ส้มกับสรรพคุณทางยา แค่ความเชื่อหรือเรื่องจริง

ส้ม คือผลไม้อย่างหนึ่งที่ผู้คนนิยมรับประทาน โดยนำมาประกอบอาหารหรือเป็นส่วนผสมขนม หรือรับประทานเพื่อหวังสรรพคุณทางยา ความเชื่อเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของส้มนั้นมีหลายอย่าง บ้างเชื่อว่าส้มลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง เนื่องจากเปลือกส้มอาจช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าการรับประทานเปลือกส้มอาจช่วยบรรเทาอาการหอบ อาหารไม่ย่อย ลำไส้แปรปรวน หรือโรคเกี่ยวกับตับ ซึ่งการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาของผลไม้ชนิดนี้ออกมาหลายประเด็น ดังจะกล่าวต่อไป

ส้ม

ส้มมีสรรพคุณทางยาจริงหรือไม่ ?

ประโยชน์ของส้มที่ส่งผลต่อสุขภาพมีหลายประการตามที่ได้กล่าวไปบ้างแล้ว โดยความเชื่อเหล่านั้นถูกนำมาศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างแพร่หลาย ประเด็นเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาของผลไม้ชนิดนี้จะพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์และมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างที่ผู้คนเชื่อกันหรือไม่ ได้มีงานวิจัยทำการศึกษา ดังนี้

ลดไขมันและความอ้วน

โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายมีไขมันที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลในเลือด แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่ ไขมันดี และไขมันไม่ดี โดยไขมันดี (High-Density Lipoprotein: HDL) จะลำเลียงคอเลสเตอรอลออกจากเซลล์กลับไปที่ตับ เพื่อย่อยสลายหรือขับออกมาเป็นของเสีย ส่วนไขมันไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) จะลำเลียงคอเลสเตอรอลไปยังเซลล์ของร่างกาย คอเลสเตอรอลจะเกาะตามผนังหลอดเลือดได้หากมีปริมาณมากกว่าที่เซลล์จะนำไปใช้ จึงควรควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลให้เหมาะสม โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  

น้ำส้มอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์และแคโรทีนที่ช่วยลดสารอนุมูลอิสระและอาการอักเสบในร่างกาย โดยน้ำส้มจากส้มสีแดงอุดมไปด้วยไลโคปีน ที่เชื่อว่าอาจมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคหัวใจ มะเร็งชนิดต่าง ๆ หรือรักษาการติดเชื้อ คุณประโยชน์ของสารอาหารที่พบในส้มแดงนั้นจึงอาจลดไขมันในเลือดได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งลองศึกษาสรรพคุณของส้มเนื้อแดงที่ช่วยลดความเสี่ยงกลุ่มอาการเมตาบอลิก พบว่าน้ำส้มแดงมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบและอนุมูลอิสระ รวมทั้งลดระดับไขมันซึ่งอาจป้องกันการเกิดกลุ่มอาการป่วยดังกล่าว โดยผู้ที่ดื่มน้ำส้มแดงติดต่อกัน 8 สัปดาห์ มีระดับไขมันไม่ดีและโปรตีนที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย (C-Reactive Protein) ลดลง และมีระดับการต้านอนุมูลอิสระภายในร่างกายเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกตินั้นมีภาวะดื้ออินซูลินและค่าความดันโลหิตสูงสุดขณะหัวใจบีบตัวลดลง  

นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นได้ศึกษาเปรียบเทียบคุณประโยชน์ของน้ำส้มที่มีปริมาณกากใยต่างกันอันส่งผลต่อระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหาร โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเพศชายจำนวน 36 ราย รับประทานอาหารไขมันสูงควบคู่กับน้ำส้มแบบต่าง ๆ ได้แก่ น้ำส้มแท้ปราศจากเนื้อส้ม น้ำส้มเพิ่มกากใย 5.5 กรัม น้ำส้มคั้นสด หรือเครื่องดื่มทดแทนผสมน้ำตาล พร้อมเข้ารับการตรวจเลือด พบว่าน้ำส้มที่มีกากใยสูงส่งผลให้ระดับกลูโคสและอินซูลินเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดและพุ่งขึ้นช้าหลังรับประทานอาหาร

อย่างไรก็ตาม ผลไม้ชนิดนี้อาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วน เนื่องจากผู้ประสบภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกินนั้นไม่ได้มีน้ำหนักตัวลดลงหลังรับประทานส้ม ดังปรากฏในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่าผู้ประสบภาวะอ้วนเพศหญิงบริโภคน้ำส้มแดงวันละ 500 มิลลิลิตร เป็นเวลา 12 สัปดาห์ มีระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดและไขมันไม่ดีลดลง แต่ไม่ปรากฏความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวแต่อย่างใด อาจกล่าวได้ว่าน้ำส้มแดงไม่ใช่อาหารที่ช่วยป้องกันภาวะอ้วน หรือกลุ่มอาการเมตาบอลิกได้อย่างชัดเจน

สอดคล้องกับผลการทดลองของงานวิจัยอีกชิ้น โดยแบ่งผู้ป่วยภาวะอ้วนจำนวน 78 ราย ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่บริโภคน้ำส้มร่วมกับการจำกัดแคลอรี่อาหาร และกลุ่มที่จำกัดแคลอรี่อาหารเพียงอย่างเดียว พบว่าผู้ป่วยที่ดื่มน้ำส้มควบคู่กับการจำกัดปริมาณแคลอรี่มีระดับอินซูลินลดลงร้อยละ 18 ระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดและไขมันไม่ดีลดลงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับอีกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มกลับไม่ปรากฏความแตกต่างของน้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย มวลกล้ามเนื้อ ไขมันในร่างกาย และสัดส่วนระหว่างเอวกับสะโพก น้ำส้มอาจช่วยลดภาวะดื้ออินซูลิน ไขมัน หรือการอักเสบในร่างกาย แต่ไม่ได้ช่วยลดน้ำหนัก

ต้านอนุมูลอิสระ

สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันหรือชะลอการทำลายเซลล์ในร่างกาย โดยสารอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมีหลายอย่าง เช่น เบต้าแคโรทีน ไลโคปีน วิตามินเอ วิตามินซี หรือวิตามินอี ผักและผลไม้อุดมไปด้วยสารดังกล่าว อีกทั้งยังปรากฏหลักฐานที่กล่าวว่าการบริโภคผักและผลไม้อาจลดความเสี่ยงของโรคบางอย่าง ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าปัจจัยใดที่ทำให้เสี่ยงป่วยเป็นโรคต่าง ๆ น้อยลง

ส้มได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ประเด็นนี้ได้มีการทำวิจัยขึ้นมา โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเพศชายที่อายุมากกว่า 50 ปี และมีไขมันไม่ดีในระดับที่เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ดื่มน้ำส้มวันละ 200 มิลลิลิตร เป็นเวลา 4 สัปดาห์ และเว้นเวลาล้างยา 5 สัปดาห์ แล้วบริโภคเครื่องดื่มที่เป็นยาหลอกอีก 4 สัปดาห์ รวมทั้งเข้ารับการตรวจการทำงานของหลอดเลือด ระดับสารอนุมูลอิสระ ไขมันในร่างกายและอาการอักเสบ พบว่าร่างกายผู้ป่วยมีระดับการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นในช่วงที่ดื่มน้ำส้ม อีกทั้งมีแนวโน้มลดการทำลายผนังหลอดเลือด

เช่นเดียวกับงานวิจัยที่ผ่านมา ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพการต้านอนุมูลอิสระในร่างกายของผู้ที่ดื่มน้ำเปล่า เครื่องดื่มกลูโคส หรือน้ำส้มร่วมกับอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง พบว่า ผู้ที่ดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มกลูโคสมีระดับสารอนุมูลอิสระและการอักเสบในร่างกายมากขึ้นหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง ส่วนผู้ที่ดื่มน้ำส้มไม่ปรากฏความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหลังรับประทานอาหาร นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นได้ให้ผู้ที่ประสบภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานดื่มน้ำส้มที่มีโพลีฟีนอลระดับปกติหรือมีความเข้มข้นสูง พบว่า การดื่มน้ำส้มทั้ง 2 แบบช่วยป้องกันการทำลายดีเอ็นเอและป้องกันเซลล์ถูกทำลาย รวมทั้งทำให้น้ำหนักตัวลดลงในกลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่

น้ำส้มอาจช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ แต่อาจต้องอาศัยปัจจัยอื่นร่วมด้วย งานวิจัยหนึ่งได้ให้ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ดื่มน้ำส้มควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ และกลุ่มทดลอง พบว่าผู้ที่บริโภคน้ำส้มมีระดับคอเลสเตอรอลท้ังหมด ไขมันไม่ดี และสารอนุมูลอิสระลดลง ส่วนผู้ที่มีระดับเอนไซม์ตับอักเสบสูงก็หลั่งเอนไซม์ดังกล่าวออกมาน้อยลงหลังดื่มน้ำส้ม ถึงอย่างนั้น ก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าน้ำส้มใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี เนื่องจากผลการศึกษานี้เป็นการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งผู้ที่เข้าร่วมการทดลองยังรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสของโรคดังกล่าวขณะที่เข้าร่วมการทดลอง

บำรุงหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจและหลอดเลือดคือปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือด มักเกี่ยวข้องกับภาวะไขมันอุดตันหลอดเลือด การเกิดลิ่มเลือด หรือหลอดเลือดและอวัยวะบางส่วนอย่างสมอง หัวใจ ไต หรือดวงตาถูกทำลาย พฤติกรรมการใช้ชีวิตและปัญหาสุขภาพบางอย่างล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ เคลื่อนไหวร่างกายน้อย น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือประสบภาวะอ้วน โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น เลิกบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักตัว และเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันให้น้อยลง รวมทั้งเน้นผักผลไม้มากขึ้น

ส้มถือเป็นผลไม้อีกอย่างที่ผู้คนเชื่อว่าช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ประเด็นนี้ได้มีการทบทวนงานวิจัย พบว่าการบริโภคอาหารฟลาโวนอยด์สูงเกี่ยวเนื่องกับอัตราการเสี่ยงและเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ลดลง โดยเฉพาะฟลาโวนอยด์จากผลไม้ตระกูลส้ม เช่น ส้ม เลมอน หรือเกรปฟรุต จัดเป็นสารอาหารที่มีสรรพคุณทางยา อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม สารฟลาโวนอยด์ในส้มอาจไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด โดยงานวิจัยที่ผ่านมาได้ศึกษาคุณประโยชน์ของส้มที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดของผู้ที่เสี่ยงเกิดโรคดังกล่าว พบว่าผู้ที่ดื่มน้ำส้มร่วมกับอาหารเสริมเฮสเพอริดีนมีระดับความเข้มข้นของสารฟลาโวนอยด์และฟีโนลิกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ปรากฏความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ประเด็นนี้จึงต้องทำการศึกษาระยะยาวต่อไป เพื่อดูว่าการบริโภคฟลาโวนอยด์ปริมาณสูงจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดได้จริงหรือไม่

รับประทานส้มอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์

ผู้คนทุกเพศทุกวัยรับประทานส้มได้ ส่วนผู้ที่ต้องการรับประทานส้มเพื่อหวังผลทางการรักษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ นั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากสารอาหารบางอย่างของส้มอาจส่งผลต่อโรคหรือยาที่ใช้รักษาปัญหาสุขภาพนั้นได้ อีกทั้งยังไม่ปรากฏข้อมูลน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการบริโภคส้มสำหรับรักษาอาการป่วยอย่างเพียงพอและครอบคลุม สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรรับประทานหรือใช้ส่วนประกอบของส้มสำหรับสรรพคุณทางยาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้ส้มสำหรับผู้ตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ชัดเจนนัก