ถามแพทย์

  • ไหล่หลุดซ้ำ รักษาอย่างไร

  •  Chut Pasintanavee
    สมาชิก
    เคยบาดเจ็บจากการซ้อมกีฬา ตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย จากการชนกันกับเพื่อนร่วมทีม โดยลักษณะการชน เป็นการวิ่งไปรับบอล (กีฬาวอลเล่ย์บอล) เราใช้แขนขวารับแล้วลำตัวด้านข้างไถลเอียงข้างไป เพื่อนวิ่งเข้ามาแย่งแบบไม่พร้อม กลายเป็นแขนเราไปยันกับเท้าเพื่อน ทำให้ข้อตรงหัวไหล่เคลื่อน แต่ไม่ถึงกับไหล่หลุดออกทั้งเบ้า อาการในขณะนั้น แขนจะชามาก เจ็บจี้ดๆแขนเหมือนหมดแรง ก็พยายามใช้นิ้วโป้งดันใต้รักแร้ให้มันเข้าที่ พอมันเข้าที่ แต่ตัวเราแขยงการใช้แขนข้างนั้นไปเลย เคยเข้ารับการรักษาที่ศิริราช ฉีดสี ดูอาการแรกๆ และทานยา คุณหมดแนะนำให้ทำกายภาพ หรือผ่าตัด ตอนนั้นกลัวมาก ไม่อยากผ่าตัด กลัวผ่าแล้วไม่เหมือนเดิม ซึ่งคุณมาก็บอกว่า ผ่าตัดแล้ว ไม่100%นะ ยิ่งทำให้เราไม่เลือกวิธีนี้เลย 24ปีได้มั้งค่ะ ไม่เคยไหล่หลุดอีกเลย กีฬาเราก็เลิกเล่นเลย แต่เมื่อวานอาการแบบนี้กลับมาเป็นอีก ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองเอง เหมือนครั้งแรกเลย นอนดูหนังผิดท่า เหมือนหัวไหล่เคลื่อน เจ็บจี้ดๆ แขนห้อยเหมือนหมดแรง เราก็ใช้นิ้วโป้งอีกข้างดันให้กลับเข้าที่ เจ็บและกลัวมาก กว่ามันจะเข้าที่ คุณหมอเคยบอกเอ็นหัวไหล่น่าจะยืด ต่อจากนี้ไปเราจะมีวิธีบำบัดรักษาต่อไปยังไงคะ เพราะเคยคิดว่าอาการบาดเจ็บอาจจะไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ตอนนี้ไม่ใช่เลย เพราะมันอาจจะกลับมาเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ยิ่งการออกแรงต้านที่หัวไหล่บ่อยๆ กิจกรรมอะไร เราก็ไม่กล้าที่จะทำเลย คุณหมอแนะนำหน่อยนะคะ แล้วถ้าจำเป็นต้องผ่าตัดจริงๆ ต้องเตรียมตัวยังไง. ขอบคุณค่ะ/ ชญาน์ทิพย์

    สวัสดีค่ะ คุณ Chut Pasintanavee

    หากพบว่ามีอาการไหล่หลุด เช่น รูปร่างของไหล่ที่ผิดปกติ มีลักษณะเป็นเหลี่ยมหรือก้อนนูนใต้ผิวหนังและเคลื่อนไหวไหล่ไม่ได้ตามปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ค่ะและไม่ควรพยายามเคลื่อนหัวไหล่กลับตำแหน่งเดิมด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ เอ็น เส้นประสาท เส้นเลือด หรือกล้ามเนื้อในบริเวณรอบข้อไหล่ได้ค่ะ

    นอกจากนั้นแพทย์อาจจะต้องตรวจดูว่ามีการบาดเจ็บของอวัยวะอื่นๆใกล้เคียงหรือไม่ เช่น เอ็นฉีกขาด กระดูกหักร่วมด้วยเป็นต้น การวินิจฉัยแพทย์จะทำการเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีกระดูกหักด้วยหรือไม่ ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องทำการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจความเสียหายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นค่ะ

    จากนั้นจะทำการจัดกระดูกให้เข้าที่ (Manipulation)  โดยอาจต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาชาร่วมด้วย จากนั้นจะทำการใส่อุปกรณ์พยุงอวัยวะ (Immobilization) หลังการจัดกระดูกให้เข้าที่เพื่อลดการเคลื่อนไหวของแขนและข้อไหล่เป็นเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ระยะเวลาในการใส่ที่คล้องแขนจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย

    ส่วนการรักษาโดยการผ่าตัด จะแนะนำให้ทำเพื่อรักษาอาการข้อต่อ เอ็น เส้นประสาท หรือหลอดเลือดฉีกขาดหรือได้รับความเสียหายร่วมด้วย รวมถึงในผู้ที่มีอาการไหล่หลุดบ่อยครั้ง ผู้ที่พบว่ามีกระดูกหักร่วมด้วย ซึ่งผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีจะมีอัตราการเกิดซ้ำของอาการไหล่หลุดได้มากค่ะ  การผ่าตัดจะทำในห้องผ่าตัดและจะมีการให้ยาระงับความรู้สึกระหว่างผ่าตัดค่ะ โดยผ่าตัดแพทย์อาจเลือกทำการผ่าตัดแบบเปิดหรือผ่าตัดแบบส่องกล้อง  สามารถพูดคุยรายละเอียดกับคุณหมอกระดูกที่ดูแลได้เลยค่ะว่าต้องรักษาแบบไหนหลังจากที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดแล้วค่ะ ดังนั้นอยากให้ไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลเพื่อประเมินก่อนค่ะ

    อ่านเพิ่มเติมเรื่องไหล่หลุ่ดได้ที่นี่ค่ะไหล่หลุด

     

     

    Chut Pasintanavee  Chut Pasintanavee
    สมาชิก
    ขอบคุณมากค่ะคุณหมอ สำหรับข้อมูล