บีทรูทกับประโยชน์ต่อสุขภาพ

บีทรูท เป็นพืชชนิดหนึ่งที่นิยมนำรากซึ่งอยู่ใต้ดินมารับประทาน มีอยู่หลายสายพันธุ์และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามภูมิภาค นิยมนำมากินสด ดอง ปรุงอาหาร เพิ่มสีสันของอาหาร แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และนำไปใช้เป็นยารักษาโรค กล่าวกันว่าบีทรูทช่วยลดระดับไขมันในเลือดบางชนิด ลดความดันโลหิต เสริมสมรรถภาพร่างกายให้แก่นักกีฬา เสริมการทำงานของตับหรือป้องกันโรคตับ รวมทั้งต้านมะเร็ง เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด เช่น ใยอาหาร วิตามินบี 9 โฟเลต แมงกานีส โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินซี เป็นต้น

บีทรูท

นอกจากนี้ บีทรูทยังมีสารประกอบทางเคมีในพืชอีกหลายชนิดที่เป็นสารกลุ่มไนโตรเจน เรียกว่า เบตาเลน (Betalain) ซึ่งจะส่งผลดีต่อร่างกายและทำให้พืชมีสีสันแตกต่างกัน โดยเฉพาะสารบีตาไซยานิน (Betacyanin) ที่ให้สีแดง และสารบีตาแซนทิน (Betaxanthin) ที่ให้สีเหลือง รวมถึงสารให้สีชนิดอื่น ๆ เช่น บีทานิน (Betanin) วูลกา-แซนทิน (Vulgaxanthin) หรือกรดเบทาเลมิก (Betalamic Acid)

คุณค่าทางโภชนาการที่พบในบีทรูทดิบ 100 กรัม

  • น้ำ 88 เปอร์เซ็นต์
  • พลังงาน 43 กิโลแคลอรี่
  • โปรตีน 1.6 กรัม
  • น้ำตาล 6.8 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 2.8 กรัม
  • ไขมันทั้งหมด 0.2 กรัม  
  • กรดไขมันชนิดอิ่มตัว 0.03 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 0.03 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 0.06 กรัม
  • โอเมก้า 3 0.01 กรัม
  • โอเมก้า 6 0.06 กรัม

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของบีทรูทที่เคยได้ยินกันนั้นจะเท็จหรือจริงเพียงใด ฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) ระบุว่าข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาของบีทรูทในปัจจุบันยังมีจำกัด จึงยากต่อการยืนยันประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ประโยชน์ของบีทรูทต่อสุขภาพที่พอจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์กล่าวถึง มีดังนี้

ลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด กล่าวกันว่าสารไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ที่พบในบีทรูทมีสรรพคุณช่วยขยายหลอดเลือดอย่างอ่อน ๆ ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น และยังช่วยลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ง่าย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับอาหารเสริมที่มีสารไนเตรต (Nitrate) และไนไตรต์ (Nitrite) จากธรรมชาติ คาดว่าสารเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นสารไนตริกออกไซด์ในเลือดและทำให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดลดลง โดยได้ศึกษากับกลุ่มผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไปที่มีปัจจัยความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 3 ประการ อันได้แก่ มีความดันโลหิตสูง เป็นโรคอ้วน สูบบุหรี่ มีคอเลสเตอรอลสูง มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นโรคเบาหวาน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรค โดยการทดลองจะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกรับประทานอาหารเสริมจากบีทรูทและผลไม้ชนิดอื่นที่มีสารไนเตรต ส่วนอีกกลุ่มรับประทานยาหลอกในช่วงท้องว่าง วันละ 2 ครั้ง และรับประทานต่อเนื่องกันจนครบ 30 วัน

ผลปรากฏว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมมีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึงประมาณ 72 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการตรวจพบสารไนเตรตและไนไตรต์ในเลือดที่ไปช่วยเพิ่มระดับสารไนตริกออกไซด์ จึงพอจะบอกได้ว่าบีทรูทนั้นอาจมีประโยชน์ต่อการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในคน อย่างไรก็ตาม ควรมีการค้นคว้าหาหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพิ่มเติม เนื่องจากงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาบีทรูทในรูปแบบอาหารเสริมผสมกับผลไม้ชนิดอื่น และไม่ได้เป็นการรับประทานบีทรูทโดยตรง จึงยังไม่อาจสรุปผลที่แน่นอนได้

ลดไขมันในตับ หลายคนเชื่อว่าบีทรูทจะช่วยเสริมการทำงานของตับและลดความเสี่ยงต่อโรคตับ เนื่องจากมีสารบีทานินที่อาจช่วยป้องกันหรือลดการสะสมไขมันในตับ ป้องกันตับจากสารพิษ อีกทั้งยังมีรายงานผลการทดลองในสัตว์และการศึกษานำร่องที่ระบุผลว่าสารบีทานินนี้มีผลต่อการลดไขมันของผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับ ชนิดที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์

จากการศึกษานำร่องถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารบีทานินในผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์จำนวน 10 คน โดยให้รับประทานสารบีทานินในรูปแบบยาน้ำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปี แต่มีเพียง 7 คนจากในผู้ป่วย 10 คนที่อยู่ในการทดลองจนจบ ผลลัพธ์พบว่าค่าเอนไซม์ตับมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหากมีค่าเอนไซม์ในระดับสูงก็จะเป็นตัวบ่งบอกว่าตับอาจมีปัญหา โดยผู้ป่วย 3 คน มีค่าเอนไซม์ตับกลับมาเป็นปกติ อีก 3 คนมีค่าลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และมี 1 คนที่ไม่พบการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในด้านอื่น ๆ แต่อาจเกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารเล็กน้อย จึงคาดว่าสารบีทานินที่พบในบีทรูทอาจช่วยรักษาอาการของผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ให้ดีขึ้น แต่การศึกษานี้ยังเป็นเพียงการวิจัยเบื้องต้นที่มีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น กลุ่มการทดลองมีขนาดเล็ก ไม่อาจระบุความปลอดภัยต่อร่างกาย และผลการศึกษาที่ยังไม่เสถียร

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอีกชิ้นเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของสารบีทานินในผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ จำนวน 34 คน เป็นเวลา 12 เดือน โดยแบ่งผู้ทดลองเป็นกลุ่มที่รับประทานสารบีทานินวันละ 20 กรัม และกลุ่มที่รับประทานยาหลอก ซึ่งจากการตัดชิ้นเนื้อของตับไปตรวจหลังสิ้นสุดการทดลอง พบว่ากลุ่มที่รับประทานสารบีทานินมีระดับไขมันในเซลล์ตับลดลง แต่ไม่เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ซึ่งผลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าสารบีทานินอาจช่วยป้องกันอาการของโรคไม่ให้แย่ลง แต่ไม่ได้ช่วยลดไขมันในตับ แม้ว่าจะมีผลการทดลองในสัตว์ที่ระบุผลว่าบีทรูทอาจช่วยลดไขมันในตับได้ แต่การขยายผลไปยังคนยังต้องการงานวิจัยและค้นคว้าอีกจำนวนมาก เพื่อช่วยยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้

ลดความดันโลหิต บีทรูทเป็นพืชอีกชนิดที่อุดมไปด้วยสารไนเตรตซึ่งกล่าวกันว่ามีคุณสมบัติช่วยลดความดันโลหิต แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการได้รับสารไนเตรตจากการรับประทานอาหารตามปกติจะมีผลเช่นเดียวกันหรือไม่

จากการศึกษาประสิทธิภาพของน้ำบีทรูทต่อการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตในอาสาสมัครหญิง 15 คน และชาย 15 คน ด้วยการแบ่งเป็นกลุ่มที่ดื่มน้ำบีทรูทผสมกับน้ำแอปเปิ้ล 500 กรัม กับกลุ่มที่ดื่มยาหลอก ซึ่งอาสาสมัครทั้งหมดจะได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตก่อนการทดลองและติดตามผลหลังการดื่มน้ำผลไม้ที่กำหนดอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ทั้ง 2 กลุ่มสลับเป็นน้ำผลไม้ของอีกกลุ่มแทน ผลปรากฏว่าทั้ง 2 กลุ่มมีค่าความดันโลหิตซิสโตลิก (Systolic Blood Pressure: SBP) ลดลงในระยะเวลา 6 ชั่วโมง ภายหลังจากได้รับน้ำบีทรูทผสมแอปเปิ้ล และจากการวิเคราะห์ค่าความดันโลหิตของอาสาสมัครชายพบว่าลดลงประมาณ 4-5 มิลลิเมตรปรอท อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มการทดลองที่ใหญ่ขึ้นและควรวิเคราะห์ผลในผู้หญิงเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลของการรับประทานบีทรูทต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิต

นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนงานวิจัยจำนวน 16 ชิ้น เกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารอินออร์แกนิกไนเตรต (Inorganic Nitrate) และอาหารเสริมจากบีทรูทในรูปแบบต่าง ๆ ต่อค่าความดันโลหิต ซึ่งกลุ่มการทดลองในแต่ละการศึกษามีประมาณ 7-30 คน รวมทั้งสิ้น 254 คน และระยะเวลาการศึกษาอยู่ในระหว่าง 2 ชั่วโมง-15 วัน ผลจากการรวบรวมงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าทั้งสารอินออร์แกนิกไนเตรตและน้ำบีทรูทต่างมีความเกี่ยวข้องกับค่าความดันโลหิตซิสโตลิกที่ลดลง ทว่าการศึกษาส่วนใหญ่มีระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด จึงควรมีการศึกษาประสิทธิภาพในระยะยาวเพิ่มเติมก่อนจึงจะยืนยันผลได้

เสริมสมรรถภาพทางร่างกาย การศึกษาหลายชิ้นแนะนำถึงประโยชน์ของสารไนเตรตที่ช่วยเสริมสมรรถภาพทางร่างกาย โดยเฉพาะในระหว่างการออกกำลัง ซึ่งจากการศึกษาประสิทธิภาพของอาหารเสริมที่มีสารไนเตรตต่อการทำงานของร่างกายและการออกกำลังกายในนักวิ่งหรือนักไตรกีฬาจำนวน 8 คน โดยให้อาสาสมัครกลุ่มแรกดื่มน้ำบีทรูทเข้มข้นที่มีสารไนเตรต และอีกกลุ่มดื่มน้ำบีทรูทที่ไม่เติมสารไนเตรต หลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมงจึงเริ่มทดสอบประสิทธิภาพการออกกำลังกายจำนวน 4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะประกอบด้วยการอบอุ่นร่างกาย 10 นาที ตามด้วยการวิ่งบนลู่วิ่งระยะทาง 1,500 เมตรหรือ 10,000 เมตร

ผลการศึกษาดังกล่าวปรากฏว่า การดื่มน้ำบีทรูทเข้มข้นช่วยเพิ่มสารอินออร์แกนิกไนเตรตในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนค่าความดันโลหิตขณะพักและระหว่างการออกกำลังกายของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกันมาก นอกจากนี้ กลุ่มที่ดื่มบีทรูทเข้มข้นยังมีสมรรถภาพการวิ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการวิ่งบนลู่ระยะ 1,500 เมตร แต่ในระยะ 10,000 เมตร กลับไม่พบความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 กลุ่มอย่างชัดเจน การดื่มน้ำบีทรูทเข้มข้นจึงอาจให้ผลดีในการวิ่งระยะใกล้มากกว่าระยะไกล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการศึกษาที่มีกลุ่มทดลองขนาดเล็กและระยะเวลาค่อนข้างสั้น ทำให้ยากต่อการสรุปผลในทันที และควรมีการค้นคว้าเพิ่มเติมหรือรอให้มีหลักฐานที่เพียงพอต่อการระบุประสิทธิภาพต่อไป

การรับประทานบีทรูทให้ปลอดภัย

การรับประทานบีทรูทในปริมาณปกติที่พบได้จากในอาหารค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่อาจทำให้ปัสสาวะและอุจจาระเป็นสีแดงหรือชมพูหลังจากรับประทาน โดยเป็นอาการที่เรียกว่าบีทูเรีย (Beeturia) ซึ่งจะไม่มีอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย ส่วนข้อควรระวังในบุคคลกลุ่มอื่น มีดังนี้

  • การรับประทานบีทรูทเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคควรมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ หากต้องการรับประทานควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • บีทรูทอาจส่งผลให้ระดับแคลเซียมลดต่ำลงและกระทบต่อการทำงานของไต ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับไตหรือระดับแคลเซียมในร่างกายอาจมีอาการแย่ลงได้
  • หญิงที่ตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานบีทรูทในปริมาณมากหรือการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรค เพราะยังไม่มีหลักฐานยืนยันความปลอดภัย
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำไม่ควรดื่มน้ำบีทรูทเป็นประจำ เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ความดันโลหิตลดต่ำลง
  • บีทรูทมีออกซาเลต (Oxalate) อยู่ในปริมาณมาก ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่อาจตกผลึกในปัสสาวะจนกลายเป็นก้อนนิ่ว ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในไต จึงควรดื่มน้ำบีทรูทด้วยความระมัดระวัง
  • บีทรูทมีสาร FODMAPs ในรูปของน้ำตาลฟรุกแทน (Fructan) ที่ช่วยให้แบคทีเรียในลำไส้เติบโต ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียหรือความผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ในบางรายที่ร่างกายมีการตอบสนองไว เช่น ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน