หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท วิธีรักษา และคำแนะนำในเบื้องต้น

สำหรับภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท วิธีรักษาจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ตั้งแต่การกายภาพบำบัด การใช้ยา ไปจนถึงการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนก็จะได้รับวิธีการรักษาที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและดุลยพินิจของแพทย์ การรู้จักวิธีรักษาแต่ละวิธีเอาไว้จึงน่าจะช่วยให้ผู้ป่วยพอเห็นแนวทางการรักษาคร่าว ๆ และวางแผนการใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

หมอนรองกระดูกเป็นอวัยวะนิ่ม ๆ ที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ มีหน้าที่ช่วยลดการเสียดสีกันของกระดูกสันหลัง โดยอวัยวะนี้จะสามาถแบ่งได้เป็น 2 ชั้นคือ ชั้นในที่มีลักษณะเหลว ๆ และชั้นนอกที่มีลักษณะเหนียว

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท วิธีรักษา

โดยภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือภาวะกระดูกทับเส้น (Herniated Disc) จะเกิดขึ้นจากการที่หมอนรองกระดูกชั้นในเคลื่อนตัวออกมาจากหมอนรองกระดูกชั้นนอกที่หุ้มอยู่และไปกดทับเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง โดยภาวะนี้สามารถเกิดได้หลายส่วน บางคนอาจเกิดที่คอ บางคนอาจเกิดที่หลัง แต่ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณหลังส่วนล่าง

วิธีรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีวิธีรักษาอยู่หลายวิธี ได้แก่ การทำกายภาพบำบัด การใช้ยา และการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนไป

แต่โดยส่วนใหญ่แพทย์มักจะพิจารณาเริ่มการรักษาด้วยวิธีที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยน้อยที่สุดก่อน อย่างการทำกายภาพบำบัด หรือการใช้ยา และคอยติดตามอาการของผู้ป่วย ส่วนวิธีการผ่าตัดจะเป็นวิธีที่แพทย์ใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น 

โดยการรักษาแต่ละวิธีจะมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

การทำกายภาพบำบัด

ในการรักษาผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีนี้ แพทย์จะแนะนำวิธีทำกายภาพบำบัดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด รวมถึงอาจแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงให้อาการแย่ลง อย่างการยกของหนักและการนอนนิ่งอยู่กับที่นาน ๆ หลายชั่วโมงในระหว่างวัน ร่วมด้วย

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายและพิจารณาใช้วิธีการรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัดด้วย โดยกีฬาหรือกิจกรรมที่แพทย์แนะนำก็จะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ส่งผลกระทบต่ออาการของผู้ป่วย เช่น โยคะ หรือการเดินช้า ๆ

ส่วนการใช้อุปกรณ์การแพทย์เพื่อการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทก็เช่น การใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการปวด (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation: TENS) การใช้คลื่นอัลตราซาวด์บรรเทาการอักเสบและอาการปวด (Ultrasound therapy) และการบำบัดด้วยความร้อน

การใช้ยา

ในกระบวนการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาดังต่อไปนี้ร่วมด้วยในการรักษา

  • ยาแก้ปวด เช่น ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • ยาที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น กาบาเพนติน (Gabapentin) ยาพรีกาบาลิน (Pregabalin) ยาลาฟาซีน (Venlafaxine)
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ 
  • ยาสเตียรอยด์ แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดบริเวณกระดูกสันหลังของผู้ป่วย เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและอาการบวม

การผ่าตัด

สำหรับภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดจะมักถูกใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หรือผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง เช่น อาการปวดที่รุนแรง มีอาการชา ยืนหรือเดินลำบาก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมปัสสาวะและอุจจาระ

การผ่าตัดจะสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่เหมาะสมต่อผู้ป่วย โดยจุดประสงค์หลัก ๆ ของการผ่าตัดก็คือนำหมอนรองกระดูกส่วนที่เคลื่อนทับเส้นประสาทออก

คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

สำหรับผู้ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผู้ป่วยอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้ควบคู่ไปกับการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาททางการแพทย์ เพื่อช่วยควบคุมหรือบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมใด ๆ ที่อาจส่งผลให้หลังได้รับการกระทบกระเทือน แต่ให้หลีกเลี่ยงการนอนนิ่ง ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ เนื่องจากการนอนท่าเดิมนาน ๆ อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อมีอาการตึงจนนำไปสู่อาการปวดเมื่อยตามมาได้
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก 
  • รับประทานยาแก้ปวด แต่ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน

ส่วนผู้ที่เห็นว่าตนเองอาจจะมีภาวะนี้อยู่ เช่น อาจจะมีอาการปวดหลังร้าวลงขา ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยของภาวะนี้อยู่ ในเบื้องต้นก็อาจจะใช้วิธีเดียวกับผู้ป่วยภาวะนี้ได้เลย อย่างการพักกิจกรรมต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการนอนนาน ๆ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก และรับประทานยาแก้ปวด

แต่นอกจากนี้แล้ว ผู้ที่เห็นว่าตนเองอาจมีภาวะนี้ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดรุนแรง แขนขาชา ยืนหรือเดินลำบาก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมปัสสาวะและอุจจาระ เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติอื่นที่รุนแรงได้เช่นกัน เช่น การติดเชื้อ โรคกระดูกโพรงสันหลังตีบแคบ หรือการเกิดเนื้องอก