แอปเปิ้ลไซเดอร์ กับข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ

แอปเปิ้ลไซเดอร์ เป็นน้ำส้มสายชูหมักที่ผลิตจากการนำแอปเปิ้ลสดหรือน้ำแอปเปิ้ลมาบ่มรวมกับยีสต์ โดยในกระบวนการนี้จะเกิดกรดอะซิติก (Acetic Acid) หรือกรดน้ำส้ม ซึ่งเป็นสารชีวภาพจากการบ่มหรือหมัก ทำให้แอปเปิ้ลไซเดอร์มีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นเฉพาะตัว และมีประโยชน์มากมาย

แอปเปิ้ลไซเดอร์

แอปเปิ้ลไซเดอร์อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ เหมือนกับน้ำแอปเปิ้ล เช่น เพคติน (Pectin) ไบไอติน (Biotin) กรดโฟลิก วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 โซเดียม แคลเซียม โพแทสเซียม และธาตุเหล็ก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะบอกส่วนประกอบที่แน่นอนของแอปเปิ้ลไซเดอร์ที่วางขายทั่วไปได้ เพราะจะแตกต่างกันไปตามกระบวนการบ่มหรือการเติมส่วนผสมของแต่ละผู้ผลิต แต่ส่วนใหญ่นั้นประกอบด้วยน้ำ กรดอะซิติก 1-10.57 เปอร์เซ็นต์ กรดซิตริก 0-18.5 เปอร์เซ็นต์ และอื่น ๆ

นอกจากประโยชน์ในการปรุงอาหาร ทำขนม ถนอมอาหาร ใช้แทนน้ำสลัด หรือเพิ่มรสชาติของอาหาร หลายคนยังนิยมใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์ผสมกับน้ำเปล่าดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะเชื่อกันว่าการรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจช่วยป้องกันหรือรักษาโรคต่าง ๆ เช่น กระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การติดเชื้อ รวมทั้งช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ควบคุมน้ำหนัก บรรเทาอาการเจ็บจากตะคริวที่ขา แก้ท้องเสีย ช่วยขจัดสารพิษในร่างกาย เป็นต้น

นอกจากนี้ บางรายอาจใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์ทาผิวหนังหรือบริเวณต่าง ๆ ตามร่างกาย เช่น ใช้เป็นโทนเนอร์เช็ดผิวหน้า รักษาสิว บรรเทาอาการผิวไหม้จากแสงแดด บรรเทาอาการของโรคงูสวัด แมลงกัด ลดรังแค หรือรักษาอาการติดเชื้อบริเวณช่องคลอด อย่างไรก็ตาม ข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์ที่พอจะกล่าวถึงสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของการใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์ มีดังนี้

รักษาโรคเบาหวาน กล่าวกันว่ากรดอะซิติกในแอปเปิ้ลไซเดอร์ส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีผลงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าการรับประทานกรดอะซิติกจากน้ำส้มสายชูหมักระหว่างมื้ออาหารที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง ช่วยให้การตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้นและส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ทั้งนี้ งานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิภาพของแอปเปิ้ลไซเดอร์กับระดับน้ำตาลในเลือดหรือโรคเบาหวานยังมีอยู่จำกัด

งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาประสิทธิภาพของกรดอะซิติกในรูปแบบน้ำส้มสายชูหมักต่อระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารและการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลิน โดยให้อาสาสมัครสุขภาพดีอายุระหว่าง 22-51 ปี จำนวน 10 คน อดอาหารในช่วงกลางคืนและรับประทานขนมปังขาวในมื้อเช้า หรือเปลี่ยนจากขนมปังขาวเป็นอาหารชนิดอื่นที่มีปริมาณสารอาหารเท่ากันควบคู่กับน้ำส้มสายชูหมัก ซึ่งผลปรากฏว่าอาสาสมัครมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดลดลงและความไวของฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้น จึงกล่าวได้ว่าการรับประทานอาหารที่มีกรดอะซิติกเป็นส่วนประกอบหรืออาหารที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจช่วยเพิ่มการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายให้ไวขึ้นและลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มการทดลองในงานวิจัยนี้มีขนาดเล็กและไม่ใช่การศึกษากับผู้ป่วยเบาหวานโดยตรง จึงยากที่จะยืนยันประสิทธิภาพของแอปเปิ้ลไซเดอร์ต่อการรักษาโรคเบาหวาน อีกทั้งการรักษาหรือป้องกันโรคเบาหวานอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรทำควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการลองรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์เพื่อประโยชน์ด้านนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย

ควบคุมน้ำหนักและลดไขมัน เชื่อกันว่ากรดอะซิติกมีฤทธิ์ยับยั้งความอยากอาหาร ช่วยลดไขมันในเลือด และยังมีผลการศึกษาขนาดเล็กระบุว่าผู้ที่ดื่มแอปเปิ้ลไซเดอร์จะรู้สึกอิ่มไวขึ้น จึงอาจมีส่วนช่วยให้รับประทานอาหารน้อยลง และส่งผลดีต่อการควบคุมน้ำหนัก

การทดลองหนึ่งพิสูจน์ประสิทธิภาพข้อนี้ของกรดอะซิติกกับผู้ป่วยโรคอ้วนชาวญี่ปุ่นจำนวน 11 คน ในระยะเวลา 12 สัปดาห์ โดยแบ่งผู้เข้าร่วมทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มได้รับเครื่องดื่มผสมน้ำส้มสายชูหมักปริมาณ 15 มิลลิลิตร 30 มิลลิลิตร หรือเครื่องดื่มที่ไม่ผสมน้ำสายชูหมัก ผลลัพธ์พบว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มผสมน้ำส้มสายชูหมักทั้ง 2 กลุ่ม มีน้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย ปริมาณไขมันภายในอวัยวะและรอบเอว รวมถึงระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ดื่ม จึงคาดว่าการดื่มแอปเปิ้ลไซเดอร์เป็นประจำอาจช่วยป้องกันโรคในกลุ่มอาการอ้วนลงพุงได้

ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาในกลุ่มทดลองที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและเพิ่มระยะเวลาในการทดลอง เพื่อช่วยยืนยันประสิทธิภาพด้านนี้ของแอปเปิ้ลไซเดอร์ได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคอ้วนที่ดีในระยะยาวควรเน้นการควบคุมอาหาร โดยลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลในปริมาณมาก ควบคู่กับการออกกำลังเป็นประจำ

ประโยชน์ด้านอื่น ๆ แอปเปิ้ลไซเดอร์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์หลากหลาย นอกจากการรับประทานเพื่อรักษาหรือป้องกันโรค บางคนยังนำมาใช้เป็นตัวช่วยด้านความสวยความงามฉบับพื้นบ้าน ซึ่งผลการวิจัยในด้านนี้มีค่อนข้างจำกัดและไม่มีข้อมูลทางการแพทย์เพียงพอต่อการยืนยันประสิทธิภาพ จึงควรใช้อย่างระมัดระวังและคำนึงถึงความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างการใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์ในชีวิตประจำวัน มีดังนี้

  • บรรเทาอาการเจ็บคอ การกลั้วคอหรือบ้วนปากด้วยแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่เป็นต้นเหตุของอาการเจ็บคอโดยทั่วไป  แต่ควรเจือจางกับน้ำตามปริมาณที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ก่อนนำมาใช้ เพราะแอปเปิ้ลไซเดอร์มีฤทธิ์เป็นกรดสูง จึงอาจเป็นอันตรายต่อช่องปากและลำคอ
  • เช็ดผิวหน้า เชื่อกันว่าแอปเปิ้ลไซเดอร์มีคุณสมบัติช่วยปรับสภาพผิวหน้าให้พร้อมสำหรับการบำรุงผิวขั้นต่อไปและลดริ้วรอยบนใบหน้า จึงมีการนำมาใช้เป็นโทนเนอร์อย่างแพร่หลาย โดยสูตรทั่วไปจะใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์ 1 ส่วน ผสมกับน้ำเปล่า 2 ส่วน จากนั้นจึงใช้สำลีชุบเพื่อเช็ดผิวหน้า ทั้งนี้ ผู้ที่มีผิวบอบบางควรระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษ และควรเจือจางความเข้มข้นของแอปเปิ้ลไซเดอร์ให้อ่อนลงกว่านี้
  • ทำความสะอาดฟันปลอม แอปเปิ้ลไซเดอร์มีฤทธิ์เป็นกรดสูงและอาจช่วยฆ่าเชื้อโรคบางชนิดได้ ทำให้เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ทำความสะอาดฟันปลอมแทนผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดอื่น ๆ โดยเชื่อว่าแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจสร้างความระคายเคืองต่อเยื่อบุในช่องปากได้น้อยกว่าสารเคมี แต่ประโยชน์ด้านนี้ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ที่ใส่ฟันปลอมควรขอคำแนะนำจากทันตแพทย์ก่อนทดลองใช้ เพื่อความปลอดภัย
  • กำจัดรังแค ในทางทฤษฎีระบุว่ากรดในแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อ Malassezia ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดรังแคบนหนังศีรษะ โดยใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์เจือจางกับน้ำก่อนจะชโลมบนศีรษะและล้างออก
  • รักษาสิว ด้วยสรรพคุณยับยั้งเชื้อโรคและมีความเป็นกรดของแอปเปิ้ลไซเดอร์ จึงมีการแนะนำให้นำมาเจือจางน้ำและทาบาง ๆ บนหัวสิว เพื่อช่วยให้สิวยุบเร็ว อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์ที่ยังไม่ได้เจือจางทาลงบนผิวหนัง เพราะความเข้มข้นของกรดอาจทำให้ผิวไหม้ได้
  • กำจัดหูด แอปเปิ้ลไซเดอร์เป็นสารธรรมชาติที่มีฤทธิ์เป็นกรด จึงมีการนำมาใช้กำจัดหูดตามร่างกายหรือใบหน้า แต่วิธีนี้จะทำให้เกิดความเจ็บปวดมากและบางคนอาจต้องใช้ยาชาเฉพาะที่เข้าช่วย
  • บรรเทาอาการผิวไหม้จากแสงแดด หลายคนใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์ช่วยบรรเทาอาการผิวไหม้จากแสงแดด โดยอาจใส่ขวดสเปรย์สำหรับฉีดลงบนผิว ใช้ผ้าชุบแล้วซับเบา ๆ ตามบริเวณผิวหนังที่มีอาการ หรือผสมในน้ำที่ใช้อาบ ทั้งนี้ ควรเจือจางกับน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสมก่อนใช้ เพื่อป้องกันอาการแสบร้อนจากกรดที่มีความเข้มข้นสูง  

แม้ว่างานวิจัยหรือการศึกษาบางส่วนจะชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของแอปเปิ้ลไซเดอร์ในด้านต่าง ๆ แต่กควรศึกษาข้อมูลบนผลิตภัณฑ์ให้ถี่ถ้วนก่อนรับประทานหรือนำมาทาบนผิวหนัง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย อาจขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยในการใช้

การใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์อย่างปลอดภัย

การรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์ในปริมาณปกติที่พบในอาหารค่อนข้างปลอดภัย ส่วนในกรณีที่รับประทานหรือใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาโรค ควรใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น สำหรับข้อควรระวังอื่น ๆ มีดังนี้

  • การรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์ในปริมาณมากหรือเกินวันละ 237 มิลลิลิตร อาจไม่ปลอดภัยต่อร่างกาย เพราะอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำลงหรือเกิดผลข้างเคียงอื่นตามมา เช่น เคลือบฟันถูกทำลาย หรือมีอาการแสบร้อนในช่องปากและลำคอ โดยพบรายงานว่าผู้ที่รับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์วันละ 250 มิลลิลิตร ติดต่อกันเป็นเวลา 6 ปี มีอาการของโรคกระดูกพรุนและเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ส่วนอีกรายมีอาการเจ็บปวดบริเวณกล่องเสียงตรงลำคอและมีปัญหาในการกลืนนานถึง 6 เดือนหลังจากแอปเปิ้ลไซเดอร์แบบเม็ดติดค้างอยู่ที่ลำคอนาน 30 นาที ซึ่งคาดว่าอาจเป็นผลมาจากกรดในแอปเปิ้ลไซเดอร์
  • การใช้แอปเปิ้ลไซเดอร์กับผิวหนังหรือส่วนใด ๆ ของร่างกายควรเจือจางความเข้มข้นของกรดให้น้อยลงก่อน เพื่อป้องกันผิวไหม้
  • หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์ในปริมาณมากหรือมีความเข้มข้นสูง เนื่องจากยังไม่มีรายงานยืนยันความปลอดภัย  
  • แอปเปิ้ลไซเดอร์อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงหรือมีปัญหาในการย่อย ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน เพราะอาจต้องปรับเปลี่ยนการรับประทานยาเบาหวาน ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรปรับเปลี่ยนปริมาณยาด้วยตนเอง และหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
  • แอปเปิ้ลไซเดอร์อาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยาไดจอกซิน ยารักษาโรคเบาหวาน ยาโรคหัวใจ ยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย เป็นต้น ผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำหรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความแข็งแรงหรือความหนาแน่นของมวลกระดูกควรรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์ด้วยความระมัดระวัง