เมาค้าง แก้อย่างไร

เมาค้างคือกลุ่มอาการไม่พึงประสงค์จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โดยอาการเมาค้างจะเกิดขึ้นเมื่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงซึ่งตรงกับช่วงเช้าอีกวันหลังจากที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักในคืนก่อน ทั้งนี้ ชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปริมาณที่ดื่มเข้าไปก็ส่งผลให้เกิดอาการเมาค้างที่แตกต่างกัน หากร่างกายได้รับปริมาณแอลกอฮอล์มาก ก็จะทำให้เกิดอาการเมาค้างมากขึ้นตามไปด้วย

เมาค้าง

ผู้ที่เกิดอาการเมาค้างจะปรากฏอาการ ดังนี้

  • ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อตามร่างกาย
  • คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง
  • กระหายน้ำ
  • อ่อนเพลียอย่างมาก
  • นอนหลับไม่สนิท
  • เวียนศีรษะ หรือรู้สึกว่าสิ่งรอบตัวหมุนไปมา
  • ไวต่อแสงและเสียง
  • ตัวสั่น
  • อารมณ์ไม่มั่นคง เช่น รู้สึกซึมเศร้า กังวล หรือหงุดหงิดกวนใจ
  • ไม่มีสมาธิจดจ่อ
  • ชีพจรเต้นเร็ว

ทั้งนี้ หากเกิดอาการเมาค้างที่รุนแรงมาก อาจเป็นสัญญาณของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ซึ่งถือว่าอันตรายต่อชีวิต ต้องนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน อาการเมาค้างที่รุนแรงนั้นมักปรากฏอาการ ดังนี้

  • สับสนมึนงง
  • อาเจียน
  • เกิดอาการชัก
  • หายใจแผ่วเบา โดยหายใจเข้าออกน้อยกว่า 8 ครั้งต่อนาที
  • หายใจไม่ปกติ โดยเว้นช่วงหายใจแต่ละครั้งนานกว่า 10 วินาที
  • ตัวเขียวหรือผิวซีด
  • อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
  • ไม่ได้สติ
  • หมดสติและไม่ฟื้นขึ้นมา ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

เมาค้างเกิดขึ้นได้อย่างไร

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการเมาค้างคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และเกิดอาการอักเสบในร่างกาย บางคนสามารถเกิดอาการเมาค้างได้แม้ดื่มไม่มาก ส่วนบางคนอาจต้องดื่มในปริมาณมากถึงจะเกิดอาการ โดยปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้รับเข้าไปนั้นส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย และทำให้เกิดอาการเมาค้างต่าง ๆ ดังนี้

  • ผลิตน้ำปัสสาวะมาก เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้าไป แอลกอฮอล์จะกระตุ้นร่างกายให้ผลิตน้ำปัสสาวะมาก ทำให้ผู้ดื่มต้องปัสสาวะบ่อยกว่าปกติจนนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ ซึ่งมักปรากฏออกมาเป็นอาการกระหายน้ำ เวียนศีรษะ และมึนศีรษะ
  • เกิดการอักเสบของร่างกาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางอย่างทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ และส่งผลต่อสารเคมีในสมองที่เรียกว่า สารสื่อประสาท ซึ่งทำให้ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ มีความอยากอาหารลดลง หรือรู้สึกเบื่อกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นปกติ
  • ระคายเคืองผนังกระเพาะอาหาร ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะกระตุ้นการสร้างกรดในกระเพาะอาหารให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ย่อยอาหารได้ยาก ซึ่งส่งผลให้ผู้ดื่มมักปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน
  • ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ตัวสั่น อารมณ์แปรปรวนไม่มั่นคง รวมทั้งเกิดอาการชักขึ้นได้
  • หลอดเลือดขยาย หากหลอดเลือดในร่างกายขยายออกอันเป็นผลจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ผู้ดื่มรู้สึกปวดศีรษะได้
  • นอนหลับไม่เพียงพอ ฤทธิ์แอลกอฮอล์ส่งผลต่อประสิทธิภาพการนอนหลับ เนื่องจากแอลกอฮอล์ส่งผลต่อสารสื่อประสาท ทำให้ผู้ดื่มอาจนอนหลับไม่สนิทหรือนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดอาการเพลีย เดินเซ และเหนื่อยล้า

นอกจากนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสีเข้มอย่างเครื่องดื่มจำพวกบรั่นดีหรือวิสกี้ มักผสมคอนจีเนอร์ (Congeners) ซึ่งช่วยให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีรสชาติดี คอนจีเนอร์สามารถทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการเมาค้างได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการเมาค้างรุนแรงขึ้น

ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางรายอาจเกิดอาการเมาค้างอย่างรุนแรงมากกว่าผู้ดื่มรายอื่น โดยยีนของแต่ละคนส่งผลต่อการดูดซึมแอลกอฮอล์ที่รับเข้าไป ผู้ดื่มบางรายเกิดอาการตัวชื้น เหงื่อออก และป่วยเป็นไข้ได้แม้จะดื่มไปในปริมาณน้อย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเมาค้างอย่างรุนแรงในกรณีที่ผู้ดื่มมีพฤติกรรมการดื่ม ดังนี้

  • ดื่มตอนท้องว่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่างจะทำให้กระเพาะอาหารดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าร่างกายได้เร็วขึ้น
  • ใช้สารเสพติดร่วม การใช้ยา สารเสพติดอย่างอื่น หรือสูบบุหรี่ระหว่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการเมาค้างแย่ลงกว่าเดิม
  • บุคคลในครอบครัวป่วยเป็นพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โดยเฉพาะบุคคลนั้นมีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับตนเองมาก อาจทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการเมาค้างรุนแรงได้
  • ดื่มเครื่องดื่มสีเข้ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สีเข้มมักผสมคอนจีเนอร์เพื่อปรุงแต่งสีและกลิ่นของเครื่องดื่มในปริมาณมาก โดยคอนจีเนอร์จะทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการเมาค้างอย่างรุนแรง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีส่วนผสมของคอนจีเนอร์ในปริมาณมากประกอบด้วยเตกีลา บรั่นดี เหล้าวิสกี้ เบียร์ที่มีสีเข้ม เบียร์ที่มีฤทธิ์แอลกอฮอล์สูง และไวน์แดง ซึ่งทำให้ผู้ดื่มเมาค้างอย่างรุนแรงได้มากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สีใสอย่างเบียร์ ไวน์ขาว เหล้ายิน หรือวอดก้า อย่างไรก็ตาม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดสามารถทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการเมาค้างได้หากดื่มมากเกินไป

ดื่มอย่างไรไม่ให้เกิดอาการเมาค้าง

การดื่มถือเป็นวัฒนธรรมที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์  โดยผู้คนมักดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสังสรรค์หรือเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญต่าง ๆ แต่หากดื่มมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการเมาค้างในเช้าวันต่อมา ซึ่งผู้ดื่มสามารถป้องกันอาการเมาค้างและฟื้นฟูร่างกายจากอาการเมาค้างให้ดีขึ้นได้ ดังนี้

  • วิธีป้องกันอาการเมาค้าง ก่อนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ผู้ดื่มควรปฏิบัติ ดังนี้
    • ควรรับประทานของกินเล่นหรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตหรือไขมันรองท้องก่อน จะช่วยให้ร่างกายชะลอการดูดซึมแอลกอฮอล์ได้มาก รวมทั้งดื่มน้ำเปล่าระหว่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ดื่มตอนท้องว่าง
    • จำกัดปริมาณการดื่ม ไม่ควรดื่มเยอะเกินที่ร่างกายจะรับได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ดื่มเป็นประจำทุกสัปดาห์ควรรักษาระดับแอลกอฮอล์ไม่ให้สูงเกินไป โดยดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์รวมกันแล้วไม่เกิน 14 แก้ว (Units) ต่อหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดก็มีปริมาณหน่วยบริโภคที่แตกต่างกัน  ส่วนผู้ที่ต้องการลดปริมาณแอลกอฮอล์ ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สัปดาห์ละ 3-4 วัน
    • ดื่มให้ช้าลง โดยดื่มเพียงหนึ่งแก้วหรือในปริมาณที่น้อยกว่านั้นในแต่ละชั่วโมง
    • เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สีเข้ม เลือกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสีใส เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สีเข้มมีส่วนผสมของคอนจีเนอร์มาก ส่งผลให้ผู้ดื่มเกิดอาการเมาค้างอย่างรุนแรง
    • ดื่มน้ำเปล่าหนึ่งแก้วทุกครั้งหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนึ่งอึก หรือจะผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับเครื่องดื่มอื่น ๆ ก็จะช่วยให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้น้อยลง ทั้งนี้ น้ำเปล่าจะช่วยให้ผู้ดื่มไม่เกิดภาวะขาดน้ำ
    • รับประทานสารสกัดจากกระบองเพชรพริกคลีแพร์ (Prickly Pear) ก่อนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยบรรเทาอาการเมาค้างให้ทุเลาได้ โดยสารสกัดนี้มีโปรตีนที่ช่วยยับยั้งอาการอักเสบจากฤทธิ์แอลกอฮอล์
    • งดสูบบุหรี่ระหว่างดื่ม เนื่องจากจะทำให้นอนไม่หลับ ทั้งนี้ การสูบบุหรี่จะทำให้อาการเมาค้างแย่ลง
  • วิธีดูแลอาการเมาค้างให้ดีขึ้น ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเกิดอาการเมาค้างในเช้าวันต่อมา สามารถบรรเทาอาการดังกล่าวให้ดีขึ้นได้ โดยปฏิบัติดังนี้
    • ควรจิบน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
    • รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ โดยเลือกรับประทานยาพาราเซมอล อย่างไรก็ดี ผู้ที่ดื่มเป็นประจำไม่ควรรับประทานยานี้ เนื่องจากยาพาราเซตามอลอาจทำลายตับอย่างรุนแรง ทั้งนี้ ไม่ควรรับประทานยาแอสไพรินเพื่อลดอาการแก้ปวด เนื่องจากจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
    • รับประทานอาหารรสจืดและย่อยง่าย เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดและฟื้นฟูกระเพาะอาหารให้กลับมาทำงานได้ปกติ โดยอาจรับประทานซุปผักซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน
    • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้อาการเมาค้างหายไปเมื่อตื่นขึ้นมา
    • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะดื่มตอนเช้า เนื่องจากจะยิ่งเพิ่มฤทธิ์แอลกอฮอล์ในร่างกายให้มากขึ้น และสร่างเมาช้าลงกว่าเดิม