การวินิจฉัยภาวะ อ้วน
การวินิจฉันภาวะอ้วน สามารถทำได้โดยการวัดค่า BMI หากมีค่าอยู่ที่ 30 ขึ้นไป โดยเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้วัดภาวะอ้วน คือ BMI: Body Mass Index ดังนี้
- ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 ลงไป แสดงว่ามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
- ค่า BMI ตั้งแต่ 18.5-24.9 แสดงว่าอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี
- ค่า BMI ตั้งแต่ 25-29.9 แสดงว่ามีน้ำหนักเกิน
- ค่า BMI ตั้งแต่ 30-38.9 แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ
- ค่า BMI ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนอย่างมากและเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาสุขภาพที่รุนแรง
ปัจจุบันมีเว็บไซต์ออนไลน์ขององค์กรต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกในการคำนวณหาค่า BMI แต่หากต้องการคำนวนหาค่า BMI ด้วยตนเอง สามารถทำได้โดยการนำน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง เช่น มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สูง 1.50 เมตร = 50/(1.5x1.5) = 22.22 จะมีค่า BMI อยู่ที่ 22.22 นั่นเอง
นอกจากการตรวจหาภาวะอ้วนทำได้ด้วยการหาค่า IBM สามารถใช้การตรวจวัดรอบเอว โดยผู้ที่อยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพ คือ ผู้ชายที่มีรอบเอวเกินกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงที่มีรอบเอวเกินกว่า 80 เซนติเมตร
การวัดรอบเอวทำให้ทราบความเสี่ยงในการพัฒนาโรคได้ เมื่อเทียบกับคนที่มีค่า BMI เท่ากัน คนที่มีรอบเอวมากกว่าก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและการเจ็บป่วยมากกว่า เพราะมีไขมันสะสมในจุดใดจุดหนึ่งเป็นจำนวนมาก กล่าวคือผู้ที่มีรูปร่างอ้วนกลางลำตัว (หุ่นรูปแอปเปิ้ล) มีความเสี่ยงมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีไขมันกระจายออกไปตามสะโพกและต้นขา (หุ่นรูปสาลี่)
ดังนั้น การที่มีค่า BMI ต่ำ ไม่ได้หมายถึงการมีสุขภาพดีไม่มีความเสี่ยงต่อโรคเสมอไป หากมีรอบเอวที่สูงมากเท่าใด จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่จะตามมามากเท่านั้น อย่างผู้ที่มีรอบเอวสูงมากแม้จะมีค่า BMI ต่ำ ก็เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น
หากกำลังเผชิญกับภาวะอ้วน แล้วไม่สามารถจัดการควบคุมแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง สามารถไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาได้ โดยแพทย์จะตรวจร่างกาย ซักประวัติสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด การทำกิจกรรมต่าง ๆ ประวัติสุขภาพของครอบครัว ความรู้สึกที่มีต่อภาวะอ้วน และปัญหาที่กำลังเผชิญจากภาวะอ้วน
ส่วนการตรวจเพิ่มเติมเมื่อทราบว่าผู้ป่วยกำลังเผชิญกับภาวะอ้วน ได้แก่ การตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจหาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด หากพบความผิดปกติแล้วนำไปสู่การวางแผนรักษาต่อไป