เท้าบวม

ความหมาย เท้าบวม

 

เท้าบวม (Swollen Feet) คือ อาการบวมที่เกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณเท้าไปจนถึงข้อเท้า อาการนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมีทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง แต่ถือเป็นสัญญาณที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพ เท้าบวมสามารถรักษาให้ทุเลาลงได้ โดยแพทย์จะรักษาตามสาเหตุ

เท้าบวม

อาการเท้าบวม อาการจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยอาการทั่วไปที่มักพบในผู้ที่มีข้อเท้าหรือเท้าบวม ได้แก่

  • ข้อเท้า หรือเท้าทั้ง 2 ข้างขยายขนาดขึ้น เมื่อสัมผัสบริเวณเท้าอาจจะรู้สึกว่านิ่มผิดปกติ
  • เมื่อใช้นิ้วกดลงไปที่เท้าแล้วจะเกิดรอยบุ๋มที่เห็นได้ และหากยกนิ้วออกบริเวณที่บุ๋มลงไปจะคืนสู่สภาพเดิมอย่างช้า ๆ ผิดปกติ
  • เกิดรอยพับที่เห็นได้ชัดบนผิวหนังที่บวมเมื่อถอดรองเท้า หรือถุงเท้าออก
  • สีผิวหนังของเท้าที่บวมอาจปกติหรือซีดกว่าปกติ
  • อาการเท้าบวมในผู้ป่วยบางรายอาจคืนสู่ภาวะปกติได้เมื่อยกเท้าขึ้นสูงกว่าหัวใจ แต่หากเกิดจากโรค หรือการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน อาการบวมอาจรุนแรงและเรื้อรังได้

แม้อาการเท้าบวมอาจไม่อันตรายแต่ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ด้วย หากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อความปลอดภัย

  • มีอาการของโรคหัวใจ โรคตับ หรือโรคไต และเคยมีอาการเท้าบวมมาก่อน
  • เท้าที่บวมมีลักษณะแดง หรือสัมผัสแล้วรู้สึกอุ่น ๆ
  • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นผิดปกติ
  • อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือมีอาการบวมอย่างเฉียบพลัน และรุนแรง
  • หากใช้วิธีบรรเทาอาการด้วยตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ทุเลาลง
  • อาการบวมรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ หากมีอาการเจ็บ หรือแน่นที่หน้าอกผิดปกติ วิงเวียนศีรษะ มึนงง รู้สึกเหมือนจะเป็นลม และมีปัญหาในการหายใจ คือหายใจถี่ หรือหายใจลำบาก ควรรีบไปโรงพยาบาลในทันที เพราะหากปล่อยไว้อาการอาจยิ่งรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สาเหตุของเท้าบวม

เท้าบวมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากสาเหตุที่บริเวณข้อเท้าหรือเท้าโดยตรง หรืออาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติของร่างกาย  ที่พบบ่อยได้แก่

อาการบาดเจ็บที่เท้าหรือข้อเท้า อาการบวมที่เกิดจากอาการบาดเจ็บ ซึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ อาการเท้าบวมและข้อเท้าบวมที่เกิดจากข้อเท้าแพลง จากอุบัติเหตุ หรือการสะดุดล้ม ทำให้เส้นเอ็นบริเวณข้อเท้ายืดมากผิดปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วหากหยุดพักการใช้ข้อเท้าหรือเท้าข้างที่บาดเจ็บ และประคบเย็นในระยะแรก รวมถึงพันผ้าเพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อเท้าจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าอาการไม่ทุเลาลง หรืออาการเจ็บปวดค่อนข้างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด

หลอดเลือดดำบกพร่อง (Venous Insufficiency)ดยปกติแล้วหลอดเลือดดำจะมีการไหลเวียนของเลือดขึ้นไปที่หัวใจในลักษณะไหลเวียนไปในทางเดียวและมีลิ้นที่คอยกั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ แต่หากลิ้นดังกล่าวเสียหาย จะทำให้หลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ และเลือดไหลย้อนกลับไปคั่งที่บริเวณเท้าและขา เลือดไม่เพียงพอที่จะไหลเวียนไปที่หัวใจ จนเกิดอาการบวมที่เท้าในที่สุด

การติดเชื้อ อาการเท้าบวมและข้อเท้าบวมอาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการลุกลามไปยังเส้นประสาทส่วนปลายบริเวณเท้า จนเป็นแผลได้ง่าย อีกทั้งแผลที่เกิดอาจลุกลามได้ง่ายกว่าคนทั่วไป จนก่อให้เกิดอาการบวมอักเสบที่เท้า และอาจทวีความรุนแรงขึ้น

ลิ่มเลือดอุดตัน หากเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่บริเวณขา ก็อาจทำให้เกิดอาการเท้าบวมได้ ซึ่งภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำมีทั้งชนิดรุนแรง และไม่รุนแรง โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันว่าลึกมากหรือไม่ ทั้งนี้หากไม่รีบรักษา ลิ่มเลือดอาจหลุดเขาไปที่ปอด ซึ่งเป็นอันตรายได้

ภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema) เป็นอาการที่เกิดจากการคั่งของน้ำเหลืองบริเวณใต้ผิวหนัง อันมีสาเหตุมาจากการไหลเวียนของน้ำเหลืองโดนขัดขวาง จนทำให้เกิดอาการบวมที่บริเวณเท้า และข้อเท้าจนผิดปกติ หากไม่รักษาจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ภาวะนี้หากเกิดจากโรคมะเร็งสามารถรักษาได้ด้วยการฉายรังสี หรือการผ่าตัดเพื่อนำต่อมน้ำเหลืองออก ดังนั้น หากมีอาการเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุไม่ควรปล่อยทิ้งไว้

โรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคตับ หรือโรคไต เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการบวมที่เท้าได้ โดยอาการบวมจากสาเหตุนี้เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดน้ำและเกลือออกจากร่างกายได้หมด และเมื่อร่างกายมีของเหลวส่วนเกินสะสมอยู่มากเกินไป แรงโน้มถ่วงจะดึงให้น้ำส่วนเกินลงมาอยู่ที่เท้า จนทำให้ข้อเท้า และเท้าบวมได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา มียาจำนวนไม่น้อยที่มีผลข้างเคียงทำให้ข้อเท้าและเท้าบวม ได้แก่

  • ฮอร์โมนต่าง ๆ เอสโตรเจน หรือฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน
  • แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium Channel Blocker) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิต
  • ยาสเตียรอยด์ เช่น ยาคอร์ติซอลสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
  • ยาต้านเศร้า (Antidepressants) คือ ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้า เช่น ยานอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) และยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)
  • ยาต้านอาการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวด ได้แก่ ยาไอบูโพรเฟน เป็นต้น
  • ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด

ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาการเท้าบวม และข้อเท้าบวมมักพบได้โดยทั่วไปในสตรีที่ตั้งครรภ์ แต่หากอาการบวมเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือค่อนข้างรุนแรง อาจมีสาเหตุเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ได้ ภาวะดังกล่าวจะก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนรั่วไหลในปัสสาวะในช่วงหลังจากอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยพบอาการบวมที่ผิดปกติร่วมกับอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน การมองเห็นผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อความปลอดภัย

การวินิจฉัยอาการเท้าบวม

ในเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถสังเกตเห็นอาการบวมของเท้าได้ด้วยตนเอง หากไม่รุนแรงมากนักก็อาจไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้ามีอาการบวมมาก หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยควรรีบไปพบแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตรายได้

เมื่อเข้ารับการตรวจ แพทย์จะตรวจร่างกายภายนอก และซักประวัติเกี่ยวกับอาการที่เป็นว่ามีอาการบวมที่ใด และรู้สึกบวมมากที่สุดช่วงเวลาไหนของวัน หากมีอาการอื่น ๆ ด้วย แพทย์จะซักถามถึงอาการเหล่านั้น และความเสี่ยงสุขภาพบางอย่างที่อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการบวมได้ จากนั้นจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ หากต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม แพทย์อาจใช้วิธีดังต่อไปนี้

  • การตรวจเลือด  เช่น การตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจการทำงานของตับและไต หรือตรวจค่าเกลือแร่ในร่างกายเพื่อประเมินการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ
  • เอกซเรย์ เพื่อดูความผิดปกติของกระดูก หรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ
  • ตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียง ที่ช่วยระบุความผิดปกติของอวัยวะ หลอดเลือด และเนื้อเยื่อต่าง ๆ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจซึ่งจะช่วยให้แพทย์ระบุความผิดปกติของหัวใจอันสัมพันธ์กับอาการเท้าบวมได้

ทั้งนี้หากแพทย์พบสาเหตุของอาการเท้าบวมแล้วปรากฏว่าอาการนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แพทย์จะวางแผนรักษาต่อไปโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันอาการอื่น ๆ ที่อาจตามมาและเป็นอันตรายในภายหลัง

การรักษาอาการเท้าบวม

โดยทั่วไปแล้วหากอาการเท้าบวมเกิดขึ้นจากกิจกรรมในชีวิตประจำหรือการบาดเจ็บเล็กน้อย อาจไม่ต้องรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ แต่ให้ผู้ป่วยดูแลรักษาอาการด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งวิธีที่ช่วยลดอาการบวมของเท้าได้ มีดังต่อไปนี้

 

  • ยกขาให้สูงขึ้นขณะนอนหงาย เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก
  • ยืดเหยียดขาอยู่เสมอ จะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
  • ลดปริมาณการรับประทานเกลือ ช่วยลดการเกิดน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ ทำให้อาการบวมลดลง
  • ใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดบริเวณต้นขา หรือข้อเท้า เพราะอาจทำให้เท้าบวมได้
  • สวมผ้ารัดข้อเท้าหรือเท้า เพื่อช่วยลดอาการบวม

แต่หากอาการบวมเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ แพทย์จะเริ่มต้นรักษาที่ต้นเหตุก่อนเป็นอันดับแรก โดยวิธีหนึ่งที่ช่วยลดอาการบวมของเท้าซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดน้ำและเกลือออกจากร่างกายได้คือ การใช้ยาขับปัสสาวะ ซึ่งใชัภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

ขณะที่ผู้ป่วยเท้าบวมอันเนื่องมากจากการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาเพื่อเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียในการใช้ยาดังกล่าวกับการรักษาอาการเจ็บป่วย หากยาดังกล่าวก่อให้เกิดอาการบวมอย่างรุนแรง แพทย์อาจสั่งหยุดยา ปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือเปลี่ยนยาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยมากที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนเท้าบวม

เท้าบวมและข้อเท้าบวมอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น เท้าบวมอาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บ เดินและวิ่งได้ไม่สะดวกชั่วคราว

หากอาการบวมนี้เรื้อรังจนทำให้ผิวหนังบริเวณที่บวมเปลี่ยนสี หรือมีแผลเปื่อยร่วมด้วย ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ หากไม่ได้รับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ อาจทำให้เป็นฝี มีภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เนื้อตาย และอาจรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

การป้องกันเท้าบวม

เท้าบวมไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเท้าบวมได้บ้างด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ลุกขึ้นเดินเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันของเหลวลงไปคั่งที่บริเวณขาและเท้า
  • ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว การดื่มน้ำให้พอเหมาะทุกวันจะลดอาการบวมที่เกิดขึ้นและช่วยป้องกันอาการบวมได้
  • ลดปริมาณการบริโภคเกลือ เกลือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการบวมได้ หากรับประทานลดลงความเสี่ยงต่ออาการบวมก็จะลดลงด้วย
  • หนุนเท้าให้สูงขณะนอนหลับ หากขาและเท้าอยู่ในระดับที่สูงพอในขณะนอนหลับก็จะช่วยให้อาการบวมลดลง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด และอาจช่วยป้องกันการเกิดอาการเท้าบวมได้