ถามแพทย์

  • แม่เป็นคนที่กลัวความสกปรกมาก วิตกกังวลกับเรื่องเล็กน้อย แม่เป็นโรคอะไรหรือเปล่า

  •  sailorkannapat
    สมาชิก

    สวัสดีค่ะ  คุณแม่ดิฉัน ปัจจุบัน อายุ 70 ปี วิตกกังวลเกี่ยวกับการลื่นล้มมาก เป็นแบบนี้มานานแล้ว  ต้องขัดห้องน้ำทุกวัน (คนที่บ้านมีแค่ 3 คน ) ดิฉันก็ไปทำงาน เข้าห้องน้ำแค่ช่วงเช้า - เย็นเท่านั้นค่ะ ไม่ได้สกปรกมาก และต้องกวาดลานซักล้าง  ทุกครั้งที่ใช้งาน ไม่ให้มีน้ำขัง

    และเป็นคนที่ชอบเรียงลำดับการใช้ของ เช่น จานชาม น้ำในตู้เย็น กระดาษรองโต๊ะกินข้าว , ถุงพลาสกติกใส่ขยะ  (ทุกอย่างต้องเรียงลำดับความเก่า -ใหม่) โดยจะเอาอันเก่ามาใช้ก่อน ดิฉันจะหยิบมั่วๆ ไม่ได้ แกจะคอยบอก ว่าอันนี้ต้องใช้ก่อน (บอกตรงๆ ว่ารำคาญค่ะ แต่ขี้เกียจพูด เพราะใช้อันไหนก็เหมือนกัน ต้องขอโทษที่เป็นลูกอกตัญญูค่ะ)

    เวลาแทบทั้งหมด หมดไปกับการทำงานบ้าน  แทนที่จะเอาเวลาไปทำกิจกรรมร่วมกัน แบบนี้คุณแม่เป็นโรคอะไรหรือเปล่าคะ 

    sailorkannapat  พญ.นรมน
    แพทย์

    สวัสดีค่ะคุณ sailorkannapat

    จากอาการที่เล่ามา เข้าได้กับโรคย้ำคิดย้ำทำมากที่สุด โรคอื่นๆที่เป็นไปได้เช่นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ

    โรคย้ำคิดย้ำทำหรือ OCD (Obsessive Compulsive Disorder) เป็นอาการทางจิตที่ผู้ป่วยจะมีรูปแบบความคิดหรือความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผลจนนำไปสู่การทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำไปซ้ำมา เช่น คิดว่ามือสกปรกตลอดเวลาจึงต้องล้างมือบ่อย ๆ จะต้องเรียงของให้ได้ลำดับตามที่คิดไว้เป๊ะๆเท่านั้น คิดว่าลืมปิดประตูบ้านหรือเตาแก๊สจึงต้องคอยตรวจตราจนไปทำงานสาย เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้มักส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันและกระทบต่อคุณภาพชีวิต 

    ควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินสภาวะทางจิตเบื้องต้น ให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอนก่อนนะคะ

    การรักษา OCD คือการให้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัด การบำบัดนี้ต้องใช้ทั้งเวลาในการรักษาและความพยายามของผู้ป่วย อีกทั้งอาจต้องเข้ารับการบำบัดร่วมกับสมาชิกในครอบครัวหรือคนอื่น ๆ ด้วย

    การดูแลตัวเองเบื้องต้นรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเช่น ความเครียดหรือความกังวล

    อ่านเพิ่มเติม

    https://www.pobpad.com/ocd-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%97%E0%B8%B3