การวินิจฉัย วัณโรค
การวินิจฉัยวัณโรค สามารถทำได้ดังนี้
การวินิจฉัยด้วยตนเอง - วัณโรคไม่สามารถวินิจฉัยด้วยตัวเองได้หากอยู่ในระยะแฝง จะสามารถสังเกตความผิดปกติได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในระยะแสดงอาการแล้วเท่านั้น ซึ่งถ้าหากมีอาการเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์
การวินิจฉัยโดยแพทย์ - เมื่อไปพบแพทย์ ในขั้นแรกแพทย์จะตรวจดูลักษณะของต่อมน้ำเหลืองว่ามีอาการบวมหรือไม่ ร่วมกับการใช้อุปกรณ์สเต็ตโทสโคป (Stethoscope) ซึ่งมีลักษณะเป็นหูฟังเพื่อฟังเสียงการทำงานของปอดในขณะที่หายใจ
จากนั้นแพทย์อาจมีการตรวจเบื้องต้นด้วยวิธีการตรวจคัดกรองวัณโรค (Purified Protein Derivative: PPD) ที่จะสามารถบอกได้ว่าร่างกายมีเชื้อวัณโรคหรือไม่ ซึ่งวิธีนี้มักจะใช้กับเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรคมาก่อน โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่หากได้รับผลเป็นบวก ก็แปลว่ามีโอกาสที่วัณโรคจะลุกลามได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนการตรวจด้วยวิธี PPD จะไม่ได้ผลที่เป็นประโยชน์มากนัก เนื่องจากผลที่ออกสามารถเป็นผลลวงได้ โดยวิธีการตรวจคือแพทย์จะฉีดยาซึ่งเป็นโปรตีนสารสกัดจากเชื้อวัณโรคใต้ชั้นผิวหนังบริเวณท้องแขน และจะปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 48-72 ชั่วโมง หลังจากนั้น หากตรวจแล้วพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่บริเวณรอยฉีดยา แพทย์ก็จะสรุปว่าผู้ป่วยมีเชื้อวัณโรคหรือ/และจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เนื่องจากวิธีการตรวจทางผิวหนังอาจให้ผลลวงได้ เช่น ผลที่ออกมาเป็นบวกอาจไม่ได้แปลว่าป่วยเป็นวัณโรค และผลที่ออกมาเป็นลบ ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นวัณโรค จึงต้องใช้วิธีอื่นตรวจเพื่อยืนยัน นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติที่ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อวัณโรคแต่ผลออกมาเป็นว่าไม่ติดเชื้อ แพทย์ก็อาจสั่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อความแน่ใจได้เช่นกัน
เมื่อการตรวจทางผิวหนังไม่สามารถบอกอะไรได้ชัดเจนนัก การตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ซึ่งมีความซับซ้อนก็จำเป็นต้องถูกนำเข้ามาใช้เพื่อระบุโรคให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยที่แพทย์ใช้มีดังนี้
- การตรวจเลือด เป็นการตรวจที่จะช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีเชื้อวัณโรคในร่างกายหรือไม่ อีกทั้งยังช่วยยืนยันได้อีกว่าเชื้อวัณโรคนั้นอยู่ในระยะแฝงหรือระยะแสดงอาการ
- การตรวจหาเชื้อวัณโรคในระยะแฝง (Interferon Gamma Release Assay: IGRA) เป็นวิธีการตรวจหาเชื้อวัณโรคที่อยู่ในระยะแฝง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยมีเชื้อวัณโรคภายในร่างกายหรือไม่
- การเอกซเรย์ปอด วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของปอด หรือสภาพของปอดในขณะนั้นได้ ช่วยบ่งบอกว่าเป็นวัณโรคปอดหรือไม่
- การตรวจเสมหะ เมื่อการเอกซเรย์ปอดยีนยันผลได้แล้ว แพทย์จะสั่งตรวจเสมหะเพิ่มเติมโดยวิธีการตรวจนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือวิธีตรวจเชื้อด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นวิธีการตรวจแบบพื้นฐานที่สามารถระบุเชื้อวัณโรคได้ และสามารถตรวจได้ทั้งในโรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อีกวิธีหนึ่งคือวิธีเพาะเชื้อ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถสั่งจ่ายยาที่ให้ผลในการรักษาที่ดีที่สุดได้ โดยการตรวจนี้จะกินเวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ จึงจะสามารถทราบว่ายาชนิดใดดีที่สุดกับผู้ป่วย
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการอัลตราซาวด์ การตรวจด้วยวิธีซีทีสแกน (CT Scan) เอ็มอาร์ไอ (MRI) หรืออัลตราซาวด์จะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อวัณโรคตามอวัยวะต่าง ๆ ได้
- การตรวจด้วยการส่องกล้อง (Endoscopy) การส่องกล้องมักจะใช้กับผู้ป่วยวัณโรคที่มีอาการแสดงที่อวัยวะอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เห็นร่องรอยของการติดเชื้อวัณโรคได้
- การตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อ (Biopsy) แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากบริเวณที่มีอาการของวัณโรคไปตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- การตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของวัณโรคที่สมองและระบบประสาท การเจาะน้ำไขสันหลังจะช่วยให้แพทย์ยืนยันผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น