ถามแพทย์

  • มีเสมหะในคอตลอดเวลา กลืนจนเจ็บคอ มีการไอเป็นระยะๆ ตลอดทั้งคืน

  •  Zeeroom
    สมาชิก
    มีอาการเหมือนมีเสมหะในคอตลอดเวลาทำให้ต้องรู้สึกกลืนจนเจ็บคอ เวลากลืน+กลางคืน มีการไอเป็นระยะ ตลอดทั้งคืน

     สวัสดีค่ะ คุณ Zeeroom,

                          อาการมีเสมหะในคอตลอดเวลา มีไอเป็นระยะๆ อาจเกิดจาก

                          1. เป็นโรคกรดไหลย้อน  ซึ่งเกิดจากการที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาถึงบริเวณลำคอ ทำให้เกิดการระคายเคืองคอและมีเสมหะได้ โดยเฉพาะเมื่อนอนลง อาการก็จะเป็นได้มากขึ้น และเมื่อมีเสมหะ ก็จะกระตุ้นให้เกิดการไอได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แสบร้อนจากช่วงอกไปจนถึงลิ้นปี่ เจ็บหน้าอก มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในคอ เรอบ่อย เจ็บคอ ระคายเคืองคอ เป็นต้น

                         2. ภูมิแพ้อากาศ แต่นอกจากจะมีเสมหะและไอแล้ว มักมีน้ำมูกใส จาม คันจมูก คันหัวตา ร่วมด้วย 

                         3. โรคหอบหืด อาจทำให้มีเสมหะในลำคอและไอได้ แต่ก็มักจะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก หายใจเสียงดังวี๊ดๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นพักๆ เมื่อสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดการแพ้ต่างๆ 

                         4. การหายใจเอาสารเคมี มลพิษ ฝุ่นละออง ควันบุหรี่เข้าไปบ่อยๆ ซึ่งจะไประคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ อาจทำให้มีน้ำมูกมาก และไหลลงคอจนเป็นเสมหะได้ 

                         5. เป็นไข้หวัด หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้หลายชนิด แต่นอกจากจะมีเสมหะและไปแล้ว จะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกไหล มีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว เป็นต้น 

                          6. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักทำให้มีอาการน้ำมูกมาก ซึ่งน้ำมูกอาจไหลลงคอ ทำให้รู้สึกเหมือนมีเสมหะตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อนอนลง น้ำมูกก็จะไหลลงคอมากขึ้น นอกจากนี้ จะมีอาการคัดจมูก แน่นจมูก การได้กลิ่นลดลง ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ปวดศรีษะ ปวดตามโหนกแก้ม หน้าผาก เป็นต้น

                         7. หลอดลมอักเสบเรื้อรัง แต่มักจะมีอาการไอมากร่วมกับอาการเหนื่อยง่ายด้วย

                          ในเบื้องต้น หากไม่มีไข้ ไม่มีน้ำมูก คัดจมูก ไม่มีจาม ไม่มีหายใจเหนื่อย ก็อาจดูแลตนเองแบบโรคกรดไหลย้อนไปก่อน เช่น ทานอาหารครั้งละปริมาณน้อยลง แต่หากรู้สึกหิวอาจทานบ่อยขึ้นได้ เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ทานช้าๆ ไม่เร่งรีบ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และน้ำอัดลมอัดแก๊สต่างๆ เป็นต้น ทานอาหารที่รสไม่จัด ไม่ทานของมัน เช่น อาหารทอด อาหารผัด ไม่ทานเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ หลังทานอาหารต้องห้ามนอนทันที ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง และอาจทานยาช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กได้เร็วขึ้น เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (metoclopramide) เป็นต้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุค่ะ