มดลูกหย่อน (Prolapsed Uterus)

ความหมาย มดลูกหย่อน (Prolapsed Uterus)

มดลูกหย่อน (Prolapsed Uterus) หรือมดลูกต่ำ (Pelvic Organ Prolapse) คือภาวะที่มดลูกหย่อนหรือเลื่อนหลุดลงต่ำมาอยู่ที่บริเวณช่องคลอด โดยอาการจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง เช่น อาการรู้สึกหน่วงที่อุ้งเชิงกราน มีเนื้อเยื่อโผล่มาจากช่องคลอด มีตกขาวมากขึ้น มีเลือดออกจากช่องคลอด

โดยปกติแล้วมดลูกซึ่งเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงจะมีตำแหน่งอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน มดลูกมีรูปร่างคล้ายลูกแพร์กลับด้าน ซึ่งจะมีกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อคอยยึดมดลูก ลำไส้ ช่องคลอด และกระเพาะปัสสาวะให้อยู่กับที่ โดยมดลูกหย่อนจะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อเหล่านี้ได้รับความเสียหาย หรืออ่อนแอลงจนไม่สามารถยึดมดลูกได้อยู่

มดลูกหย่อน

สาเหตุของมดลูกหย่อน

ภาวะมดลูกหย่อนเกิดจากกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่รองรับอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานนั้นเสื่อมสภาพลง โดยปัจจัยหรือสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าวก็เช่น

  • อายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานมักเสื่อมสภาพหรือไม่แข็งแรงเมื่ออายุมากขึ้น จนส่งผลให้เกิดภาวะมดลูกหย่อนได้
  • การคลอดบุตร ผู้ที่เคยคลอดบุตร โดยเฉพาะผู้ที่คลอดลำบาก คลอดทารกหลายคนในคราวเดียว หรือคลอดทารกที่มีขนาดตัวใหญ่มาก อาจเสี่ยงเกิดภาวะมดลูกต่ำได้
  • วัยทอง ผู้ที่เข้าวัยทองจะสูญเสียมวลเนื้อเยื่อ รวมทั้งยังมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีหน้าที่ช่วยให้กล้ามเนื้อที่ยึดมดลูกแข็งแรงลดลง
  • น้ำหนักตัวมาก ผู้ที่น้ำหนักตัวมากจากโรคอ้วนหรือมีเนื้องอกในมดลูก (Fibroids) ซึ่งไม่ใช้เนื้อร้าย หรือเกิดซีสต์ที่รังไข่ อาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานถูกถ่วงให้ตึง
  • กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan Syndrome) ซึ่งส่งผลต่อหลอดเลือด ดวงตา และกระดูก และโรคหนังยืดผิดปกติ อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อในร่างกายเสื่อมสภาพลง จนนำไปสู่ภาวะมดลูกหย่อนได้
  • ภาวะกระเพาะปัสสาวะหย่อน (Cystocele) กระเพาะปัสสาวะหย่อนมาที่ช่องคลอด อาจส่งให้ผนังมดลูกด้านบนส่วนหน้าเกิดเคลื่อนได้
  • ภาวะลำไส้ส่วนบนหรือลำไส้เล็กหย่อน (Enterocele) หากลำไส้เล็กบางส่วนหย่อนลงมาที่ช่องคลอด อาจส่งผลให้ผนังมดลูกด้านบนส่วนหลังเคลื่อนได้
  • ปัญหาลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหย่อน (Rectocele) หากลำไส้ตรงหย่อนลงมาที่ช่องคลอด อาจส่งผลให้ผนังมดลูกด้านล่างส่วนหลังเกิดเคลื่อนได้
  • ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้เกิดแรงกดบริเวณท้องมากขึ้น เช่น ภาวะหลอดลมอักเสบหรือโรคหอบที่ทำให้เกิดการไอเรื้อรัง ท้องผูกที่ทำให้เกร็งท้องเมื่อออกแรงเบ่ง เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน หรือเกิดการสะสมของเหลวที่ท้อง
  • ผ่าตัดที่อุ้งเชิงกราน ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน เช่น ผ่าตัดมดลูก หรือผ่าตัดรักษากระเพาะปัสสาวะ สามารถเกิดภาวะมดลูกหย่อนได้
  • ยกของหนัก ผู้ที่ต้องยกของหนักมาก ๆ เป็นเวลานาน จะส่งผลต่ออวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน

อาการของมดลูกหย่อน

อาการของภาวะมดลูกหย่อนจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง ในกรณีที่มดลูกหย่อนเพียงเล็กน้อย ผู้ที่ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ส่วนผู้ที่เกิดภาวะมดลูกหย่อนค่อนข้างรุนแรงไปจนถึงรุนแรงมากอาจมีอาการดังนี้

  • รู้สึกหน่วงเหมือนถูกถ่วงที่อุ้งเชิงกราน หรือรู้สึกมีบางสิ่งโผล่ออกมาจากช่องคลอด ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องดันกลับเข้าไปข้างในช่องคลอด รวมทั้งรู้สึกคล้ายนั่งทับลูกบอลเล็ก ๆ
  • มีเนื้อเยื่อโผล่ออกมาจากช่องคลอด หรือมองเห็นมดลูกโผล่ออกมาจากช่องคลอด โดยเฉพาะขณะไอ หรือออกแรง
  • มีเลือดออกจากช่องคลอด
  • มีตกขาวมากขึ้น
  • รู้สึกไม่สบายตัวเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะได้ช้า รู้สึกปัสสาวะไม่สุดและต้องการปัสสาวะตลอดเวลาหรือปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จาม หรือออกกำลังกาย
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบหลายครั้ง
  • ท้องผูก 
  • ปวดหลังส่วนล่าง
  • เดินไม่สะดวก

สัญญาณสำคัญของมดลูกหย่อนที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ที่มีอาการเข่าข่ายภาวะมดลูกหย่อนควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากผู้ที่ประสบภาวะมดลูกหย่อนและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเสี่ยงมีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายและระบบสืบพันธุ์ในระยะยาวได้

การวินิจฉัยมดลูกหย่อน

ในการวินิจฉัยภาวะมดลูกหย่อน แพทย์จะพิจารณาประวัติการรักษาของผู้ป่วยและตรวจอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน โดยการตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะมดลูกหย่อนนั้น มีดังนี้

  • การตรวจอุ้งเชิงกราน โดยแพทย์จะตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยเกิดภาวะมดลูกหย่อนมากน้อยเพียงใด รวมทั้งตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยให้ผู้ป่วยลองขมิบเพื่อหยุดปัสสาวะ
  • การตรวจอื่น ๆ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การทำอัลตราซาวด์เพื่อวินิจฉัยปัญหาอื่นเกี่ยวกับอุ้งเชิงกรานที่เกิดขึ้น 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะร่วมด้วย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะเล็ดเมื่อไอหรือจาม อาจได้รับการตรวจระบบประสาททางเดินปัสสาวะ โดยแพทย์จะสอดท่อเล็ก ๆ เข้าไปที่กระเพาะปัสสาวะเพื่อตรวจการทำงานและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้น

ส่วนผู้ที่เกิดภาวะไตอุดตัน (Ureteral Obstruction) อันเนื่องมาจากมดลูกหย่อนออกมาจากช่องคลอดทั้งหมด อาจได้รับการฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous Pyelogram) เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

การรักษามดลูกหย่อน

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ หรืออาการไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษาใด ๆ ส่วนในกรณีที่แพทย์เห็นว่าควรทำการรักษา แพทย์อาจพิจารณาวิธีการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หรือการฝึกขมิบช่องคลอด (Kegel Exercise) เป็นการออกกำลังกายที่เสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานซึ่งจะช่วยยึดหรือรองรับมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ ซึ่งอาจบรรเทาอาการภาวะมดลูกหย่อนให้ดีขึ้น

ในตอนแรก ผู้ป่วยควรเริ่มจากการทำความเข้าใจกล้ามเนื้ออวัยวะแต่ละส่วนก่อนเพื่อช่วยให้บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเริ่มจากระบุกล้ามเนื้อช่องคลอดด้วยการสอดนิ้วมือหนึ่งหรือสองนิ้วเข้าไปแล้วขมิบ จากนั้นลองฝึกหยุดปัสสาวะด้วยการไม่ปัสสาวะให้หมดเพื่อระบุกล้ามเนื้อท่อปัสสาวะ และฝึกขมิบกล้ามเนื้อทวารหนักเมื่อต้องผายลม

เมื่อทำความเข้าใจและสามารถระบุกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้แล้ว ผู้ป่วยสามารถฝึกขมิบช่องคลอดหรือบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้ ดังนี้

  • ปล่อยกล้ามเนื้อท้อง ก้น และขาตามสบาย ไม่ต้องเกร็ง
  • ลองขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ได้แก่ ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด และช่องทวารหนัก ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที และผ่อนกล้ามเนื้ออีก 5 วินาที หากรู้สึกไม่ถนัด อาจเริ่มจากขมิบค้างไว้ 2 วินาที และผ่อนกล้ามเนื้อ 3 วินาทีก่อน
  • ทำเช่นนี้วันละ 3 รอบ รอบละ 10 ครั้ง

ใส่อุปกรณ์พยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกราน (Vaginal Pessary)

อุปกรณ์พยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกราน (Pessary) มีลักษณะยืดหยุ่น ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดได้พอดีเพื่อพยุงมดลูก ซึ่งมีทั้งแบบใส่ชั่วคราวหรือถาวร อุปกรณ์นี้จะมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายอุปกรณ์พยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานให้เหมาะสมกับสรีระช่องคลอดของผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรทำความสะอาดอุปกรณ์และไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ 

ผ่าตัด

ผู้ป่วยภาวะมดลูกหย่อนระดับค่อนข้างรุนแรงไปจนถึงรุนแรงมักได้รับการผ่าตัด โดยแพทย์จะผ่าตัดภายในช่องคลอดผู้ป่วยหรือผ่าตัดท้องบ้างในกรณีที่จำเป็น 

การผ่าตัดเพื่อรักษามดลูกหย่อนมีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดนำเนื้อเยื่อส่วนอื่นหรือเนื้อเยื่อสังเคราะห์มาปะเนื้อเยื่ออุ้งเชิงกรานส่วนที่สึกหรอ การผ่าตัดมดลูกออก (Hysterectomy) หรือการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (Laparoscopic Surgery) ซึ่งเป็นการผ่าตัดดึงมดลูกให้กลับเข้าตำแหน่งเดิม โดยวิธีการและจุดประสงค์ในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับความต้องการและเงื่อนไขความพร้อมของผู้ป่วยแต่ละราย 

ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน

ผู้ป่วยภาวะมดลูกหย่อนอาจรับการรักษาด้วยยาฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือยาเหน็บช่องคลอด เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนใช้รักษาเฉพาะผู้ป่วยวัยหมดระดูบางรายเท่านั้น

ภาวะแทรกซ้อนจากมดลูกหย่อน

ผู้ป่วยมดลูกหย่อนหรือมดลูกต่ำอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้

  • แผลพุพองหรือฝี ผู้ป่วยที่เกิดภาวะมดลูกหย่อนอย่างรุนแรงอาจเกิดแผลที่มดลูก เนื่องจากผนังมดลูกที่โผล่ออกมาจากช่องคลอดเสียดสีกับเสื้อผ้า ทำให้ช่องคลอดเกิดแผล ทั้งนี้ บางรายอาจเกิดการติดเชื้อที่แผลร่วมด้วย ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก
  • อวัยวะอื่นภายในอุ้งเชิงกรานหย่อน เช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ตรง โดยปัญหากระเพาะปัสสาวะหย่อนจะทำให้ปัสสาวะลำบากและเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ส่วนผู้ที่มีปัญหาลำไส้ตรงหย่อนออกมา จะส่งผลต่อการขับถ่าย

การป้องกันมดลูกหย่อน

ภาวะมดลูกหย่อนอาจป้องกันไม่ได้ในบางกรณี อย่างไรก็ดี ผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะดังกล่าวอาจลดความเสี่ยงได้โดยปฏิบัติ ดังนี้

  • บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่หรือเคยคลอดบุตรมาแล้ว เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ และรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช หรืออาหารที่มีเส้นใยสูงเพื่อป้องกันท้องผูก ซึ่งทำให้ต้องออกแรงเบ่ง เกิดการเกร็งที่ท้องและนำไปสู่ภาวะมดลูกหย่อน
  • เลี่ยงยกของหนักที่ไม่ถูกวิธี เมื่อต้องยกของหนัก ควรออกแรงที่ขา ไม่ลงน้ำหนักไปที่เอวหรือหลัง
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือลดน้ำหนักอย่างเหมาะสมหากอ้วนมากเกินไป
  • ใช้ฮอร์โมนทดแทนเมื่อเข้าสู่วัยทอง
  • รักษาปัญหาสุขภาพเรื้อรังอันนำไปสู่การเกิดภาวะมดลูกหย่อน เช่น โรคหอบ หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง รวมทั้งงดสูบบุหรี่ เนื่องจากปัญหาสุขภาพเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง ซึ่งส่งผลต่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน