ถามแพทย์

  • เด็กเล็กเอกซเรย์บ่อยๆ จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้เป็นมะเร็งได้ไหม

  •  NakaLL
    สมาชิก
    สวัสดีค่ะคุณหมอ คือไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าการเอกซเรย์จะมีรังสีอันตรายร้ายแรง ตกค้างในร่างกายของคนเราได้ ไม่เคยรู้ มาก่อนเลยค่ะ และ พอดีว่าลูกสาวของหนูได้เอกซเรย์ครั้งแรกตอนอายุประมาณ 2 ขวบ เพราะกระดูกไหปลาร้าหัก และเอกซเรย์ครั้งที่ 2 ตอนประมาณ 3 ขวบกว่าๆ ตกจากท้ายกระบะรถหัวหน้าผากกระแทกพื้นปูน และเอกซเรยครั้งที่ 3 ก็คือตอนอายุ 6 ขวบค่ะ ล่าสุดได้เอ็กซเรย์ตรงแถวหน้าอกและปอด และหนูก็ เพิ่งรู้ว่าเอกซเรย์จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้อาจจะทำให้เป็นมะเร็งได้ เพราะครั้งล่าสุดคุณหมอบอกว่าการเอกซเรย์จะเป็นมะเร็งได้หนูก็เลยกังวลมากๆค่ะ และหนูไม่เข้าใจว่าทำไม การ เอกซเรย์ 2 ครั้ง ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้คุณหมอไม่เคยบอกเลยคะและหนูก็อยู่ประกบกับลูกตัวเองเอกซเรย์ทุกครั้งด้วยแบบนี้ทั้งหนูและลูกก็ได้รับรังสีอันตรายและอยากทราบว่าลูกสาวของหนูจะเป็นอะไรไหมคะ และลูกสาวของหนูมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหนคะ และรังสี จะสะสมในร่างกายตลอดทำให้เป็นมะเร็งไหมคะ หรือว่ารังสี จะมีการสลายออกจากร่างกายได้เองไหมคะ เป็นกังวลมากๆเลยค่ะ รบกวนคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ ขอบคุณมากๆค่ะ
    NakaLL  พญ.นรมน
    แพทย์

    สวัสดีค่ะคุณ NakaLL

    เอกซเรย์เป็นการตรวจวินิจฉัยชนิดหนึ่งซึ่งใช้รังสีชื่อรังสี X โดยรังสีดังกล่าวมีลักษณะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งนี้การเอกซเรย์จะช่วยให้เห็นภาพของอวัยวะภายในในรูปแบบของภาพขาวดำที่มีปริมาณความเข้มที่ต่างกัน เพื่อให้เห็นความผิดปกติที่แพทย์สงสัยเช่นภาวะกระดูกหัก ปอดติดเชื้อ เป็นต้น

    โดยการรับรังสีเอ็กซเรย์นั้นทำเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นมากๆ ปริมาณรังสีที่เข้าสู่ร่างกายแต่ละครั้งจึงน้อยจนแทบไม่มีอันตรายต่อร่างกาย การทำเอ็กซเรย์จึงมีความปลอดภัยสูงมากในปัจจุบัน จะห้ามใช้เฉพาะในสตรีตั้งครรภ์เท่านั้นเพราะรังสีอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ 

    การที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากการเอ็กซเรย์หรือไม่นั้นขึ้นกับปริมาณรังสีที่ได้รับ ประเภทของเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสี อายุที่ได้รับรังสี คาดการณ์ว่าทารกและเด็กเล็กจะมีความไวต่อรังสีมากกว่ากลุ่มอายุอื่น จึงควรระวังเป็นพิเศษ แต่จากที่กล่าวมา หากไม่ได้เอ็กซเรย์บ่อยๆติดกันจำนวนมากเป็น 10 ครั้งขึ้นไป ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรในระยะยาวค่ะ ซึ่งแพทย์จะส่งทำเอ็กซเรย์ก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและรักษาเท่านั้น และไม่มีการที่รังสีจะสลายออกมาจากร่ายกายในภายหลังจนเป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมและคนรอบข้างค่ะ