แปลงเพศ ขั้นตอนและข้อควรรู้ก่อนรับการผ่าตัด

แปลงเพศ (Sex Reassignment) เป็นการผ่าตัดศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงเพศสภาพภายนอกให้ตรงกับสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัด โดยมีทั้งการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง และจากหญิงเป็นชาย

แม้วิทยาการในปัจจุบันจะก้าวหน้ามากขึ้น แต่การผ่าตัดแปลงเพศก็ยังคงเป็นวิธีการที่มีความซับซ้อน ผู้ป่วยไม่สามารถเปลี่ยนสภาพร่างกายไปเป็นเพศที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ และการผ่าตัดอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ การทำงาน การเข้าสังคม และการใช้ชีวิตไปตลอดชีวิตของผู้ป่วย การแปลงเพศจึงเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ผู้ป่วยควรตัดสินใจอย่างรอบคอบภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

แปลงเพศ

ผู้ที่สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้

ผู้ที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศได้ต้องได้รับการอนุมัติหรือเห็นควรจากจิตแพทย์แล้วว่าเป็นผู้ที่มีภาวะความไม่พอใจในเพศของตนเอง (Gender Dysphoria หรือในอดีตใช้คำว่า Gender Identity Disorder) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ใจจากเพศสภาพในปัจจุบันของตนเอง และมีความรู้สึกอยากเป็นคนข้ามเพศ

แพทยสภาประเทศไทยระบุว่าการผ่าตัดศัลยกรรมwww.pobpad.com/ศัลยกรรม-ศึกษาความเสี่ยแปลงเพศต้องกระทำแก่ผู้ที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้นและต้องปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภาอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชนที่มีความประสงค์ผ่าตัดแปลงเพศ โดยผู้เข้ารับการแปลงเพศต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หากมีอายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย

ส่วนเด็กและวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 18 ปี ที่ประสบปัญหาภาวะความไม่พอใจในเพศของตนเอง ควรหาทางออกจากความทุกข์ภายใต้การดูแล ความเข้าอกเข้าใจ การให้กำลังใจจากครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด การให้คำปรึกษาจากพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือเข้ารับการบำบัดภายใต้การดูแลของแพทย์ เช่น การบำบัดแบบครอบครัว การบำบัดเชิงจิตวิทยารายบุคคล หรือการรับฮอร์โมนบำบัดอย่างเหมาะสมภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

ทั้งนี้ ในการผ่าตัดแปลงเพศ แพทย์ที่มีสิทธิกระทำการผ่าตัดศัลยกรรมแปลงเพศต้องผ่านการอบรมหลักสูตร หรือมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำศัลยกรรมแปลงเพศ และต้องได้รับการรับรองจากแพทยสภาแล้วเท่านั้น

ก่อนผ่าตัดแปลงเพศ

ผู้เข้ารับการแปลงเพศต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการประเมิน โดยต้องผ่านการประเมินและได้รับการรับรองจากจิตแพทย์ 2 ท่านว่าเป็นผู้ที่มีภาวะความไม่พอใจในเพศของตนเอง และสามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศได้ จากนั้น ผู้เข้ารับการแปลงเพศกับแพทย์จะปรึกษาพูดคุยทำความเข้าใจถึงขั้นตอนและการเตรียมการก่อนการผ่าตัด ความเสี่ยง ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด และการรักษาที่เกี่ยวข้อง เช่น การฉีดหรือการรับประทานยาฮอร์โมนเพศ

ฮอร์โมนเพศเหล่านี้จะช่วยปรับสภาพร่างกาย เช่น ความหนาแน่นของกล้ามเนื้อ ขนตามร่างกาย ขนาดหน้าอก เพื่อให้ผู้นั้นมีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับเพศที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งจะค่อย ๆ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพภายในเวลาประมาณ 1 เดือน และอาจเห็นผลได้ชัดเจนที่สุดหลังรับฮอร์โมนภายในเวลาเต็มที่ 5 ปี 

ทั้งนี้ การใช้ฮอร์โมนควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อป้องกันและระวังไม่ให้ใช้ฮอร์โมนมากเกินไปจนเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น น้ำหนักเพิ่ม ความดันโลหิตสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ภาวะมีบุตรยาก และการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

โดยการใช้ฮอร์โมนเพศจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

ผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิง

ผู้ชายที่รับการผ่าตัดแปลงเพศเพื่อเป็นเพศหญิงจะได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพื่อเสริมบุคลิกภาพให้มีความเป็นหญิงมากขึ้น เช่น เสริมสร้างรูปร่างให้มีทรวดทรงของความเป็นหญิงมากขึ้น ลดความหนาแน่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เพิ่มขนาดเต้านม ทำให้ขนตามใบหน้าและร่างกายเบาบางและเจริญเติบโตช้าลง ลดระดับฮอร์โมนเพศชายลง

ผู้หญิงที่อยากเป็นผู้ชาย

ผู้หญิงที่รับการผ่าตัดแปลงเพศเพื่อเป็นเพศชายจะได้รับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) เพื่อเสริมบุคลิกภาพให้มีความเป็นชายมากขึ้น เช่น ทำให้เสียงทุ้มขึ้น เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เพิ่มการเจริญเติบโตของขนบนใบหน้าและตามร่างกายที่แสดงออกถึงความเป็นชาย และเพิ่มขนาดของคลิตอริส (Clitoris) ที่อวัยวะเพศหญิง

จากนั้น เมื่อแพทย์นัดหมายวันเพื่อทำการผ่าตัด ผู้เข้ารับการแปลงเพศควรจัดการตารางเวลาเพื่อเตรียมตัวสำหรับการผ่าตัดและการพักฟื้นตัวหลังผ่าตัด และควรแจ้งญาติหรือบุคคลใกล้ชิดทราบก่อนเข้ารับการผ่าตัดก่อนเสมอ

ขั้นตอนในการผ่าตัดแปลงเพศ

การผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง และจากหญิงเป็นชาย มีขั้นตอนที่ต่างกัน ดังนี้

การผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง

การผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง หรือผู้หญิงข้ามเพศ ประกอบด้วยการผ่าตัดหลายส่วนหลายขั้นตอน ในส่วนอวัยวะสืบพันธุ์ เป็นการผ่าตัดนำองคชาตและอัณฑะออกไปก่อน แล้วแพทย์จะนำเนื้อเยื่อบริเวณองคชาตและเนื้อที่เป็นถุงอัณฑะมาสร้างเป็นเนื้อบริเวณช่องคลอดและแคมอวัยวะเพศ รวมทั้งสร้างคลิตอริสให้สามารถรับความรู้สึกได้จริง

จากนั้นจึงตัดแต่งท่อปัสสาวะให้สั้นลงแล้วจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ในกรณีที่เนื้อจากองคชาตและอัณฑะเกิดการหดตัวจากการใช้ฮอร์โมน ทำให้มีเนื้อเยื่อไม่เพียงพอต่อการสร้างเนื้อเยื่อช่องคลอด แพทย์อาจใช้เนื้อเยื่อจากลำไส้บางส่วนร่วมด้วย อวัยวะที่ถูกสร้างขึ้นมาจะมีรูปร่างลักษณะเหมือนอวัยวะเพศหญิงและสามารถรู้สึกรับสัมผัสได้จริง

นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศอาจเข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอกหรือศัลยกรรมอวัยวะส่วนต่าง ๆ บนใบหน้าเพิ่มเติม เพื่อเสริมทรวดทรงสรีระและลักษณะทางกายภาพให้มีความเป็นผู้หญิงมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกรายที่จะผ่าตัดแปลงเพศอย่างครบวงจร บางรายอาจมีข้อจำกัดทางร่างกาย หรืออาจมีความต้องการเพียงให้แพทย์ผ่าตัดนำองคชาตและอัณฑะออกไปเท่านั้น โดยไม่ต้องผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศหญิงและช่องคลอด

การผ่าตัดแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย

การผ่าตัดแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย หรือผู้ชายข้ามเพศเป็นการผ่าตัดอวัยวะหลายส่วน ทั้งอวัยวะภายนอกและภายใน เนื่องจากอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงเกี่ยวเนื่องกับระบบสืบพันธุ์ภายในที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์และการมีประจำเดือน จึงต้องมีการผ่าตัดนำมดลูก ท่อนำไข่และรังไข่ รวมถึงผ่าตัดเต้านมทั้ง 2 ข้างออกไป

ในส่วนของการสร้างอวัยวะเพศชาย อาจใช้วิธีการใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • แบบฟาลโลพลาสตี (Phalloplasty) เป็นการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศหญิงเดิม หรือเนื้อบริเวณอื่น เช่น เนื้อต้นแขนด้านใน เนื้อผนังช่องท้องด้านล่างไปสร้างเป็นองคชาต
  • แบบเมตตอยดิโอพลาสตี (Metoidioplasty) หลังให้ฮอร์โมนกับผู้เข้ารับการแปลงเพศ คลิตอริสจะมีขนาดใหญ่ขึ้น จากนั้นแพทย์จะผ่าตัดนำเนื้อบริเวณคลิตอริสและอวัยเพศหญิงเดิมไปสร้างเป็นองคชาต

ผู้ป่วยสามารถควรศึกษาวิธีการ ผลดี ผลเสีย และจุดประสงค์ในการผ่าตัดองคชาต โดยวิธีเมตตอยดิโอพลาสตีจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าแบบฟาลโลพลาสตี แต่อวัยวะเพศชายที่สร้างขึ้นใหม่จะมีขนาดเล็กและอาจไม่สามารถใช้งานในการมีเพศสัมพันธ์ได้ ส่วนวิธีการแบบฟาลโลพลาสตี แม้จะสามารถสร้างอวัยวะได้ตามขนาดที่ต้องการ แต่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า

อย่างไรก็ดี ในการผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชายใหม่ แพทย์จะผ่าตัดเส้นเลือดและเส้นประสาทเข้าไปในองคชาต ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ แม้อาจไม่สามารถใช้อวัยวะในกิจกรรมทางเพศได้อย่างเต็มที่ก็ตาม แต่ผู้ป่วยยังคงสามารถมีความสุขและความพึงพอใจทางเพศได้เช่นเดิม และแพทย์จะผ่าตัดต่อท่อปัสสาวะเข้าไปในองคชาต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปัสสาวะผ่านองคชาตได้

หลังจากนั้น แพทย์อาจทำการผ่าตัดฝังอวัยวะเทียมเพื่อช่วยให้องคชาตแข็งตัว และผ่าตัดสร้างอัณฑะจากเนื้อเยื่อบริเวณแคมอวัยวะเพศหญิงเดิม ซึ่งวิธีเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความต้องการและการตัดสินใจของผู้ป่วย ว่าต้องการมีอวัยวะเสมือนเพศชายครบทั้งหมดหรือไม่

ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าด้วย เพื่อเสริมลักษณะทางกายภาพให้มีความเป็นชายมากที่สุด ซึ่งเป็นดุลยพินิจและความต้องการส่วนบุคคล

การดูแลตนเอง และการใช้ชีวิตหลังการผ่าตัดแปลงเพศ

หลังการผ่าตัด เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวจากยาสลบ อาจยังมีผลข้างเคียงจากยา เช่น เกิดอาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน และเกิดความเจ็บปวดบริเวณแผลผ่าตัด ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด จนกว่าแพทย์จะลงความเห็นให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้

เมื่อผู้ป่วยกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และแนวทางดังต่อไปนี้

  • รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และรับประทานยาแก้ปวดในปริมาณที่เหมาะสมเมื่อเกิดความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด
  • หมั่นเคลื่อนไหวร่างกายและลุกเดิน เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
  • ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ติดตามผลการรักษากับแพทย์ ไปพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ
  • ซักถามแพทย์เมื่อมีข้อสงสัย หรือไปพบแพทย์เมื่อพบอาการข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนใด ๆ หลังการผ่าตัด

หากมีผลข้างเคียงเป็นอาการหรือความรู้สึกวิตกกังวลและซึมเศร้า เกี่ยวกับการปรับตัว รู้สึกแปลกแยก หรือมีความกลัวที่จะไม่เป็นที่ยอมรับ ผู้ป่วยควรปรึกษาอาการกับคนในครอบครัว บุคคลใกล้ชิดที่ไว้วางใจ พูดคุยกับแพทย์ หรือจิตแพทย์ เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจที่ต้องการแปลงเพศ โดยมองเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เป็นประเด็นรองลงมา อย่างไรก็ดี หลังผ่าตัดแปลงเพศแล้ว หากอวัยวะต่าง ๆ ฟื้นตัวเต็มที่ และร่างกายของผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงสมบูรณ์ตามปกติ ผู้ป่วยก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ด้วยอวัยวะเพศที่สร้างขึ้นใหม่ได้ตามปกติ

ความเสี่ยงในการผ่าตัดแปลงเพศ

ความเสี่ยงการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง และจากหญิงเป็นชายที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • เกิดเนื้อเยื่อตายบริเวณองคชาตที่สร้างขึ้นใหม่ หรือช่องคลอดและเนื้ออวัยวะเพศหญิงที่สร้างขึ้นใหม่
  • ท่อปัสสาวะแคบและอุดตัน
  • แผลทะลุ หรือเนื้อเยื่อทะลุในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น บริเวณกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือช่องคลอด