ถามแพทย์

  • ระยะเวลาการใช้ยาพ่นในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคปอด

  •  Parichat
    สมาชิก

    ขอรบกวนสอบถามคะ ลูกสาวอายุ 3 ขวบ  4 เดือน เคยเข้ารับการรักษาด้วยอาการปอดติดเชื้อ มาแล้ว 3 ครั้ง อาการที่ตรวจพบเริ่มเมื่อเดือน ธันวาคม 2559 ปัจจุบันรักษาด้วยการพ่นยารักษาปอดอยู่ ซึ่งเริ่มรักษาด้วยวิธีการพ่นยามาตั้งแต่เดือน มกราคม 2560 ซึ่งนับตั้งแต่มีการพ่นยามาคุณหมอให้ใช้เวลาในการพ่นยาติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งครบกำหนดแล้วและได้ไปรับการตรวจผลตามที่คุณหมอนัดเมื่อ วันที่ 3 พฤษภาคม 2560 แต่ ณ วันที่คุณหมอนัดน้องมีอาการไออยู่บ้าง คุณหมอก็ให้ยาพ่นเพิ่มมาอีก 1 กล่อง แต่จากการสังเกตอาการของน้องที่มีการพ่นยาติดต่อกันมา 3 เดือนแล้วนั้น น้องมีอาการดีขึ้น อยากทราบว่า หากเราจะมีการพ่นยา ห่างออกไปบ้างได้หรือไม่ โดยไม่ต้องทำการพ่นทุกวัน เช่นพ่นวันเว้นวัน ซึ่ง ณ วันที่ไปตรวจตามนัดคุณหมอไม่ได้บอกอาการว่าน้องเป็นอย่างไรบ้าง และไม่ได้มีการตรวจอะไรน้องนอกจากดูอาการจากภายนอกอย่างเดียว อยากทราบว่าอาการอย่างไรที่เราจะมั่นใจได้ว่าน้องมีอาการดีขึ้น  รบกวนขอคำตอบด้วยค่ะ

                                                                                                                       ขอบคุณค่ะ

     สวัสดีค่ะ คุณ Parichat

    กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาพ่นสเตียรอยด์นานต่อเนื่องกัน พบในผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น หืดหอบ หลอดลมอักเสบ ในเด็กเล็ก การวินิจฉัยแยกโรคเหล่านี้ ต้องอาศัยประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว การติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยวินิจฉัยโรคค่ะ ความรุนแรงของโรคประเมิณจากอาการของผู้ป่วยขณะดำเนินชีวิตประจำวัน ปริมาณการใช้ยาพ่นฉุกเฉินขณะหอบกำเริบทั้งกลางวันและกลางคืน การเจริญเติบโตของเด็กตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็น หลายครั้งที่ขณะมาตรวจกับแพทย์ ผู้ป่วยมีอาการปกติดี ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ประวัติเจ็บป่วยขณะอยู่ที่บ้านในการดูแลของผู้ปกครองจึงสำคัญมากกว่าการตรวจขณะนั้น ๆ 

    การปรับยาจะปรับตามความรุนแรงของโรค ตามเกณฑ์การรักษา หากยังต้องเข้ารับการรักษาอาการหอบกำเริบเฉียบพลันบ่อย ยังจำเป็นต้องใช้ยาพ่นสเตียรอยด์ค่ะ เมื่อติดตามการรักษาต่อเนื่อง แนวโน้มอาการดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาปรับยาอีกครั้งค่ะ การใช้ยาสเตียรอยด์อาจมีผลข้างเคียง เช่น เชื้อราในช่องปาก การเจริญเติบโต อย่างไรก็ตาม แพทย์จะพิจารณาปรับการใช้ยาโดยเน้นประโยชน์ของผู้ป่วยมากที่สุดค่ะ