซิน หรืออะซิโทรมัยซิน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ป่วยหรือคู่นอนจะได้รับการรักษาจนหายดีแล้วก็ตาม ผู้ป่วยควรไปตรวจเลือดซ้ำอีกครั้งหลังรับการรักษาภายใน 3 เดือน เนื่องจากหนองในเทียมกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

ซิฟิลิส เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคซิฟิลิส เนื่องจากในบางระยะ อาการป่วยอาจไม่ปรากฏ โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ แต่จะเกิดแผลเปื่อยบริเวณที่ได้รับเชื้อ เช่น อวัยวะเพศ หรือริมฝีปาก และอาการจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 6 สัปดาห์ จากนั้น เชื้อจะเริ่มแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ในระยะที่ 2 ผู้ป่วยมีผื่นเป็นตุ่มนูนคล้ายหูดขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ ขาหนีบ ทวารหนัก และภายในช่องปาก บางรายอาจเจ็บคอ มีปื้นเป็นแผ่นสีขาวในปาก เป็นไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด และผมร่วง โดยอาการจะหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์ และจะไม่แสดงอาการของโรคนานหลายปี หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคจะพัฒนาจนถึงระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายที่อาจก่อให้เกิดภาวะร้ายแรง เช่น ตาบอด หูหนวก ไร้สมรรถภาพทางเพศ สมองเสื่อม อัมพาต มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม โรคซิฟิลิสรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะการฉีดยาเพนิซิลลิน ซึ่งการรักษาโรคซิฟิลิสอย่างถูกต้องเหมาะสมจะช่วยให้โรคไม่พัฒนาไปสู่ระยะของโรคที่รุนแรงขึ้น

เอชไอวี เป็นเชื้อไวรัสที่อันตราย เพราะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ เชื้อเอชไอวีติดต่อกันผ่านการรับของเหลวอย่างเลือด น้ำอสุจิ เมือกในช่องคลอด และน้ำนม แต่ไม่สามารถแพร่ผ่านทางน้ำลายได้ ซึ่งการติดเชื้ออาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อทางช่องคลอดหรือทวารหนักโดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ การตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร โดยผู้ที่ติดเชื้อในระยะแรกมักไม่ค่อยปรากฏอาการผิดปกติ แต่บางรายอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า น้ำหนักตัวลด ท้องเสีย และมีไข้ประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ หากไม่ได้รับการรักษาหรือยาต้านไวรัส การติดเชื้อจะพัฒนาไปสู่ภาวะเอดส์ในระยะเวลาประมาณ 10 ปี ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น ภาวะติดเชื้อ สมองเสื่อม และโรคมะเร็ง จนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยถึงชีวิตในที่สุด แม้ปัจจุบันยังไม่มียารักษาใดสามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีได้ แต่มีการคิดค้นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพช่วยชะลอการพัฒนาของโรค และช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้นหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันการณ์

ตับอักเสบ เป็นภาวะผิดปกติบริเวณตับที่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (HBV) และเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี (HCV) ติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสเลือดของผู้ที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มักปรากฏอาการตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน และผู้ป่วยประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น เกิดความเสียหายที่ตับจนตับทำงานบกพร่อง หรือเกิดภาวะตับอักเสบบีอย่างเรื้อรัง โดยผู้ป่วยภาวะนี้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับได้

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีซึ่งมีประสิทธิภาพ แต่การรักษาโรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลันอาจต้องดูแลตามอาการและให้ผู้ป่วยพักผ่อนมาก ๆ ส่วนผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังอาจรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัส หรืออินเตอร์เฟอรอน ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อกำจัดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เซลล์มะเร็ง หรือสารแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย

การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการรับเชื้อโปรโตซัว ทริโคโมแนส วาจินาลิส (Trichomonas Vaginalis) โดยมีผู้ติดเชื้อเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีแสดงอาการของโรค ผู้ติดเชื้อเพศชายมักมีอาการท่อปัสสาวะอักเสบ รู้สึกคัน ระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ เจ็บแสบขณะปัสสาวะ อาจมีมูกใส สีขาว เหลือง หรือเขียวที่มีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งการติดเชื้อทริโคโมแนสนั้นรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล หรือยาทินิดาโซล

ไวรัสซิกา เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิก้ากัด และไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่จากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้ ส่งผลให้สมองทารกผิดปกติและมีพัฒนาการช้า นอกจากนี้ มีรายงานว่าไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ด้วยเช่นกัน แม้มีความเสี่ยงค่อนข้างน้อยก็ตาม

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ป้องกันได้อย่างไร ?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นโรคใกล้ตัว และเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและป้องกันทุกครั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรตระหนัก เพราะผู้ติดเชื้อบางรายก็ไม่แสดงอาการของโรคให้เห็นชัดเจน การป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ การใช้ถุงยางอนามัยอาจเป็นทางเลือกที่ดีในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แม้ไม่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม เนื่องจากเชื้ออาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะบริเวณอื่นได้ขณะทำกิจกรรมทางเพศ เช่น ทางปาก หรือทางทวารหนัก ดังนั้น วิธีการป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมทางเพศใด ๆ

อย่างไรก็ตาม หากพบอาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบไปพบแพทย์และรับการรักษาอย่างเหมาะสมทั้งตนเองและคู่นอน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ กรณีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอแม้ไม่มีอาการใดปรากฏ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นต่อไป