วาซาบิ เผ็ดร้อนลดไขมัน ป้องกันโรค

วาซาบิ เป็นเครื่องปรุงรสเผ็ดร้อนที่มีกลิ่นฉุน และอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญอย่างโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย จึงเชื่อว่าการบริโภควาซาบิอาจดีต่อสุขภาพในหลายด้าน เช่น ช่วยลดความอ้วน ป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษ ป้องกันฟันผุ และป้องกันโรคมะเร็ง เป็นต้น

วาซาบิ

วาซาบิทำจากการบดต้นวาซาบิซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นของประเทศญี่ปุ่น คนนิยมนำวาซาบิมารับประทานคู่กับปลาดิบหรือข้าวปั้น และในปัจจุบันวาซาบิยังถูกนำมาแปรรูปเป็นผงปรุงรสหรือส่วนประกอบในอาหารและขนมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติและความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยวาซาบิปริมาณ 100 กรัมจะให้พลังงานประมาณ 292 แคลอรี่ และให้สารอาหารจำพวกโปรตีน ไฟเบอร์ แคลเซียม โพแทสเซียม โซเดียม วิตามินอี และวิตามินเค รวมถึงสารอัลลิลไอโซไทโอไซยาเนท (Allyl Isothiocyanate) ที่อาจช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปากและบริเวณอื่น ๆ ในร่างกายได้ ดังนั้น นอกจากเพิ่มรสชาติความอร่อยในอาหาร หลายคนจึงเลือกรับประทานวาซาบิเพราะเชื่อว่ามีคุณประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่ดีต่อร่างกาย

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนพิสูจน์ถึงคุณสมบัติของวาซาบิไว้ ดังนี้

ลดความอ้วน ภาวะอ้วนทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ จากการที่มีไขมันส่วนเกินสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมาก และเนื่องจากวาซาบิมีรสเผ็ด หลายคนจึงเชื่อว่ารสเผ็ดร้อนของวาซาบิอาจช่วยเผาผลาญไขมันต่าง ๆ ในร่างกายซึ่งช่วยลดความอ้วนได้

มีงานวิจัยหนึ่งให้หนูทดลองกลุ่มหนึ่งบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงพร้อมกับสารสกัดจากใบของต้นวาซาบิ ในขณะที่ให้อีกกลุ่มหนึ่งบริโภคอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 120 วันเท่ากัน พบว่าการบริโภคสารสกัดจากใบของต้นวาซาบิอาจช่วยยับยั้งการเกิดภาวะอ้วนจากอาหารที่มีไขมันสูงในหนูทดลองได้ โดยยับยั้งการสะสมไขมันในตับและเนื้อเยื่อไขมัน

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งได้แบ่งหนูทดลองที่มีระบบการเผาผลาญอาหารผิดปกติออกเป็น 2 กลุ่ม โดยให้กลุ่มแรกบริโภคสารสกัดจากใบวาซาบิ และให้กลุ่มที่ 2 บริโภคอาหารชนิดอื่นในปริมาณ 4 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกวันเป็นเวลา 6 สัปดาห์เท่ากัน ผลการทดลองพบว่า หนูทดลองที่บริโภคสารสกัดจากวาซาบิมีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลงมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น ไม่ได้ทดลองกับมนุษย์โดยตรง จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าวาซาบิช่วยลดความอ้วนในมนุษย์ได้จริงหรือไม่และปลอดภัยเพียงใด ดังนั้น ควรศึกษาเพิ่มเติมและทดลองใช้วาซาบิกับมนุษย์ เพื่อยืนยันสมมติฐานด้านนี้ให้ชัดเจนและนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป

ป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษ ภาวะอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งในวาซาบิมีสารอัลลิลไอโซไทโอไซยาเนทที่มีงานวิจัยพบว่าอาจมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียบางชนิดได้

โดยมีงานวิจัยหนึ่งทดลองใช้วาซาบิชนิดผงกับเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E. Coli) และเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (S. Aureus) ที่มักปนอยู่ในอาหารและเป็นสาเหตุของภาวะอาหารเป็นพิษ พบว่าสารอัลลิลไอโซไทโอไซยาเนทในผงวาซาบิอาจช่วยป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษได้โดยการออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้ทั้ง 2 ชนิดอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกงานวิจัยหนึ่งได้ทำการศึกษาในห้องทดลองเช่นกัน โดยใช้วาซาบิปริมาณ 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร กับเชื้อแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อนในอาหารจนก่อให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ คือ เชื้ออีโคไล เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส เชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas Aeruginosa) และเชื้อลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) พบว่าสารอัลลิลไอโซไทโอไซยาเนทในวาซาบิอาจช่วยป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษได้ โดยการยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย

แม้ผลการทดลองจากงานวิจัยบางส่วนจะเผยว่า วาซาบิอาจช่วยป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ แต่งานค้นคว้าเหล่านั้นเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลอง จึงไม่สามารถสรุปประสิทธิผลของวาซาบิในด้านนี้ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ควรค้นคว้าและทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อนำหลักฐานที่ได้มาพิสูจน์ให้แน่ชัดก่อนนำวาซาบิไปใช้เป็นอาหารหรืออาหารเสริมเพื่อป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษ

ป้องกันฟันผุ สาเหตุหลักของปัญหาฟันผุ คือ แบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งในวาซาบิมีสารไอโซไทโอไซยาเนทที่อาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ โดยมีงานวิจัยหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่นศึกษาในด้านนี้แล้วพบว่า สารไอโซไทโอไซยาเนทในวาซาบิอาจมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัสมิวแทนส์ (Streptococcus Mutans) ที่ทำให้เกิดฟันผุได้

แม้กระทรวงสาธารณสุขไทยเผยว่า วาซาบิมีสรรพคุณทางยาที่อาจนำไปประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสมของยาสีฟันเพื่อป้องกันปัญหาฟันผุได้ในอนาคต แต่ขณะนี้ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาคุณประโยชน์ของวาซาบิต่อการป้องกันฟันผุเพียงจำนวนน้อยเท่านั้น จึงไม่อาจสรุปได้ว่าวาซาบิมีสรรพคุณดังกล่าวจริง และควรศึกษาเพิ่มเติม เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพช่องปากต่อไป

ป้องกันโรคมะเร็ง มะเร็งเป็นโรคร้ายที่อาจอันตรายถึงชีวิต ซึ่งเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อเจริญเติบโตผิดปกติและลุกลามไปตามบริเวณต่าง ๆ ในร่างกายจนอาจทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงตามมา หลายคนจึงพยายามรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคนี้ เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์รวมถึงวาซาบิ เพราะมีงานวิจัยบางส่วนศึกษาในด้านนี้แล้วพบว่า สารประกอบต่าง ๆ ในวาซาบิอาจมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งตับอ่อนในมนุษย์ได้

นอกจากนี้ มีงานวิจัยหนึ่งใช้สารสกัดจากวาซาบิที่ระดับความเข้มข้น 60 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร กับตัวอย่างเซลล์มะเร็งของมนุษย์แล้วพบว่า สารสกัดจากวาซาบิอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ผลลัพธ์จากงานวิจัยเหล่านี้ได้ชี้ว่าวาซาบิอาจช่วยป้องกันมะเร็งบางชนิดได้ แต่งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาจากเซลล์มะเร็งในห้องทดลองเท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าวาซาบิช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในมนุษย์ได้จริงหรือไม่และปลอดภัยเพียงใด ดังนั้น ควรศึกษาวิจัยโดยทดลองใช้วาซาบิในมนุษย์ เพื่อยืนยันสมมติฐานด้านนี้ให้ชัดเจนและเป็นประโยชน์ทางการรักษาหรือป้องกันโรคมะเร็งได้ต่อไป

ข้อควรระวังในการบริโภควาซาบิ

แม้วาซาบิมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากมายและคนทั่วไปสามารถรับประทานวาซาบิได้โดยไม่เกิดอันตรายหากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยในการบริโภควาซาบิเพื่อการรักษาหรือป้องกันโรคได้อย่างชัดเจน ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากวาซาบิ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้เพียงพอที่จะยืนยันความปลอดภัยในการรับประทานวาซาบิขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของตนเองและทารก คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภควาซาบิไปก่อนในระยะนี้
  • มีภาวะเลือดออกผิดปกติ วาซาบิอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติเกิดรอยช้ำหรือมีเลือดออกได้ง่าย และวาซาบิอาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติระหว่างผ่าตัดได้ จึงควรงดบริโภควาซาบิอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนรับการผ่าตัด