ถามแพทย์

  • ลูกชายอายุุ 4 ขวบ มีไอเยอะมากๆ และไอมานานแล้ว รักษาต่อเนื่องก็ยังไม่หาย

  •  Arisa Pla
    สมาชิก
    สอบถามค่ะลูกชายอายุ 4 ขวบ น้องไอเยอะมากๆ และไอมานานแล้ว รักษาอย่างต่อเนื่องก็ไม่หายไอ หมอที่รักษาก็ไม่บอกว่าน้องเป็นอะไร ให้ยาแก้ไอ ขยายหลอดลม แล้วก็แก้อักเสบ แก้แพ้อีกอย่างค่ะ ถ้าอยากให้เค้าเช็คให้ละเอียดว่าลูกเป็นอะไรจะบอกกับเขายังไงดีค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณแม่

    อาการไอ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มเข้าอนุบาล หรือเนอสเซอรี่ การรักษาจะขึ้นกับการวินิจฉัยโรคค่ะ การไอแบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ ดังนี้

    • ไอเฉียบพลัน คือระยะเวลาที่มีการไอ น้อยกว่า 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน มักเกิดตามหลังการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น ไข้หวัด แต่ถ้าเด็กที่เข้าโรงเรียนที่ไม่มีระบบคัดกรองเด็กป่วย หรือการระบายอากาศไม่เพียงพอ อาจทำให้ติดหวัดได้บ่อย และไอยาวนานได้เช่นกัน แต่มักต้องมีอาการอื่นของโรคหวัดร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล ไข้ต่ำๆ หรือการสำลักสิ่งแปลกปลอม ก็ทำให้มีอาการไอเฉียบพลันได้เช่นกัน
    • ไอเรื้อรัง คือระยะเวลาที่มีการไอ มากกว่า 4 สัปดาห์ มักต้องหาสาเหตุของโรคที่แฝงอยู่ ซึ่งมักเกิดจากโรคดังนี้
    1. ภูมิแพ้ เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ 
    2. ไซนัสอักเสบ มีน้ำมูก กดเจ็บบริเวณไซนัส หรือมีอาการปวดหัวบ่อยๆ
    3. กรดไหลย้อน 
    4. โรคไอกรน มักเกิดในเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนคอตีบ ไอกรน ครบตามกำหนด
    5. โรควัณโรคปอด มักมีประวัติน้ำหนักตกเกณฑ์ มีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นวัณโรค
    6. โรคหัวใจ
    7. โรคปอดและหลอดลม

    ดังนั้น ถ้าน้องมีอาการไอต่อเนื่องมานานมากกว่า 4 สัปดาห์ คุณแม่ควรสังเกตอาการหรือแจ้งประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการรักษาเหล่านี้ให้แก่แพทย์

    • อายุที่เริ่มมีอาการไอ
    • ประวัติวัคซีน
    • ประวัติการเจ็บป่วยในวัยเด็ก หรือแรกเกิด
    • ลักษณะการไอ ไอมีเสมหะหรือไม่
    • ช่วงเวลาที่ไอ เช่น ไอตอนกลางคืน ไอตอนอากาศเย็นหรือสัมผัสฝุ่นละออง อาการไอหายไปตอนหลับ หรืออาการไอที่รุนแรงมากจนรบกวนการนอนและชีวิตประจำวันหรือการไปโรงเรียน ไอเมื่อวิ่งเล่นและดีขึ้นเมื่อหยุดพัก เป็นต้น
    • ประวัติไข้ น้ำมูก หอบ น้ำหนักลด กินข้าวได้น้อย
    • ประวัติคนในครอบครัวสูบบุหรี่ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้าน บ้านใกล้สิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง หรือการเจ็บป่วยไอเรื้อรัง วัณโรค หรือโรคภูมิแพ้
    • ยาที่ใช้เป็นประจำ 

    เมื่อแพทย์ได้ประวัติดังกล่าว จะทำการตรวจร่างกายเพิ่มเติม หรือทำการเอกซเรย์ปอดเพื่อหาความผิดปกติค่ะ แนะนำว่าคุณแม่สามารถแจ้งความกังวลและปรึกษากับแพทย์ผู้ให้การรักษาได้ทันทีนะคะ

    ขอบคุณค่ะ