หัวโน

ความหมาย หัวโน

หัวโน (Minor Head Injury หรือ Bump on Head) เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่ศีรษะถูกกระแทกไม่นักรุนแรง แต่ก็ทำให้ศีรษะบริเวณนั้น ๆ ปูดนูนขึ้นมาหรือมีอาการเจ็บในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ มักไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาวต่อสมองแต่อย่างใด โดยส่วนมากเกิดจากการหกล้ม หรืออุบัติเหตุไม่ร้ายแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เล่นซนและมักได้รับการกระแทกหรือชนที่ศีรษะได้ง่าย

หัวโน

อาการของหัวโน

การได้รับอุบัติเหตุเล็กน้อยบริเวณศีรษะมักเป็นสาเหตุของอาการหัวโน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด หากผู้ได้รับบาดเจ็บยังรู้สึกตัวและไม่มีบาดแผลลึก อาจมีเพียงอาการจากการถูกชนหรือกระแทกที่เกิดขึ้นในช่วงระยะสั้น ๆ ดังนี้

  • อาการเจ็บที่ศีรษะอย่างไม่รุนแรงนัก
  • เวียนศีรษะ เล็กน้อย
  • การมองเห็นพร่าเบลอ แต่เป็นในระดับที่ไม่รุนแรง
  • รู้สึกไม่สบาย คลื่นไส้ อยากอาเจียน
ทั้งนี้ หากบุตรหลานหรือบุคคลใกล้ตัวได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ควรมีคนคอยเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วง 24 ชั่วโมงแรก เพื่อสังเกตอาการที่อาจปรากฏเพิ่มเติมหรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ส่วนตัวผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับบาดเจ็บ ควรขอให้คนใกล้ชิดช่วยจับตาดูอาการในช่วง 24 ชั่วโมงนั้น และหากพบว่าอาการที่เกิดขึ้นแย่ลงมากหรือมีอาการใด ๆ ต่อไปนี้เกิดขึ้นหลังได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดทันที
  • หมดสติ ทั้งในระยะเวลาสั้น ๆ หรือเวลานาน ซึ่งเป็นผลจากการที่สมองได้รับความกระทบกระเทือน
  • ซึมลง ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเดิม หรือรู้สึกง่วงงุนเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังจากได้รับบาดเจ็บ
  • มีอาการชัก
  • มีปัญหาเกี่ยวกับประสาทสัมผัส เช่น สูญเสียการได้ยิน ตาพร่าหรือเห็นภาพซ้อน
  • อาเจียนอย่างต่อเนื่อง
  • อ่อนแรงลง
  • ปวดศีรษะอย่างต่อเนื่อง
  • มีเลือดหรือน้ำใส ๆ ไหลออกมาทางหูหรือจมูก ซึ่งอาจเป็นน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังที่อยู่รอบ ๆ บริเวณสมอง
  • มีเลือดออกจากหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • มีอาการฟกช้ำบริเวณหลังหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • สูญเสียความทรงจำ เช่น ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลังได้รับบาดเจ็บ
  • พูดสื่อสารลำบาก พูดไม่ชัด
  • เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูดบอกได้ยาก
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการเขียนหรือการอ่าน
  • มีปัญหาในการทรงตัว เดินลำบาก
  • สูญเสียความรู้สึกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น แขนขาอ่อนแรง หรือไร้ความรู้สึก
  • มีสัญญาณหรืออาการของความเสียหายที่กระโหลกศีรษะหรือการทะลุจากการได้รับบาดเจ็บ
  • หงุดหงิดฉุนเฉียว หรือมีพฤติกรรมผิดปกติ
หากคนใกล้ชิดสังเกตว่ามีอาการใด ๆ ข้างต้นควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอาการหมดสติที่แม้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ก็ตาม นอกจากนี้ ผู้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะควรไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลเช่นกันในกรณีต่อไปนี้
  • เป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากการกระแทกด้วยความเร็ว เช่น ถูกรถชนหรือตกจากที่สูงกว่า 1 เมตร
  • เคยผ่าตัดสมองมาก่อน
  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมีปัญหาเกี่ยวกับการมีเลือดออกมากผิดปกติ มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด หรือกำลังรับประทานยาที่ทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออก เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin)
  • มีอาการมึนเมาจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้ยาในขณะนั้น
  • เป็นการบาดเจ็บที่อาจไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การตั้งใจทำร้ายตัวเองหรือถูกผู้อื่นเจตนาทำร้าย
สาเหตุของอาการหัวโน

เนื่องจากใต้ผิวหนังบริเวณหน้าผากและศีรษะมีเลือดมาหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก เมื่อได้รับบาดเจ็บในบริเวณนี้จึงมักส่งผลให้มีเลือดออกภายใต้ผิวหนัง การมีเลือดออกเพียงจุดเดียวทำให้เกิดการฟกช้ำและบวมขึ้นมา แม้จะเป็นอุบัติเหตุโดนกระแทกเล็ก ๆ ที่ไม่รุนแรงก็สามารถทำให้เกิดรอยบวมขนาดใหญ่ได้เช่นกัน ส่วนความรุนแรงของอาการบาดเจ็บขึ้นอยู่กับพื้นผิวที่ศีรษะกระแทกหรือชนแต่ละครั้ง เช่น พื้นปูน หรือพื้นผิวที่แข็ง ความเร็วของการชน รวมถึงขนาดตัวของผู้ได้รับบาดเจ็บ

การวินิจฉัยอาการหัวโน

สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะจนมีปุ่มนูนขึ้นมาหรือหัวโนนั้น แพทย์จะตรวจดูว่าสมองได้รับการกระทบกระเทือนหรือไม่เป็นอันดับแรก โดยเฉพาะในเด็ก ที่แม้จะเป็นอุบัติเหตุเล็กน้อย แต่มีโอกาสที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่อาการอ่อนเพลียและปวดหัวเป็นเวลานานหลายวันได้ และหากรุนแรงกว่านี้อาจทำให้เด็กมีปัญหาด้านการนอน นอนไม่หลับ รวมถึงปัญหาด้านพฤติกรรมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสมาธิและการจดจ่อในการเรียน

หลังจากการสอบถามถึงอาการมึนงงหรือภาวะหมดสติที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับบาดเจ็บแล้ว แพทย์จะให้ทำแบบทดสอบการมองเห็น การได้ยิน ตรวจระบบประสาทเพื่อดูการตอบสนองและการทรงตัวของร่างกายว่าเป็นปกติดีหรือไม่ หากผู้ป่วยมีประวัติเคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือผลการทดสอบชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะบาดเจ็บรุนแรง แพทย์อาจส่งตรวจสมองด้วยเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีเลือดออกในสมองหรือไม่

การรักษาอาการหัวโน

หากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเพียงเล็กน้อยมักพักฟื้นอยู่ที่บ้านตามปกติ ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องรับการตรวจที่โรงพยาบาล หากไม่พบอาการบาดเจ็บรุนแรง แพทย์มักอนุญาตให้กลับบ้านได้ในเวลาไม่นานและใช้เวลาเพียง 2-3 วันเพื่อฟื้นตัวจนหายดี ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังการได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยควรมีญาติคอยเฝ้าดูเผื่อมีสัญญาณหรืออาการอื่น ๆ เพิ่มเติม

คำแนะนำสำหรับผู้ใหญ่

  • ให้คนใกล้ชิดคอยเฝ้าดูอาการในช่วง 48 ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุ เพื่อพาส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงทีหากพบความผิดปกติ
  • พักผ่อนให้มากและหลีกเลี่ยงการเผชิญสถานการณ์ตึงเครียด
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติดเพื่อการผ่อนคลาย
  • ไม่รับประทานยานอนหลับ ยาระงับประสาท หรือยากล่อมประสาท นอกจากจะได้รับการสั่งจ่ายยาโดยแพทย์
  • รับประทานยาพาราเซตามอล (Acetaminophen) เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Iboprofen) และยาแอสไพริน (Aspirin) หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ห้ามเล่นกีฬาที่ต้องปะทะกับผู้อื่น เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล เป็นเวลาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หากต้องการเล่นควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ไม่ควรกลับไปทำกิจกรรมตามปกติจนกว่าจะหายดี เช่น ไปทำงานหรือเรียน
  • ไม่ควรขับรถชนิดใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จักรยาน รวมถึงการใช้เครื่องจักรใด ๆ จนกว่าจะฟื้นตัวโดยสมบูรณ์แล้ว
  • ากยังมีอาการหลังได้รับบาดเจ็บใน 2 สัปดาห์ต่อมาหรือไม่แน่ใจว่าจะสามารถกลับไปทำงานหรือเรียนได้หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์
คำแนะนำสำหรับเด็ก

การเกิดอุบัติเหตุกระทบศีรษะอย่างไม่รุนแรงในเด็กเล็กจนหัวโนขึ้นมานั้นพบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กที่กำลังเริ่มเรียนรู้เพื่อเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ ด้วยตนเอง มักเป็นผลจากการที่หนังศีรษะของเด็กนั้นยังบางและอยู่ใกล้กระโหลกศีรษะมาก พ่อแม่มักเป็นกังวลต่อบริเวณหน้าผากที่นูนขึ้นมา แต่หัวโนไม่ใช่การบาดเจ็บที่ร้ายแรงแต่อย่างใด

เด็กอาจร้องไห้ออกมาเพราะรู้สึกเจ็บ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ผู้ปกครองควรให้เด็กนั่งพักแล้วปลอบให้ผ่อนคลายจากความเจ็บปวด ขณะเดียวกันอาจใช้ผ้าบาง ๆ ห่อน้ำแข็งประคบเย็นบริเวณที่หัวโนครั้งละประมาณ 2-5 นาที สลับกับการพักคลายความเย็นเรื่อย ๆ นาน 1 ชั่วโมง เพื่อให้ศีรษะที่นูนยุบลง

ระหว่างนี้พ่อแม่อาจให้ลูกดื่มนม รับประทานอาหาร หรือชี้ชวนให้ดูหนังสือภาพต่าง ๆ เพื่อเบนความสนใจจากความรู้สึกเจ็บในช่วงแรก แต่หากเด็กยังคงแสดงอาการเจ็บปวดหรือไม่หยุดร้องไห้ ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์หรือสอบถามปริมาณการรับประทานยาบรรเทาอาการปวดที่เหมาะสม

หากไม่ใช่เด็กเล็กมีวิธีดูแลและบรรเทาอาการหัวโนเพิ่มเติมคล้ายคลึงกับในผู้ใหญ่ ดังนี้

  • เด็กที่ได้รับอุบัติที่ศีรษะเล็กน้อย ผู้ปกครองควรให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Acetaminophen) เมื่อมีอาการปวดศีรษะที่ไม่รุนแรง และหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Iboprofen) และยาแอสไพริน (Aspirin) ซึ่งห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี
  • อย่าให้เด็กรู้สึกตื่นเต้นจนเกินไป
  • ไม่ควรให้เด็กพบปะหรือมีบุคคลอื่น ๆ รายล้อมมากเกินไป
  • ไม่ควรให้เล่นกีฬาที่ต้องปะทะกับผู้อื่น เช่น บาสเก็ตบอล ฟุตบอล เป็นเวลาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเล่นในระยะนี้
  • คอยดูไม่ให้มีการเล่นรุนแรงในช่วง 2-3 วันแรก
  • หากอาการแย่ลงหรือแสดงอาการใหม่ ๆ ควรไปพบแพทย์
  • ภายใน 2 สัปดาห์ต่อมา หากยังคงมีอาการหรือไม่แน่ใจว่าจะกลับไปเรียนหรือเล่นกีฬาได้แล้วหรือยัง ควรปรึกษาแพทย์
การป้องกันอาการหัวโน

การป้องกันไม่ให้ศีรษะได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ แต่การใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่าง ๆ ได้

  • สวมหมวกนิรภัย การขับรถจักรยานยนต์หรือจักรยานควรสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานป้องกันเสมอ รวมถึงผู้ที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ หรือการเล่นกีฬาบางชนิดที่เสี่ยงการการหกล้มศีรษะกระแทกพื้น
  • นอกจากการสวมหมวกกันน็อก ควรเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ด้วยการตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์และไฟรถให้ใช้งานได้อยู่เสมอ หากขี่จักรยานในเวลากลางคืนควรมีไฟติดที่รถหรือสวมเสื้อผ้าสะท้อนแสงให้รถคันอื่นมองเห็น และขับขี่รถทุกชนิดด้วยความระมัดระวัง เพราะอันตรายมีทั้งจากรถคันอื่นและอันตรายจากสภาพท้องถนน
  • เพิ่มความปลอดภัยภายในบ้านเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุต่อคนในบ้าน ด้วยการไม่วางสิ่งของระเกะระกะตามทางเดินบันได ใช้อุปกรณ์ที่มีความปลอดภัย ไม่ยืนบนเก้าอื้ที่ไม่มั่นคงขณะเปลี่ยนหลอดไฟหรือทำกิจกรรมใด ๆ และทำความสะอาดพื้นเมื่อมีน้ำหกเพื่อป้องกันการลื่นล้ม
  • จัดระเบียบบ้านให้ปลอดภัยต่อเด็กเล็กที่สุด เช่น ล็อกหน้าต่างทุกบานไม่ให้เด็กสามารถเปิดได้ โดยเฉพาะหน้าห้องนอนเด็ก เคลื่อนย้ายเครื่องเรือนต่าง ๆ เช่น โซฟา เตียง เก้าอี้ให้ห่างจากบานหน้าต่าง ป้องกันไม่ให้เกิดการปีนและพลัดตกลงไป ติดตั้งประตูป้องกันที่ด้านบนและด้านล่างของบันไดไม่ให้เด็กเดินหรือคลานมายังบริเวณบันไดซึ่งอาจไม่ปลอดภัย ใช้ผ้าหรือเบาะบุกันมุมแหลมของโต๊ะหรือเครื่องเรือน และวางแผ่นกันกระแทกไว้ใต้พรมในบ้าน
  • เพิ่มความปลอดภัยในที่ทำงานทำตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น สวมใส่หมวกนิรภัยในเขตก่อสร้างหรือพื้นที่เสี่ยงอันตราย หากเป็นงานช่างที่ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ อาจใช้บันไดปีน แต่หากต้องทำเป็นเวลานานและมีความสูงมากควรมีนั่งร้าน