ถามแพทย์

  • แฟนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แยกกันอยู่ เขาส่งรูปว่าเขาตกอยู่ในหลุม นั่งคุกเข่าร้องไห้ มีคนหย่อนเชือกมาช่วย จะดีขึ้นไหม คนที่อยู่ด้วยควรปฏิบัติตัวอย่างไร

  •  Nattreya Jeamprakob
    สมาชิก
    แฟนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เขาขอแยกกันอยู่ เพราะเห็นหน้าเรา ก็นึกเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดเรื่อง แล้วกร่อนใจเขาไปเรื่อยๆๆ แต่ล่าสุดเขามีคนชวนออกไปข้างนอก เขาก็ส่งรูปว่าเขาตกอยู่ในหลุม เขายื่นมือเพื่อให้คนช่วย คนด้านบนก็กำลังผูกเชือกเพื่อหยอนลงไปให้เขา แล้วภาพที่ 2 เขานั่งคุกเข่าร้องไห้อยู่ในหลุม คนด้านบนก็ผูกเชื่อก แล้วหย่อนตัวเองลงมาครึ่งหนึงของหลุมนั้น เขาสื่อแบบนี้หมายถึงเขาดีขึ้นไหมคะ แล้วคนที่อยู่กับผู้ป่วยโรคนี้ควรปฏิบัติตัวอย่างไรดีคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Nattreya Jeamprakob,

                            หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ก็ต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาค่ะ ซึ่งมีทั้งการใช้ยา การทำจิตบำบัด การทำพฤติกรรมบำบัด ไม่ควรปล่อยอาการไว้ เพราะโอกาสหายได้เองมีน้อย และหากอาการเป็นมาก อาจถึงขั้นทำร้ายตนเองและทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ค่ะ ทั้งนี้ หากได้รับการรักษา ก็จะมีโอกาสหาย และมีอารมณ์ ความรู้สึกกลับมาเป็นปกติได้ค่ะ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องให้แฟนไปรักษาให้ได้ค่ะ

                           ในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้านั้น ก็จะมีอารมณ์ที่เศร้าสร้อย หดหู่  สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งอย่าง สิ่งที่เคยชอบทำก็ไม่ชอบทำ รู้สึกไม่มีความสุข มองอะไรก็รู้สึกแย่ไปหมด มองเห็นแต่ความผิดพลาดของตนเอง มองไม่เห็นอนาคต หมดหวัง ท้อแท้ รู้สึกตนเองไร้ค่า ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกเป็นภาระกับคนอื่น คิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อยๆ ในบางคนอาจหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อารมณ์ร้อนขึ้น  

                         ดังนั้น การที่ส่งรูปว่าตนเองกำลังตกอยู่ในหลุม นั่งร้องไห้ ไม่มีใครลงมาช่วยได้จริงๆ ก็เป็นการแสดงถึงอารมณ์เศร้า และการที่เป็นภาระกับผู้อื่นค่ะ 

                        การปฏิบ้ติตัวเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ได้แก่ 

                        - การทำความเข้าใจผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังป่วยไม่สบาย  เพื่อลดความคาดหวังของเราต่อตัวเขา

                        - การแสดงว่าตนเองพร้อมที่จะรับฟังปัญหาของผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ แต่ไม่จำเป็นต้องให้คำแนะนำอะไรไป เพราะการที่เขาได้พูดระบายออกมาเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริง และควรให้เขามีเวลาพูดระบายความคับข้องใจออกมาเมื่อเขาต้องการ

                         - ปล่อยให้ผู้ป่วยได้ทำอะไรที่อยากทำ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรปล่อยเขาไปหมด ให้สังเกตช่วงที่เขาพอจะมีอารมณ์แจ่มใสขึ้นมา จึงควรชวนเขาพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ถึงเรื่องที่เขาเคยชอบ เคยสนใจ เพราะเขายังไม่มีสมาธิพอที่จะติดตามเรื่องยาวๆ ได้นาน

                          - ในช่วงที่อาการดีขึ้น  ชวนให้ทำร่วมกิจกรรมที่พอทำได้บ้าง เป็นงานที่ไม่ต้องอาศัยสมาธิมากนัก หากเป็นงานที่มีการเคลื่อนไหว การเคลื่อนที่จะดีกว่างานที่ผู้ป่วยนั่งอยู่เฉย ๆ เพราะการมกิจกรรมจะทำให้ความคิดฟุ้งซ่านและการอยู่กับตัวเองลดลง และอย่าไปบังคับให้เขาทำอะไรโดยที่ยังไม่พร้อม ไม่ว่าจะสิ่งที่เขาชอบหรือกิจกรรมต่าง ๆ

                          - สิ่งที่ไม่ควรพูด ได้แก่ จะเศร้าไปทำไมนักหนากับเรื่องแค่นี้, เข้มแข็งหน่อย เดี๋ยวมันก็ผ่านไป, เรื่องเล็กๆ อดทนหน่อย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ควรพูดกับผู้ป่วย เพราะจะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระ จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยจิตใจตกอยู่ในความทุกข์

                         - เมื่อผู้ป่วยพูดถึงเรื่องอยากตาย อย่าบอกว่า “อย่าคิดมาก” เลิกคิดเถอะ” หรือ “อย่าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น” เพราะคำพูดเหล่านี้อาจทำให้เขารู้สึกว่า “คนรอบข้างไม่สนใจรับรู้ปัญหา”

                        - ไม่ควรปล่อยผู้ป่วยไว้ลำพัง เมื่อเราสังเกต หรือพูดคุยแล้วพบว่าผู้ป่วยยังมีความท้อแท้สูง มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย