รักษาปัญหาสายตาด้วยเลสิก

ในปัจจุบัน การทำเลสิก (LASIK: Laser–Assisted In-Situ Keratomileusis) เริ่มเป็นสิ่งที่ผู้มีปัญหาสายตา อย่างสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอน ผู้ที่เหมาะกับการทำ ข้อดีข้อเสีย และผลข้างเคียง บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นไว้เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาก่อนตัดสินใจทำเลสิก

เลสิก คือวิธีการผ่าตัดกระจกตาด้วยการใช้แสงเลเซอร์ปรับรูปร่างความโค้งของกระจกตา เพื่อให้แสงหักเหและตกกระทบบนจอประสาทตา และช่วยให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น โดยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาทางสายตา อย่างสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ไม่ต้องสวมใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์อีกต่อไป หรือลดระดับความจำเป็นในการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อช่วยในการมองเห็น

เลสิก

เลสิกใช้รักษาปัญหาสายตาแบบใดได้บ้าง

เลสิก เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาผู้ที่มีปัญหาทางสายตา โดยผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาด้วยการทำเลสิก ต้องเป็นผู้ที่มีปัญหาทางสายตา ดังนี้

  • สายตาสั้น (Myopia) ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีลูกนัยน์ตายาวกว่าปกติ หรือมีกระจกตาที่โค้งมากเกินไป เป็นเหตุให้แสงตกกระทบโฟกัสที่ด้านหน้าจอประสาทตา จึงทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลเป็นภาพเบลอ แต่จะมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจน
  • สายตายาว (Hyperopia) ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีลูกนัยน์ตาสั้นกว่าปกติ หรือมีกระจกตาแบน เป็นเหตุให้แสงตกกระทบโฟกัสที่ด้านหลังจอประสาทตา จึงทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้เป็นภาพเบลอ
  • สายตาเอียง (Astigmatism) ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีการหักเหของแสงที่ตกกระทบโฟกัสที่จอประสาทตาไม่เรียบสม่ำเสมอในระนาบเดียวกัน ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการทำเลสิกต้องได้รับการประเมินความเหมาะสมโดยแพทย์ผู้รักษาก่อน โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่แพทย์จะพิจารณา คือ

  • มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่ได้กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • มีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี และไม่มีโรคทางดวงตา หรือกระจกตาที่รุนแรง เช่น ผิวตาเสื่อม ต้อหิน ประสาทตาเสื่อม ติดเชื้อ ตาแห้ง 
  • ไม่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เบาหวาน หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ข้อดีและข้อเสียของการทำเลสิก

การทำเลสิกถือเป็นการรักษาที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษาควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยข้อดีหลัก ๆ ของการทำเลสิกคือ

  • เป็นวิธีการรักษาที่รวดเร็วและสร้างความเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าพันแผลปิดตาหลังการผ่าตัดเลสิก
  • ทัศนวิสัยในการมองเห็นจะกลับมาภายในเวลาอันรวดเร็วหลังการผ่าตัด ประมาณ 1–2 วัน
  • ผู้ป่วยสามารถมีทัศนวิสัยในการมองเห็นที่ดีขึ้นหลังการรักษาด้วยเลสิก
  • หลังทำเลสิกแล้วสามารถทำซ้ำได้หากสายตาเปลี่ยนเมื่ออายุมากขึ้น
  • ผู้ป่วยที่ผ่านการทำเลสิกสามารถลดระดับความจำเป็นในการใช้แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ลง และผู้ป่วยจำนวนมากก็ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์อีกต่อไป

ส่วนข้อเสียและความเสี่ยงหลัก ๆ ของการทำเลสิก เช่น

  • การทำเลสิกอาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน ซึ่งแพทย์ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป
  • การมองเห็นที่ได้จากการทำเลสิกอาจจะไม่ชัดเท่ากับการสวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ แต่เป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก
  • อาจมีผลข้างเคียงหลังการทำเลสิก เช่น มองเห็นแสงจ้า มองเห็นแสงกระจายเป็นแฉก มองเห็นภาพซ้อน หรือมองเห็นคล้ายเป็นภาพที่มีฝุ่น ควัน หรือหมอกปกคลุม
  • ผู้ป่วยยังอาจมีค่าสายตาเปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องมาทำเลสิกซ้ำอีกครั้ง
  • ผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดไม่ดี โดยเฉพาะการขยี้ตาบ่อย อาจเกิดปัญหาตามมา หรือต้องทำเลสิกซ้ำอีกครั้ง
  • ผลลัพธ์การผ่าตัดอาจไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ จนอาจทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาซ้ำ
  • การมองเห็นอาจกลับไปเป็นเหมือนก่อนผ่าตัด โดยอาจเกิดจากภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น แผลไม่สมานตัว ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล หรือผู้ป่วยตั้งครรภ์
  • บางคนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นเปลี่ยนแปลง หรือสูญเสียการมองเห็น
  • อาจเกิดปัญหาบริเวณกระจกตา เช่น อาจทำให้มีน้ำตาไหลมากเกินไป เกิดการอักเสบ เกิดการติดเชื้อ หรือเนื้อเยื่อบุผิวดวงตาเจริญเติบโตผิดปกติบริเวณกระจกตาในระหว่างการฟื้นตัวหลังผ่าตัด
  • บางคนอาจเกิดสายตาเอียงได้ 

ขั้นตอนการรักษาปัญหาสายตาด้วยเลสิก

การรักษาปัญหาสายตาด้วยเลสิกมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ 

การเตรียมตัวก่อนทำเลสิก

ก่อนทำเลสิก แพทย์จะพิจารณาและตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วย ด้วยการพูดคุยถึงข้อดี ข้อเสีย ขั้นตอน ผลการรักษา และค่าใช้จ่ายในการทำเลสิก ซึ่งหากผู้ป่วยตัดสินใจจะเข้ารับการรักษา แพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วย การรักษา และตรวจดวงตาผู้ป่วยว่ามีสัญญาณผิดปกติหรือไม่ เช่น การติดเชื้อ อักเสบ ตาแห้ง รูม่านตาขยายใหญ่ ความดันตาสูง หรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ

จากนั้น แพทย์จะตรวจลักษณะกระจกตา ทั้งรูปร่าง ความหนา และความผิดปกติต่าง ๆ เพื่อคำนวณและระบุจุดที่ควรทำเลสิกด้วยการใช้วิธีที่มีชื่อว่า Wavefront–Guided Technology เพื่อให้จักษุแพทย์เห็นภาพดวงตาที่มีความละเอียดสูงก่อนทำการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อกระจกตาที่ระบุไว้ออกไปได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนี้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้เข้ารับการรักษาเตรียมตัวก่อนเข้ารับการทำเลสิก เช่น

  • งดใช้คอนแทคเลนส์ก่อนทำเลสิกประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันคอนแทคเลนส์ส่งผลกระทบต่อกระจกตา โดยในระหว่างนี้ผู้ป่วยควรสวมแว่นสายตาแทน
  • งดใช้เครื่องสำอางตกแต่งบริเวณดวงตา ทั้งก่อนวันผ่าตัด 1 วัน และในวันที่นัดหมายทำการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อหลังการผ่าตัด
  • งดทำผม ใส่น้ำหอม ทาน้ำมัน เจลใส่ผมที่มีกลิ่น หรือใช้เครื่องประดับบนศีรษะ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องมือเลเซอร์ได้
  • ควรรับประทานอาหารมื้อเบา ๆ ในวันที่จะทำการผ่าตัด แต่ให้งดการดื่มชาและกาแฟ และรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนด
  • เตรียมร่างกายให้พร้อม หากเจ็บป่วยกะทันหันหรือรู้สึกไม่สบายในวันที่นัดหมายผ่าตัด ควรปรึกษากับแพทย์ว่าควรเลื่อนการผ่าตัดออกไปหรือไม่ 
  • เตรียมการหลังผ่าตัด ให้ญาติหรือบุคคลใกล้ชิดมารับกลับบ้าน เพราะนอกจากต้องพักรักษาดวงตาแล้ว อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาก่อนการผ่าตัดด้วย

ขั้นตอนการทำเลสิก

ในขั้นตอนแรก แพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ในรูปแบบยาหยอดตา และแพทย์จะทำการผ่าตัดหลังยาชาออกฤทธิ์ 

จากนั้น แพทย์จะใช้เครื่องมือยึดเปิดเปลือกตา แล้วใช้เลเซอร์พลิกเปิดชั้นกระจกตาด้านนอกออกส่วนหนึ่ง โดยอาจเป็นวิธีการใช้เครื่องไมโครเคอราโตม (Microkeratome) ซึ่งเป็นการผ่าตัดแยกชั้นกระจกตาด้วยใบมีด หรือใช้เครื่องเฟมโตเซเคินเลเซอร์ (Femtosecond Laser) ซึ่งเป็นการผ่าตัดแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ โดยในขณะที่แพทย์ใช้เลเซอร์ตัดกระจกตา ผู้ป่วยต้องมองไปที่แสงเพื่อให้ดวงตาอยู่กับที่

เมื่อชั้นกระจกตาด้านนอกถูกเปิดออกส่วนหนึ่งแล้ว จักษุแพทย์จะใช้เครื่องมือทำให้แผ่นกระจกตาด้านในเป็นรูปร่างตามที่วางแผนรักษาไว้ แล้วพลิกกระจกตาด้านนอกที่เปิดออกกลับเข้าที่เดิม เพื่อให้แสงสามารถตกกระทบลงบนจอประสาทตา จนผู้ป่วยสามารถมองเห็นภาพต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ระยะเวลาการทำเลสิกทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 30 นาที

หลังการผ่าตัด ดวงตาของผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน และอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัดจะดีขึ้นและหายไปภายใน 2–3 วัน โดยทัศนวิสัยในการมองเห็นจะคงที่และดวงตาจะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ภายในประมาณ 2–3 เดือนหลังการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับทัศนวิสัยในการมองเห็นของผู้ป่วยก่อนการรักษา

การดูแลดวงตาหลังการผ่าตัด

หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีอาการบางอย่าง เช่น มองเห็นภาพเบลอ ตาพร่า คันตา น้ำตาไหล ตาแห้ง แสบตา และปวดบริเวณดวงตา ซึ่งแพทย์จะให้ยาแก้ปวดและยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันการอักเสบและการติดเชื้อ โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ใช้ยาอื่นนอกเหนือจากยาที่แพทย์สั่ง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องมาพบจักษุแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อตรวจดูอาการ ผลการรักษา และเฝ้าระวังภาวะติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น โดยแพทย์จะนัดครั้งแรกใน 1–2 วันหลังการผ่าตัด และนัดหมายเป็นระยะในช่วง 6 เดือนแรกหลังการผ่าตัด 

ทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างในระหว่างพักฟื้นร่วมด้วย เช่น

  • หลีกเลี่ยงการขยี้ตา
  • ใช้ที่ครอบตาในขณะนอนหลับจนกว่าดวงตาจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ หรือประมาณ 1–2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการขยี้ตาขณะหลับ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ครีมและเครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตาภายใน 2–3 สัปดาห์หลังผ่าตัด
  • ควรระวังน้ำเข้าตาในช่วง 2 สัปดาห์แรก โดยเฉพาะขณะล้างหน้าและสระผม โดยในระหว่างนี้อาจจะทำความสะอาดใบหน้าด้วยการใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดใบหน้าแทน
  • หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ หรือการทำกิจกรรมและการเล่นกีฬาที่ต้องใช้กำลังหลังการผ่าตัดประมาณ 1 เดือน
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดอย่างน้อย 1 เดือน แต่หากจำเป็นต้องโดนแดดให้สวมแว่นกันแดดเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สายตานาน ๆ เช่น การอ่านหนังสือ การจ้องโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างและควันบุหรี่เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงการแช่อยู่ในน้ำอุ่นหลังการผ่าตัดประมาณ 1 เดือน

ผลข้างเคียงหลังการทำเลสิก

หลังจากการทำเลสิก ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการข้างเคียงบางอย่าง ซึ่งมักพบได้น้อย เช่น

  • มองเห็นแสงจ้ากว่าปกติ
  • มองเห็นแสงกระจายเป็นแฉก
  • สายตาไม่แน่นอน มองเห็นไม่คงที่
  • ขับรถยากขึ้นในตอนกลางคืน ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเกิดอาการในข้างต้นแล้วเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพบอาการทางดวงตาอื่น ๆ นอกจากที่ได้กล่าวไป อาการมีความรุนแรงขึ้น ปวดตาขั้นรุนแรง หรือเกิดอุบัติเหตุใด ๆ กับดวงตาข้างที่ทำเลสิก ให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาทันที เพื่อความปลอดภัยต่อดวงตา