แผลเบาหวาน

ความหมาย แผลเบาหวาน

แผลเบาหวาน (Diabetic Ulcer) แผลเบาหวานเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยที่ต้องควบคุมอาการของโรคเบาหวานด้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการชา หรือไร้ความรู้สึกบริเวณปลายมือและเท้า จึงเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเกิดแผลมากขึ้น และเมื่อเกิดแผลเลือดก็จะไหลเวียนบริเวณแผลได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากหลอดเลือดทำงานผิดปกติด้วยเช่นกัน จึงทำให้แผลหายช้าหรือกลายเป็นแผลเรื้อรังเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะพบแผลเหล่านี้ที่บริเวณนิ้วโป้ง และเนินปลายเท้า ซึ่งหากไม่รักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้องอาจนำไปสู่การตัดอวัยวะเนื่องจากการติดเชื้อได้ในที่สุด

แผลเบาหวาน

อาการแผลเบาหวาน

ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคเบาหวานจะไม่รู้ว่าตัวเองเกิดแผลเบาหวานขึ้น โดยเฉพาะแผลที่เท้า ซึ่งสัญญาณแรก ๆ ของการเกิดแผลเบาหวานคือ อาจมีน้ำหนองไหลออกมามากผิดปกติ อวัยวะที่เกิดแผลมีอาการบวมแดงผิดปกติ และรู้สึกเจ็บหรือระคายเคือง และอาจมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ

ทั้งนี้ หากระบบเลือดไหลเวียนไปที่แผลไม่ดีเท่าที่ควรอาจทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย ซึ่งสังเกตเห็นได้จากผิวหนังที่เปลี่ยนสีกลายเป็นสีดำบริเวณรอบ ๆ แผล โดยมักจะเกิดขึ้นที่นิ้วเท้าเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะนำมาสู่การติดเชื้อ และทำให้มีหนองซึ่งมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากแผล เกิดอาการชา หรือเจ็บบริเวณแผลได้ในที่สุด โดยแผลเบาหวานนั้นแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ

  • ระดับ 0 ไม่มีอาการของแผลเปื่อย
  • ระดับ 1 มีแผลเกิดขึ้นแต่ไม่มีอาการอักเสบ
  • ระดับ 2 แผลลึกจนเห็นเส้นเอ็นและกระดูก
  • ระดับ 3 แผลมีการลุกลามในบริเวณกว้าง และมีฝีเกิดขึ้น

ทว่าในผู้ป่วยบางรายก็อาจไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นกับแผลจนกระทั่งแผลเกิดการอักเสบ ดังนั้นผู้ป่วยอาจต้องทำการสังเกตความผิดปกติของเท้า ว่ามีอาการบวมแดง หรือมีแผลใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ หากมีแผลก็ควรสังเกตว่าบริเวณแผลนั้นมีสีคล้ำลง และมีอาการเจ็บบริเวณแผลหรือไม่ หากพบควรรีบไปแพทย์โดยด่วนเพื่อลดความเสี่ยงการเน่าของเนื้อและผิวหนังบริเวณดังกล่าว

สาเหตุของแผลเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและหลอดเลือดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเบาหวาน เพราะเมื่อผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเพียงพอ น้ำตาลในเลือดจะไปทำให้หลอดเลือดและระบบประสาทผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะเส้นประสาทเสื่อม นำมาสู่อาการชาหรือไร้ความรู้สึกที่บริเวณเท้าได้

เมื่อสูญเสียความรู้สึกบริเวณเท้าแล้วจะทำให้ผู้ป่วยแทบไม่รู้ตัวหากเกิดรองเท้ากัด รอยบาด หรืออุบัติเหตุที่เท้า ยิ่งไปกว่านั้นความเสียหายของหลอดเลือดจะทำให้เลือดไหลเวียนไปยังหลอดเลือดส่วนปลายได้ไม่ดีนัก ก่อให้เกิดภาวะขาดเลือดเฉพาะที่ (Ischaemia) และแผลที่เกิดขึ้นจะมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้แผลหายช้าและกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด

ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อการเกิดแผลเบาหวานมากที่สุดนอกเหนือจากผู้ที่ควบคุมอาการเบาหวานได้ไม่ดี มักมีลักษณะอาการดังนี้

  • มีอาการของโรคเส้นประสาท (Neuropathy)
  • ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี
  • มักสวมใส่รองเท้าที่ไม่สบายเท้า
  • ติดนิสัยเดินเท้าเปล่า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลเบาหวานได้ คือ การสูบบุหรี่  การไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักตัวเกิน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ซึ่งหากมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ควรระมัดระวังในการเดิน หรือการสวมใส่รองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลเบาหวานโดยไม่รู้ตัว

การวินิจฉัยแผลเบาหวาน

ผู้ป่วยอาจสังเกตอาการแผลเบาหวานได้ด้วยตาเปล่าในเบื้องต้น หากพบของเหลวที่มีกลิ่นเหม็นผิดปกติไหลออกมาจากผิวหนัง และผิวหนังมีสีและลักษณะที่เปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ไม่ควรรีรอ เพราะอาจทำให้แผลเสี่ยงต่อการเน่าและติดเชื้อได้

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจไม่สามารถระบุว่าแผลดังกล่าวเป็นแผลเบาหวานหรือไม่ เนื่องจากลักษณะแผลอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน ดังนั้น แพทย์จึงอาจต้องซักประวัติเกี่ยวกับโรคเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ แพทย์จะสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วย โดยวิธีที่แพทย์มักใช้ได้แก

  • การตรวจเลือด เป็นวิธีการตรวจที่จะช่วยให้แพทย์สันนิษฐานได้ว่าแผลที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากปัญหาอะไรได้บ้าง โดยแพทย์จะนำตัวอย่างไปตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม ค่าครีอะตินีน (Creatinine) จากนั้นจึงจะนำผลมาวินิจฉัยร่วมกับข้อมูลที่ได้
  • การตรวจสมรรถภาพของหลอดเลือด เป็นการตรวจเพื่อประเมินโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดหลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน การตรวจนี้จะช่วยให้แพทย์มองเห็นว่าผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเป็นแผลเบาหวานจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลายหรือไม
  • การตรวจการไหลเวียนของเลือด (Pulse-Volume Recording: PVR) เป็นการตรวจว่าเลือดไหลเวียนในร่างกายดีหรือไม่ โดยใช้อุปกรณ์เฉพาะที่มีสายรัด รัดบริเวณ ต้นขา น่อง ข้อเท้า และเท้า ทั้งนี้หากระบบไหลเวียนเลือดไม่แสดงผลใด ๆ ออกมาจะทำให้แพทย์ทราบได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยวิธีนี้ซ้ำเป็นระยะเพื่อประเมินการไหลเวียนของเลือดที่ส่งผลต่อการรักษาบาดแผการตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจเพื่อดูว่าความผิดปกติ และความรุนแรงที่เกิดจากภาวะแทรลกซ้อนของโรคเบาหวานนั้นส่งผลมากเท่าไร โดยในการตรวจชนิดนี้เรียกว่าการตรวจแบบดอปเพลอร์ (Doppler Ultrasound) ซึ่งแพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่มีชื่อว่า Doppler ตรวจบริเวณที่มีรอยโรค หากคลื่นเสียงที่สะท้อนออกมาแตกต่าง จะทำให้แพทย์ทราบว่าเกิดความผิดปกติ และนำผลมาวิเคราะห์เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้แพทย์รักษาได้ตรงจุดมากขึ้น
  • การเอกซเรย์ด้วยรังสี จะช่วยให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติที่อยู่ใต้แผลเบาหวานได้ในเบื้องต้น ว่ามีภาวะกระดูกอักเสบหรือผิดรูปจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานหรือไม
  • การเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) หรือซีทีสแกน (CT Scan) จะช่วยให้แพทย์เห็นการเกิดฝีซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อแผลเบาหวาน ในบริเวณที่เห็นไม่ชัดเจนจากการตรวจร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้
  • การตรวจกระดูก มีจุดประสงค์เพื่อตรวจหาการอักเสบ แต่ไม่ใช่การตรวจที่นิยมใช้มากนัก เนื่องจากอาจให้ผลที่ผิดเพี้ยนได้
  • การสอดสายสวยหลอดเลือด (Conventional Angiography) ในกรณีที่แพทย์พบการอุดตันของหลอดเลือดอันเป็นสาเหตุของแผลเบาหวาน แพทย์อาจใช้วิธีนี้เพื่อดูขอบเขตของการอุดตันเพื่อวางแผนการรักษา โดยแพทย์จะสอดสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดและฉีดสารเรืองแสงเข้าไป จากนั้นจะเอกซเรย์ด้วยรังสี ภาพที่ได้จะช่วยให้แพทย์วางแผนการผ่าตัดได้ดีขึ้
  • การวัดออกซิเจนทางผิวหนัง (Transcutaneous Tissue Oxygen Studies) วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบว่าผิวหนังใกล้เคียงบริเวณได้รับออกซิเจนจากเลือดเพียงพอหรือไม่ ซึ่งส่งผลต่อการสมานตัวของแผล

หลังจากการตรวจวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะนำผลที่ได้รับไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลและประวัติในการรักษาโรคเบาหวานของผู้ป่วยเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

การรักษาแผลเบาหวาน

ในเบื้องต้นหากผู้ป่วยมีแผลเบาหวานเกิดขึ้น ควรหยุดใช้งานอวัยวะดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดแรงดันที่แผลจนทำให้เกิดการติดเชื้อหรือแผลขยายใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ป้องกันแผล เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เฝือก ผ้าพันแผล หรือ หรือแผ่นเพื่อป้องกันตาปลา

ในเบื้องต้นหากเป็นแผลที่เกิดจากของมีคมมีลักษณะเป็นรอยขีดข่วน ควรรีบล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำอุ่นและสบู่ก่อน ๆ จากนั้นเช็ดให้แห้งแล้วจึงใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่ผ่านการฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์เพราะอาจทำให้แผลไม่แห้ง ทั้งนี้ หากแผลมีอาการบวมแดง และมีน้ำเหลืองหรือหนองไหลออกมาจากแผล ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

หากแผลเริ่มมีลักษณะรุนแรงมากกว่าปกติ แพทย์จะรักษาแผลด้วยการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือผิวหนังที่ตายออก เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการอักเสบที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจะเริ่มรักษาในขั้นต่อไป โดยจะวางแผนการรักษาโดยดูจากระดับความรุนแรงของแผลเบาหวานที่เป็น หากมีหนอง ก็จะต้องระบายหนอง และตัดเนื้อที่เน่าตายออก จากนั้นจะล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำเกลือผสมเบตาดีนเจือจาง ซึ่งควรล้างแผลอย่างน้อยวันละ 2-4 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือพบการติดเชื้อแพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมด้วย โดยอาจให้เป็นยารับประทาน หรือชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือหลอดเลือดดำ ทว่าหากแพทย์พบว่าแผลเบาหวานที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง ก็อาจต้องผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนไปยังบริเวณแผลได้ ซึ่งในการผ่าตัดแพทย์จะต้องพิจารณาถึงความพร้อมของผู้ป่วย และสภาพบาดแผล

ทว่าหากแพทย์ใช้วิธีการรักษาทุกวิธีแล้วแต่อาการของผู้ป่วยไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น หรือยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม แพทย์อาจต้องตัดสินใจตัดอวัยวะนั้นทิ้งเพื่อไม่ให้อาการลุกลาม

ทั้งนี้ ในระหว่างการรักษาแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดพักการใช้งานอวัยวะนั้น ๆ และไม่ควรทิ้งน้ำหนักลงไปบริเวณแผล เพราะอาจทำให้แผลหายช้าลง อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงเช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือมีปัญหาเกี่ยวกับตับ ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่เป็นอันตรายด้วย

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงมากนัก ก็อาจรักษาได้ด้วยตนเองโดยการใช้ยาใช้ภายนอกซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไป แต่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ยาเหล่านี้ได้แก่

  • วัสดุทำแผลที่มีส่วนประกอบของซิลเวอร์ หรือยาทาที่มีส่วนประกอบของซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (Silver Sulfadiazine)
  • น้ำยาหรือเจลฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโพลีเฮกซาเมทธีลีน ไบกัวไนด์ (Polyhexamethylene Biguanide หรือ PHMB)
  • ทิงเจอร์ไอโอดีน
  • ยาทาที่มีส่วนประกอบของน้ำผึ้งที่ใช้ในการรักษาโรค เพื่อช่วยให้แผลสมานตัวได้ไวยิ่งขึ้น

ในทางกลับกันหากแผลมีขนาดใหญ่ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาแผล เช่น การลดแรงกดบริเวณแผลด้วยการขูดเนื้อที่ตายออก หรือผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณแผล แต่ทั้งนี้การผ่าตัดก็ไม่จำเป็นเสมอไปหากการรักษาแผลเบาหวานด้วยวิธีอื่น ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาวะแทรกซ้อนของแผลเบาหวาน

แผลเบาหวานเป็นภาวะที่ต้องรีบรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีแผลติดเชื้อจะทำให้เกิดภาวะเนื้อตายรอบ ๆ แผล จนทำให้แพทย์อาจต้องขูดเนื้อเยื่อที่ตายออก และต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อและป้องกันการเน่าตายของเนื้อ

หากอาการเน่าตายของเนื้อเยื่อไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ป่วยอาจถึงขั้นต้องตัดอวัยวะนั้น ๆ ออกเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การป้องกันแผลเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานป้องกันการเกิดแผลเบาหวานได้ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับไขมันในเลือด ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ให้สูงจนเกินไป อีกทั้งยังควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับปกติ รวมถึงระมัดระวังไม่ให้เกิดแผล โดยเฉพาะเท้า ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ล้างเท้าให้สะอาดทุกวัน
  • ตัดเล็บเท้าอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้ยาวหรือตัดสั้นจนเกินไป
  • พยายามให้เท้าแห้ง และมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  • ซักถุงเท้าที่สวมใส่บ่อย ๆ
  • ดูแลเท้าให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ หากมีตาปลาหรือบริเวณที่มีหนังด้านควรไปพบแพทย์เพื่อรักษา
  • สวมรองเท้าที่พอดีกับเท้า และสวมใส่สบาย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจเท้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหากเป็นผู้ป่วยที่เคยมีแผลเบาหวานที่เท้ามาก่อนแล้ว เมื่อรักษาหายแพทย์อาจแนะนำให้สวมใส่รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของแผลเบาหวาน

รวมทั้งควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับเหมาะสมอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้น้ำตาลในเลือดสร้างความเสียหายแก่หลอดเลือด และเส้นประสาท อีกทั้งยังควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ หากมีอาการชาโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือสูญเสียความรู้สึกบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาทางรับมือกับอาการเหล่านั้น และป้องกันการเกิดแผลเบาหวานที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง