การวินิจฉัย หูดหงอนไก่
การวินิจฉัยหูดหงอนไก่ สามารถทำได้ดังนี้
การวินิจฉัยด้วยตัวเอง บางครั้งโรคหูดหงอนไก่ก็ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก หรือเกิดขึ้นภายในร่างกาย ดังนั้นหากพบว่ามีหูดลักษณะผิดปกติเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ทั้งนี้ คู่นอนก็ควรไปตรวจด้วยเช่นกันโดยเฉพาะหากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
การวินิจฉัยโดยแพทย์ โรคหูดหงอนไก่ เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากประเภทหนึ่ง โดยในเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจบริเวณที่สงสัยว่าอาจเป็นหูดหงอนไก่ เช่น บริเวณช่องคลอด ขาหนีบ ต้นขา ทวารหนัก จากนั้นอาจใช้กรดอะซิติกเจือจางช่วยทำให้หูดมีสีซีดลงและเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วจึงนำกล้องหรือแว่นขยายมาส่องเพื่อดูลักษณะของหูดที่เกิดขึ้น ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ จะเน้นไปที่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยการตรวจที่นิยมใช้มีดังนี้
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) เป็นการตรวจที่แพทย์จะนำเอาตัวอย่างเซลล์ที่บริเวณปากมดลูก หรือที่ทวารหนักไปตรวจ โดยวิธีเก็บตัวอย่าง แพทย์จะนำปากเป็ดเพื่อขยายช่องคลอดให้กว้าง จากนั้นนำเอาสำลีก้านขนาดใหญ่ป้ายบริเวณปากมดลูกหรือทวารหนักเพื่อเก็บตัวอย่าง จากนั้นจะส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์
- การตรวจเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV Test) การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีในผู้หญิง นอกจากจะตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค แพทย์อาจตรวจความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกด้วย โดยแพทย์จะนำเอาตัวอย่างเซลล์ที่บริเวณมดลูกออกมาส่งตรวจเพื่อระบุสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่จะบอกได้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงหรือไม่
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม โดยการตรวจที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะจะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะเท่านั้น