ผื่นกุหลาบ

ความหมาย ผื่นกุหลาบ

ผื่นกุหลาบ หรือผื่นขุยกุหลาบ เป็นอาการทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้ผู้ป่วยมีผื่นขึ้นในลักษณะเป็นวงกว้างสีชมพู หรือเป็นจุดรูปไข่ขึ้นตามหน้าอก หน้าท้อง และแผ่นหลัง โดยมักมีอาการคันร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงอายุ 10-35 ปี

1501 ผื่นกุหลาบ Resized

ทั้งนี้ อาการผื่นคันจะปรากฏอยู่ราว 6-9 สัปดาห์ และหายไปเองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาภายในเวลาประมาณ 3 เดือน โรคนี้จึงมีอีกชื่อเรียกว่า โรคผื่น 100 วัน หากเคยเป็นโรคนี้แล้วก็มักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก

อาการของผื่นกุหลาบ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ นำมาก่อน ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เจ็บคอ และปวดตามข้อ จากนั้นจะมีผื่นขึ้น โดยแบ่งอาการออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

  • ผื่นปฐมภูมิ ในช่วงเริ่มแรก ผู้ป่วยจะมีผื่นสีชมพูหรือสีแดง อาจมีรูปร่างกลมหรือเป็นวงรี และมีขุยล้อมรอบปรากฏเป็นปื้นใหญ่โดด ๆ ขนาด 2-10 เซนติเมตร บริเวณหลัง หน้าอก ใบหน้าและคอ บางรายอาจมีผื่นขึ้นบนใบหน้า หนังศีรษะ หรือบริเวณใกล้อวัยวะสืบพันธุ์ โดยอาจเรียกผื่นปฐมภูมินี้ว่า ผื่นแจ้งโรค หรือผื่นแจ้งข่าว (Herald Patch)  
  • ผื่นแพร่กระจาย หลังจากเกิดผื่นปฐมภูมิ ภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ผู้ป่วยจะเกิดผื่นขุยเล็ก ๆ สีชมพูขนาด 0.5-1.5 เซนติเมตร แพร่กระจายบริเวณหน้าอก หน้าท้อง หลัง คอ ต้นขาและต้นแขน ซึ่งอาจมีอาการคันร่วมด้วย โดยผื่นที่เกิดขึ้นนั้นมักมีลักษณะตามแนวรอยพับของผิวหนังคล้ายต้นคริสต์มาส จึงเรียกว่า Christmas Tree Distribution แต่มักไม่พบผื่นนี้ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และใบหน้า

ทั้งนี้ อาการผื่นขุยทั้ง 2 ระยะจะปรากฏอยู่นาน 2-12 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการคงอยู่นานถึง 5 เดือนและหายไปเอง

สาเหตุของผื่นกุหลาบ

สาเหตุของผื่นกุหลาบยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด โดยสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตระกูลเฮอร์ปีส์ (Herpes Virus) แต่ไม่ใช่ไวรัสสายพันธ์ุที่เป็นสาเหตุของโรคเริมและโรคอีสุกอีใส และผื่นกุหลาบไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสผิวหนังที่เป็นโรคได้

นอกจากนี้ การใช้ยาบางประเภทก็อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นขุยกุหลาบได้ เช่น ยาลดความดันโลหิตกลุ่มยาต้านเอนไซม์เอซีอี ยาฆ่าเชื้อเมโทรนิดาโซล ยาไอโซเตรติโนอินที่ใช้รักษาสิว ยาโอเมพราโซลสำหรับรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นต้น   

การวินิจฉัยผื่นกุหลาบ

ในเบื้องต้น แพทย์มักวินิจฉัยผื่นกุหลาบด้วยการตรวจดูผิวหนังบริเวณที่เกิดความผิดปกติ หากยังไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน แพทย์อาจสั่งตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นผื่นแล้วนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเชื้อรา เพราะผู้ป่วยบางรายอาจเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่นที่มีอาการคล้ายผื่นกุหลาบ
  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดแผลหรือผื่นตามร่างกายคล้ายผื่นกุหลาบ
  • ในบางกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผื่นกุหลาบอาจเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูการติดเชื้อเพิ่มเติม  

การรักษาผื่นกุหลาบ

โดยปกติแล้วอาการผื่นกุหลาบมักจะหายไปได้เองภายใน 6-8 สัปดาห์ การรักษาจึงเป็นแบบการประคับประคองตามอาการเป็นหลัก แต่หากอาการคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 เดือน ผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์

วิธีบรรเทาอาการผื่นกุหลาบด้วยตนเองในเบื้องต้น มีดังนี้

  • อาบน้ำด้วยน้ำเย็น และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน
  • ขัดผิวขณะอาบน้ำด้วยข้าวโอ๊ตหรือผลิตภัณฑ์จากข้าวโอ๊ต
  • เลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว และไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อน เพราะสภาพอากาศที่อบอ้าวและการมีเหงื่อออกมากอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจใช้ยาตามร้านขายยาทั่วไปเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน เช่น

  • ครีมแก้คัน ทาครีมที่มีส่วนผสมของยาไฮโดรคอร์ติโซน 1 เปอร์เซ็นต์ บริเวณที่เป็นผื่น
  • ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ เช่น ยาคลอเฟนิรามีน ยาไดเฟนไฮดรามีน เป็นต้น
  • ยารักษาการติดเชื้อรา เช่น อะไซโคลเวียร์ เป็นต้น
  • โลชั่นบำรุงผิว เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวบริเวณที่เกิดผื่น

ทั้งนี้ หากใช้ยาและดูแลตนเองตามวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล มีผื่นแพร่กระจายจำนวนมาก หรือผู้ป่วยมีอาการคันรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโครไลด์ เพื่อช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้น เช่น ยาอิริโทรมัยซิน ยารอกซิโทรมัยซิน เป็นต้น และบางรายอาจต้องรับการรักษาด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB Light Therapy) เพื่อช่วยให้อาการของโรคทุเลาลง

ภาวะแทรกซ้อนของผื่นกุหลาบ

โดยทั่วไปแล้ว ผื่นกุหลาบมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่หากรักษาผิดวิธีก็อาจทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง ส่วนผู้ป่วยที่มีผิวสีคล้ำอาจมีจุดสีน้ำตาลเกิดขึ้นหลังอาการผื่นขุยหายดีแล้ว

การป้องกันผื่นกุหลาบ

แม้ผื่นกุหลาบยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้อย่างแน่ชัด แต่ผู้ป่วยสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลตนเองขณะเป็นผื่น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม เพื่อช่วยระบายความร้อน
  • อาบน้ำด้วยน้ำเย็น และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
  • หมั่นทาโลชั่นหรือเจลปิโตรเลียมให้ผิวชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน