อุ้งเชิงกรานอักเสบ

ความหมาย อุ้งเชิงกรานอักเสบ

อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflamatory Disease) คือ การติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง บริเวณมดลูก ปีกมดลูก และท่อนำไข่ ซึ่งการติดเชื้อนั้นอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หรือหนองในเทียม ซึ่งมักเกิดบริเวณช่องคลอดและปากมดลูก หากไม่ทำการรักษาก็อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปบริเวณอื่นในระบบสืบพันธุ์ได้ โดยโรคนี้มักเกิดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุประมาณ 25 ปี หรือน้อยกว่านั้น

577 pelvicRe

อาการของอุ้งเชิงกรานอักเสบ

ในระยะแรกผู้ป่วยอาจยังไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากเป็นรุนแรงขึ้นจะเริ่มรู้สึกปวดในบริเวณช่องท้อง นอกจากนี้ผู้ป่วยสามารถพบอาการอื่นได้ ดังต่อไปนี้

  • เจ็บท้องช่วงล่างหรือท้องน้อย  
  • ภาวะตกขาวผิดปกติ มีกลิ่น หรือ สีเปลี่ยนไป
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ อาจมีเลือดออกในปริมาณมาก รอบเดือนมานานกว่าปกติ หรือมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลีย และไม่สบายตัว
  • ปวดมากขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ปวดแสบขณะปัสสาวะหรือปัสสาวะขัด

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ในทันทีหากสังเกตว่าตนมีอาการใด ๆ ที่กล่าวข้างต้น เนื่องจากการติดเชื้ออาจรุนแรง และเชื้อสามารถลามไปทำลายระบบสืบพันธุ์ได้แม้ติดเชื้อเพียงไม่กี่วัน

สาเหตุของอุ้งเชิงกรานอักเสบ

สาเหตุของอุ้งเชิงกรานอักเสบเกิดจากการติดเชื้อที่พัฒนาในระบบสืบพันธุ์ในอวัยวะหญิงส่วนบน ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด โดยเชื้อเหล่านี้จะแพร่กระจายจากช่องคลอดหรือปากมดลูก เข้าไปในช่องท้อง ท่อนำไข่ และรังไข่ ในหลายกรณีแพทย์อาจไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนว่าเกิดจากแบคทีเรียชนิดใด อาจให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิดในการรักษาเพื่อครอบคลุมในการฆ่าเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุได้

สาเหตุของการเกิดโรคมีความหลากหลาย ดังนี้

สาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากข้อมูลทางการแพทย์ พบว่าการเกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบประมาณ 1 ใน 4 รายมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นโรคหนองในแท้ หรือโรคหนองในเทียม โดยผู้ป่วยมักเริ่มติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณปากมดลูกก่อน ซึ่งสามารถรักษาหายได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะ หากได้รับการรักษาไม่เหมาะสมหรือรักษาล่าช้า ก็อาจทำให้แบคทีเรียนั้นแพร่กระจายเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ได้

สาเหตุอื่น ๆ สาเหตุการเกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบในหลายกรณีนั้นยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด ซึ่งโดยปกติในช่องคลอดก็มีแบคทีเรียที่ไม่เป็นอันตรายอาศัยอยู่ แต่แบคทีเรียเหล่านี้ก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้หากเข้าไปในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่เคยเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมาก่อน หรือเคยทำหัตถการเกี่ยวกับปากมดลูก เช่น การตรวจภายในมดลูก การทำแท้ง หรือการใส่อุปกรณ์คุมกำเนิดเข้าไป เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของอุ้งเชิงกรานอักเสบ

โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มีดังนี้

  • โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายอาจประสบปัญหาเรื้อรังได้ และสามารถกลับมาเป็นโรคได้อีก สาเหตุเกิดจากผู้ป่วยรับประทานยาไม่ครบ หรือคู่นอนมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่ไม่ได้รับการตรวจหรือรักษา หรืออาจเกิดในกรณีที่รังไข่ หรือท่อรังไข่เคยอักเสบแล้วติดเชื้ออีก ก็สามารถมีโอกาสที่จะเกิดโรคขึ้นอีกได้ง่าย
  • ฝี โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจทำให้เกิดฝีได้ พบได้บ่อยที่บริเวณท่อนำไข่และรังไข่ จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ในบางกรณีอาจใช้การผ่าตัดเจาะระบายเพื่อเอาหนองออก
  • อาการปวดเชิงกรานเรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายอาจจะใช้ชีวิตตามปกติได้ยากขึ้น เพราะอาการปวดและอาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น นอนไม่หลับหรือซึมเศร้า ยาแก้ปวดอย่าง ยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน จะช่วยบรรเทาอาการได้เบื้องต้น แต่ถ้ารับประทานแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หรือสูตินรีแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษา
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก หากเกิดการติดเชื้อที่ท่อนำไข่ อาจทำให้เกิดแผลเป็นบริเวณนั้นและทำให้ไข่เคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ได้ยาก และหากไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วฝังตัวอยู่ในท่อนำไข่นั้นจะทำให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตผิดที่จนอาจทำให้ท่อนำไข่ฉีกขาด เลือดออก และเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  • การมีบุตรยาก การมีแผลเป็นจากการอักเสบหรือเคยเป็นฝีในท่อนำไข่ อาจทำให้ไข่ไม่สามารถผ่านเข้าไปในมดลูกได้ ส่งผลให้เป็นอุปสรรคในการตั้งครรภ์ โดยคาดว่าประมาณ 1 ใน 10 ของผู้หญิงที่เป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบจะประสบภาวะมีบุตรยาก ซึ่งความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า แต่ก็มีรายงานการวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายขาดแล้วก็สามารถตั้งครรภ์ได้ปกติเช่นกัน สำหรับการแก้ไขภาวะท่อนำไข่อุดตันนั้นสามารถรักษาด้วยการผ่าตัด และหากผู้ป่วยประสบปัญหาการมีบุตรยาก อาจพิจารณาการทำเด็กหลอดแก้ว

การวินิจฉัยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ

สอบถามอาการและทำการตรวจ แพทย์จะถามประวัติการใช้ยาและการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย ตรวจภายในและอุ้งเชิงกรานเพื่อดูภาวะตกขาวที่ผิดปกติ เก็บจุลินทรีย์จากสารคัดหลั่งภายในช่องคลอดและปากมดลูก ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อระบุชนิดของตัวแบคทีเรีย และตรวจอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะ เลือด ทดสอบการตั้งครรภ์ อัลตราซาวด์

การผ่าตัด ในบางกรณีอาจใช้การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง หรือ Laparoscopy โดยสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปดูอวัยวะภายใน และถ้ามีความจำเป็นอาจต้องเก็บตัวอย่างเนื้อเยื้อเพิ่มด้วย การผ่าตัดในลักษณะนี้อาจทำกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ที่อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น

การรักษาอุ้งเชิงกรานอักเสบ

การรับประทานยาปฏิชีวนะ

หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรักษาเชื้อให้หาย และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ ยาแก้อักเสบที่ใช้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ ยาออฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline )

ยาปฏิชีวนะบางตัวไม่สามารถใช้ในระหว่างตั้งครรภ์ได้ เพราะฉะนั้นในกรณีที่ผู้ป่วยตั้งครรภ์ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนเริ่มการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แม้ว่าผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม ผู้ป่วยยังจะต้องรับประทานยาต่อจนครบประมาณ 14 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าอาการติดเชื้อนั้นหายขาด

หากผู้ป่วยปวดรอบ ๆ เชิงกรานหรือท้อง สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน ระหว่างรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษา และดูการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ ถ้าอาการผู้ป่วยนั้นไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน ผู้ป่วยอาจต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

นอกจากตัวผู้ป่วยเอง บางกรณีก็จำเป็นต้องรักษาคู่นอน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ และควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาครบตามแพทย์สั่ง

การป้องกันอุ้งเชิงกรานอักเสบ

ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย ส่วนใหญ่โรคอุ้งเชิงกรานอังเสบเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุดจึงเป็นการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยช่วยป้องกันโดยไม่ให้เชื้อผ่านเข้าไปในยังอวัยวะสืบพันธุ์

จำกัดคู่นอน ความเสี่ยงของการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนคู่นอนที่เพิ่มขึ้น คู่นอนของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ควรได้รับการรักษาด้วย ส่วนใหญ่ผู้ชายที่เป็นหนองในเทียมจะไม่มีอาการ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งหนองในเทียมอาจกลับมาแพร่เชื้อให้ผู้ป่วยอีกครั้ง ในกรณีที่คู่นอนติดเชื้อและยังไม่ได้รับการรักษา