หน้ามืดเกิดจากอะไร รู้จัก 8 สาเหตุ และวิธีการรับมือ

การทำความรู้จักว่า หน้ามืดเกิดจากอะไร และเมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์เอาไว้ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน เนื่องจากอาการหน้ามืดเป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ซึ่งในบางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิดที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ได้ด้วย

หน้ามืด หรืออาการในลักษณะคล้ายจะเป็นลม เวียนศีรษะ ไม่มีแรง และสูญเสียการทรงตัว เป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยแต่ละสาเหตุก็จะมีลักษณะอาการร่วมที่ต่างกัน อีกทั้งในขั้นตอนการรักษา แพทย์ก็จะต้องตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดให้พบก่อน เนื่องจากแต่ละสาเหตุแต่ละชนิดจะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป

หน้ามืดเกิดจากอะไร

หน้ามืดเกิดจากอะไรได้บ้าง

อาการหน้ามืดสามารถเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ถึงหลายโรคด้วยกัน โดยตัวอย่างที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น

1. โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน

โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) เป็นโรคที่เกิดจากการที่ตะกอนหินปูนในหูเคลื่อนตัวหลุดเข้าไปในหูชั้นในบริเวณที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัว ซึ่งหินปูนดังกล่าวก็จะเคลื่อนตัวไปมาในนั้นขณะที่ผู้ป่วยหันศีรษะไปในทิศทางต่าง ๆ และส่งผลให้กระบวนการทรงตัวของร่างกายทำงานผิดปกติไป

ลักษณะอาการเด่น ๆ ของโรคนี้ก็คือ อาการบ้านหมุน โดยอาการจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันขณะที่ผู้ป่วยหันศีรษะ หรือบางคนอาจจะพบอาการขณะเอนตัวลงนอนหรือลุกขึ้นนั่งก็ได้เช่นกัน

2. ไมเกรน

ไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะชนิดหนึ่งในลักษณะปวดแบบตุบ ๆ อย่างรุนแรงที่ศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาการอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน

ทั้งนี้ นอกจากอาการปวดศีรษะแบบตุบ ๆ แล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมักพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน และไวต่อแสงและเสียงผิดปกติ

3. ภาวะขาดน้ำ

ภาวะขาดน้ำเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีน้ำไม่เพียงพอต่อกระบวนการทำงานต่าง ๆ โดยสาเหตุก็อาจเป็นได้หลายอย่าง เช่น การดื่มน้ำน้อย การสูญเสียเหงื่อมาก การใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้ร่างกายปัสสาวะมากขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายมีไข้ ท้องเสีย หรืออาเจียน

นอกจากอาการเวียนศีรษะแล้ว ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำยังมักพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ ปากแห้ง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และท้องผูก

4. เมารถ

เมารถเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อกระบวนการรับรู้สัญญาณเกี่ยวกับการทรงตัวของสมองผิดปกติไป โดยนอกจากอาการหน้ามืดแล้ว ผู้ที่มีภาวะเมารถยังอาจพบอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ มีเหงื่อออก อ่อนเพลีย มีน้ำลายมากขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน หายใจหอบถี่ และผิวซีด

5. โลหิตจาง

โลหิตจางเป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือเซลล์เม็ดเลือดแดงทำงานผิดปกติไป โดยอาการหน้ามืดจะเป็นอาการเด่น ๆ ของผู้ที่มีภาวะนี้

อย่างไรก็ตาม นอกจากอาการหน้ามืดแล้ว ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางยังอาจพบอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็ว ผิวซีดหรือผิวเหลือง และเจ็บหน้าอก

6. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำผิดปกติ โดยผู้ที่มีภาวะนี้อาจจะมีอาการที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยหลัก ๆ ที่มักพบก็เช่น มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว อ่อนเพลีย หนาวสั่น มีเหงื่อออกมาก อยากอาหารมากผิดปกติ ผิวซีด ไม่มีสมาธิ และเกิดอาการชาหรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มบริเวณริมฝีปาก ลิ้น และแก้ม

7. ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension)

ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่าเป็นภาวะความดันโลหิตต่ำชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะเปลี่ยนท่าจากท่านั่งหรือนอนเป็นท่ายืนอย่างกะทันหัน โดยอาการหลัก ๆ ของภาวะนี้ก็เช่น หน้ามืดหรือเวียนศีรษะขณะยืนขึ้น มองเห็นภาพเบลอ อ่อนเพลีย และรู้สึกสับสน

8. หูชั้นในติดเชื้อ

หูชั้นในติดเชื้อเป็นภาวะที่หูชั้นในเกิดการอักเสบหรือระคายเคืองจากการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อไวรัส โดยอาการที่มักพบก็เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ บ้านหมุน ทรงตัวลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน ปวดศีรษะ และมีน้ำไหลออกมาจากหู

ทั้งนี้ ตัวอย่างโรคและภาวะผิดปกติที่ได้กล่าวไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุอาการหน้ามืดเท่านั้น ซึ่งอาการนี้ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกายมีปัญหา การออกกำลังกายอย่างหนัก เพลียแดด น้ำในหูไม่เท่ากัน โรคทางระบบประสาท การใช้ยาบางชนิด ไปจนถึงโรคหัวใจขาดเลือด

วิธีดูแลตัวเองจากอาการหน้ามืดในเบื้องต้น

ในกรณีที่อาการหน้ามืดไม่รุนแรง อากาอาจค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เอง โดยในระหว่างที่มีอาการ ผู้ที่มีอาการหน้ามืดอาจจะลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้เพื่อบรรเทาความรุนแรงของอาการด้วยตัวเองในเบื้องต้น 

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • เอนตัวลงนอนขณะมีอาการจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น จากนั้นจึงค่อย ๆ ลุกขึ้นช้า ๆ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 
  • หากมีอาการบ้านหมุน ให้หลีกเลี่ยงการจ้องไปที่ที่มีแสงจ้าและการอ่านหนังสือหลังจากที่มีอาการ เนื่องจากการทำสิ่งเหล่านี้อาจยิ่งส่งผลให้อาการแย่ลง
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการหน้ามืดในลักษณะดังต่อไปนี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการหน้ามืดในกลุ่มนี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายทางร่างกายได้ ได้แก่

  • อาการเกิดหลังจากที่ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน
  • อาการมีความรุนแรงมาก
  • มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก อาเจียนเรื้อรัง ได้ยินเสียงในหู แขนและขาชา มองเห็นภาพซ้อน พูดลำบาก เดินลำบาก ใจสั่น และรู้สึกชาที่หน้า

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงพอทราบแล้วว่าหน้ามืดเกิดจากอะไรได้บ้างและควรรับมืออย่างไร ทั้งนี้ วิธีเหล่านี้เป็นเพียงการดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น หากลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการหน้ามืดในลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อาการกลับมาเป็นบ่อย ๆ หรืออาการมีความรุนแรง