มะเร็งช่องคลอด (Vaginal Cancer)

ความหมาย มะเร็งช่องคลอด (Vaginal Cancer)

มะเร็งช่องคลอด (Vaginal Cancer) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดช่องคลอด ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างมดลูกและอวัยวะเพศหญิงภายนอก โดยมะเร็งชนิดนี้ส่วนใหญ่มักไม่ได้เกิดขึ้นที่ช่องคลอดเป็นแห่งแรก แต่มักเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของมะเร็งจากบริเวณใกล้เคียง เช่น บริเวณปากมดลูก หรือบริเวณอวัยวะเพศหญิงภายนอก เป็นต้น

มะเร็งช่องคลอดแบ่งได้เป็นหลายชนิดตามชนิดของเซลล์ที่เกิดมะเร็ง โดยชนิดที่มักพบได้ คือ ชนิดสะแควมัส เซลล์ (Squamous Cell Carcinoma) ที่มะเร็งจะเริ่มเกิดกับเซลล์บริเวณช่องคลอด และชนิดอะดิโนคาร์ซิโนม่า (Adenocarcinoma) ที่มะเร็งจะเริ่มเกิดกับเซลล์ต่อมในช่องคลอด นอกจากนี้ ชนิดของมะเร็งจะส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของมะเร็งและวิธีการรักษาแตกต่างกันไปด้วย

มะเร็งช่องคลอด (Vaginal Cancer)

อาการของมะเร็งช่องคลอด

มะเร็งช่องคลอดในระยะแรกเริ่มมักไม่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ ทางร่างกาย แต่เมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามหรือมีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยมะเร็งช่องคลอดอาจพบอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น

  • มีเลือดออกบริเวณช่องคลอดโดยไม่ใช่เลือดประจำเดือน 
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  • มีตกขาวหรือของเหลวที่มีกลิ่นเหม็นผิดปกติไหลออกมาจากช่องคลอด
  • พบก้อนเนื้อภายในช่องคลอด
  • รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะหรือขับถ่าย
  • ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
  • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม อาการในข้างต้นอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นได้ ไม่ใช่มะเร็งช่องคลอดเสมอไป จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะการตรวจพบมะเร็งช่องคลอดแล้วได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและชะลอการลุกลามของมะเร็งได้

สาเหตุของมะเร็งช่องคลอด

มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากการที่เซลล์แบ่งตัวมากผิดปกติจนเกิดเป็นก้อนเนื้อ และลุกลามไปยังอวัยวะบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ในกรณีของมะเร็งช่องคลอด การแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณช่องคลอด และยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่พบ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • อายุที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมะเร็งช่องคลอดมักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติการเกิดโรคบางชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งอวัยวะเพศภายนอก การติดเชื้อเอชพีวี (HPV) การติดเชื้อไวรัสเริมหรือเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) และภาวะ Vaginal Intraepithelial Neoplasia ซึ่งเซลล์ในช่องคลอดจะมีลักษณะผิดปกติไป เป็นต้น
  • มีประวัติการได้รับสารจากยาไดอีธีลสติลเบสทรอล (Diethylstilbestrol) ขณะอยู่ในครรภ์ 
  • การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) หรือป่วยเป็นโรคเอดส์
  • การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
  • การสูบบุหรี่ 
  • การมีคู่นอนหลายคน 

การวินิจฉัยมะเร็งช่องคลอด

แพทย์จะตรวจเบื้องต้นจากการสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกายและการตรวจภายใน (Pelvic Exam) เพื่อตรวจดูความผิดปกติบริเวณอวัยวะเพศและช่องคลอด ซึ่งอาจพบก้อนเนื้อและสัญญาณอื่น ๆ ของโรค รวมถึงจะมีการเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกและช่องคลอดไปตรวจหาสิ่งผิดปกติ (Pap Test)

นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่ากล้องคอลโปสโคป (Colposcope) เพื่อตรวจบริเวณช่องคลอด และอาจมีการตัดเนื้อเยื่อตัวอย่างบริเวณช่องคลอดไปส่งตรวจ เพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ  

หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งช่องคลอด แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อดูความรุนแรงหรือการลุกลามของมะเร็ง และนำผลที่ได้ไปพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม เช่น การเอกซเรย์ (X–Ray) ซีทีสแกน (CT Scan) เอ็มอาร์ไอสแกน (MRI Scan) เพทสแกน (PET Scan) หรือการส่องกล้องตรวจดูภายในร่างกาย เป็นต้น

การรักษามะเร็งช่องคลอด

ในการรักษามะเร็งช่องคลอด แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งชนิดของเซลล์ที่เกิดมะเร็ง ความรุนแรงหรือการลุกลามของมะเร็ง และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการรักษา โดยวิธีที่แพทย์อาจใช้ เช่น

  • การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ในกรณีที่ไม่รุนแรง แพทย์อาจผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งร่วมกับเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงเล็กน้อย แต่หากมะเร็งมีการลุกลาม แพทย์อาจต้องผ่าตัดนำเนื้อเยื่อช่องคลอดบางส่วนหรือทั้งหมด หรืออวัยวะบริเวณใกล้เคียงบางส่วนออกไปด้วย เช่น มดลูก รังไข่ ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่  
  • การใช้รังสีรักษา (Radiation Therapy) เป็นวิธีที่แพทย์จะฉายแสงเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง
  • การใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy) วิธีนี้อาจไม่สามารถรักษามะเร็งช่องคลอดได้โดยตรง แต่จะช่วยเสริมให้การรักษาด้วยวิธีรังสีรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

ในกรณีที่มะเร็งมีความรุนแรงหรือลุกลามไปยังอวัยวะบริเวณอื่นจนไม่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาจะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ทุกข์ทรมาน

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งช่องคลอด

มะเร็งช่องคลอดอาจมีการลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ปอด ตับ หรือกระดูก ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในที่สุด

การป้องกันมะเร็งช่องคลอด

เนื่องจากทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด การป้องกันมะเร็งช่องคลอดอาจทำได้ยาก ในเบื้องต้นอาจลดความเสี่ยงได้โดยการปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้

  • ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจภายใน และตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV Vaccine)
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
  • รักเดียวใจเดียว ไม่มีคู่นอนบ่อยหลายคน
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่