ถามแพทย์

  • ปวดกล้ามเนื้อสะโพก ยืนตรงไม่ได้ต้องกล้มตัว นอนหงายเหยียดขาสองข้างไม้ได้ ต้องงอเข่า เป็นมา 3 วัน

  •  PrachaBhattana
    สมาชิก
    ปวดกล้ามเนื้อในสะโพก ยืนตรงไม่ได้ต้องกล้มตัว นอนหงายเหยียดขาสองข้างไม้ได้ปวดมาก ต้องงอเข่าข้างใดข้างหนึ่ง เป็นมาสามวัน

    สวัสดีค่ะ คุณ PrachaBhattana,

                     อาการปวดกล้ามเนื้อสะโพก อาจเกิดจาก

                    1. การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เช่น จากการใช้งานมากไป ใช้ผิดท่าทางอาการปวดจะเป็นเฉพาะที่ มีจุดกดเจ็บ ไม่ปวดร้าวไปที่ใด  อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการบิดตัว เอี้ยวตัว ไอ จาม 

                    2. หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อน อาการปวดจะเป็นแบบปวดร้าว ปวดเสียว แปล๊บๆ ตั้งแต่บริเวณเอว สะโพก แก้มก้น และมักปวดร้าวลงไปถึงขาและเท้าได้ โดยอาจเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ อาการปวดจะเป็นนมากขึ้นเวลามีการเคลื่อนไหว ก้มตัว นั่ง ไอ จาม แต่จะดีขึ้นเมื่อนอน หรือแอ่นตัวไปด้านหลัง ในรายที่เป็นมากจะมีอาการชาร่วมด้วย 

                     3. กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome) อาการจะคล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

                     4. ช่องไขสันหลังตีบแคบลง มักเกิดจากการเสื่อมตามอายุ จึงมักพบในผู้สูงอายุ นอกจากนี้อาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของโพรงกระดูกสันหลัง  จากอุบัติเหตุบริเวณหลัง จากโรคกระดูกพรุน เป็นต้น อาการปวดจะคล้ายกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน แต่มักปวดมากเวลาแอ่นตัว หรือนอนลง และดีขึ้นเมื่อก้มตัว หรือนั่ง 

                     5. กระดูกสันหลังยุบตัว มับพบในผู้สูงอายุจากโรกระดูกพรุน หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุ มีมะเร็งกระจายไปที่กระดูก ติดเชื้อในกระดูก วัณโรคกระดูกสันหลัง เป็นต้น มักทำให้เกิดอาการปวดแบบตื้อๆ ตึงๆ และมักทำให้เกิดอาการปวดมากและปวดตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ในท่าใด

                     6. เนื้องอกและมะเร็งของเนื้อเยื่อ กระดูก และเส้นประสาท แต่มักทำให้เกิดอาการปวดมากและปวดตลอดเวลา ไม่วาอยู่ในท่าใด

                     7. มีการติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง เช่น วัณโรค แต่ก็จะมีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น ไข้ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เป็นต้น

                     ในเบื้องต้น ให้งดการยกของหนัก งดการยืนหรือเดินนานๆ งดการทำงานในท่าก้ม หรือก้มๆ เงยๆ งดการใส่รองเท้าส้นสูง ใช้ท่าทางในการทำงานให้ถูกต้อง และอาจทานยาแก้ปวดแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น  ไดโคลฟีแนค (diclofenac), ไพรอกซิแคม (piroxicam) เป็นต้น ร่วมกับการทานยาคลายกล้ามเนื้อ และอาจใช้การประคบร้อนและการทายานวดบริเวณที่ปวด

                       หากอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาค่ะ