ตากระตุก

ความหมาย ตากระตุก

ตากระตุก (Eye Twitching) เป็นอาการขยับหรือกระตุกอย่างรวดเร็วของกล้ามเนื้อเปลือกตาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เกิดขึ้นได้ทั้งกับเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่มักจะเกิดกับเปลือกตาบนและมักเกิดกับตาทีละข้าง

อาการตากระตุกสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่จะพบว่าอาการไม่มีความรุนแรงใด ๆ แต่บางรายอาจพบว่ามีอาการกระตุกอย่างรุนแรงจนทำให้รู้สึกต้องการที่จะหลับตาลงหรือก่อความรำคาญ และบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยจนไม่สามารถสังเกตได้

ตากระตุก

อาการตากระตุก

อาการตากระตุกมักจะเกิดขึ้นกับตาทีละข้างเกิดขึ้นได้กับเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่โดยส่วนใหญ่จะเกิดกับเปลือกตาบน อาการตากระตุกจะมีตั้งแต่อาการที่สังเกตได้น้อยไปจนถึงกระตุกมากจนทำให้เกิดความรำคาญ และอัตราอุบัติการณ์ของอาการไม่สามารถคาดเดาได้ โดยอาจเกิดแล้วหายไปได้เองภายในเวลาอันสั้น แต่อาจกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดไป หรืออาจนานเป็นวันหรือมากกว่านั้นแล้วกลับมาเกิดซ้ำ

อาการตากระตุกจะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและมักไม่เป็นอันตราย แต่อาจจะสร้างความรำคาญให้ผู้ที่มีอาการได้ นอกจากนั้น อาการมักจะหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา แต่มีบางกรณีซึ่งพบได้น้อยที่อาการตากระตุกอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเรื้อรังหรือมีความรุนแรง โดยเฉพาะในรายที่มีอาการกระตุกของส่วนอื่น ๆ บนใบหน้าร่วมด้วย

สาเหตุของตากระตุก

สาเหตุของตากระตุกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่แพทย์ได้สันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ โดยอาการมักเกิดขึ้นจากความเครียด การอดนอน การบริโภคคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มาก และอาจรวมไปถึงสาเหตุต่อไปนี้ เช่น

  • เกิดการระคายเคืองที่ตาหรือเปลือกตาด้านใน
  • ตาล้า
  • ตาแห้ง
  • เวียนศีรษะ
  • ออกกำลังกาย
  • แสงสว่าง ลม
  • สูบบุหรี่
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด

หากมีอาการหนังตากระตุกเรื้อรัง หรือที่เรียกว่าโรคหนังตากระตุก (Benign Essential Blepharospasm) ซึ่งทำให้เกิดอาการตากระตุกทั้งสองข้างจากการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Dystonia) ของกล้ามเนื้อรอบดวงตาซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยต่อไปนี้อาจทำให้มีอาการแย่ลงได้

  • เปลือกตาอักเสบ
  • เยื่อตาอักเสบ
  • ตาแห้ง
  • เกิดการระคายเคืองจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น ลม แสงสว่าง แสงอาทิตย์ หรือมลภาวะ
  • มีอาการอ่อนล้า
  • มีความไวต่อแสงสว่าง
  • มีความเครียด
  • บริโภคแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป
  • สูบบุหรี่

อาการตากระตุกอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นกับสมองและระบบประสาท ได้แก่

  • โรคอัมพาตใบหน้า (Bell' Palsy)
  • ภาวะคอบิดเกร็ง (Cervical Dystonia)
  • โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia)
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
  • โรคกล้ามเนื้อช่องปากหรือขากรรไกรบิดเกร็ง (Oromandibular Dystonia)
  • โรคกล้ามเนื้อใบหน้าบิดเกร็ง (Facial Dystonia)
  • โรคทูเร็ตต์ (Tourette's Disorder)

เมื่อใดที่ควรพบแพทย์?

อาการตากระตุกมักจะหายไปได้เองภายในไม่กี่วันหรือสัปดาห์ แต่หากพบว่ามีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์

  • มีอาการตากระตุกต่อเนื่องไม่หายเป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์
  • เปลือกตาลงมาปิดสนิทในขณะที่มีอาการกระตุก หรือลืมตาได้ลำบาก
  • มีอาการกระตุกที่สวนอื่นบนใบหน้าหรือส่วนอื่นของร่างกายร่วมด้วย
  • หนังตาตก
  • เปลือกตาบวม แดงหรือมีขี้ตา
  • เกิดการบาดเจ็บที่กระจกตา

การวินิจฉัยตากระตุก

หากมีอาการตากระตุกต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเป็นสัปดาห์ หรืออาการแย่ลงและสร้างความรำคาญ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจตาอย่างละเอียดเพื่อจำแนกโรคตาอื่น ๆ และภาวะที่มีอาการใกล้เคียงกัน เช่น ตาแห้ง ตาไวต่อแสง หรืออาการกระตุกที่ลามลงมายังส่วนอื่น ๆ ของใบหน้าหรือหากเกี่ยวข้องกับกล้ามส่วนต่าง ๆ ของใบหน้า ควรจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

นอกจากนั้น หากแพทย์สงสัยว่าอาการตากระตุกมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมองหรือระบบประสาท แพทย์จะตรวจสอบหาสัญญาณหรืออาการอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมไปถึงอาจส่งตัวไปให้แพทย์ระบบประสาทหรือผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทโดยเฉพาะ

การรักษาตากระตุก

อาการตากระตุกมักจะหายไปได้เองภายในไม่กี่วันหรือสัปดาห์โดยที่ไม่ต้องรักษา แต่หากอาการไม่หายไป ผู้ป่วยควรพยายามหลีกเลี่ยงหรือลดสาเหตุเบื้องต้นเพื่อเป็นวิธีแก้อาการตากระตุกด้วยตนเอง ได้แก่

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • บริโภคคาเฟอีนให้น้อยลง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • พยายามลดหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเครียด
  • ในกรณีที่มีอาการตาแห้งใช้ ควรใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาเพื่อหล่อลื่นดวงตาและเยื่อตา
  • ใช้วิธีประคบร้อนเมื่อเริ่มมีอาการ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณดวงตา

การรักษาโดยแพทย์

สำหรับกรณีที่ไม่มีรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยา เช่น ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) ยาลอราซีแพม (Lorazepam) ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl) โดยยาเหล่านี้จะสามารถบรรเทาอาการหรือหยุดอาการตากระตุกได้ชั่วคราวเท่านั้น

สำหรับกรณีที่อาการตากระตุกมีความรุนแรง แพทย์อาจส่งตัวให้จักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรักษาด้วยการฉีดโบทอกซ์ (Botox)ซึ่งสามารถหยุดอาการตากระตุกได้ชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่กี่เดือน และเมื่อโบทอกซ์หมดฤทธิ์ก็อาจต้องฉีดซ้ำอีกครั้ง

นอกจากนั้นการศัลยกรรม เช่น การตัดกล้ามเนื้อ (Myectomy) เป็นการตัดกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทตาของเปลือกตาออก เป็นวิธีที่อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคตากระตุกที่มีความรุนแรงได้

ภาวะแทรกซ้อนตากระตุก
อาการตากระตุกอาจเป็นอาการที่มีความรุนแรงซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมองหรือระบบประสาท แต่อย่างไรก็ตาม อาการตากระตุกที่เกิดขึ้นเพราะความผิดปกติดังกล่าวมักจะเกิดพร้อมกับอาการอื่น ๆ เสมอ โดยโรคหรือความผิดปกติของสมองและประสาทที่อาจทำให้เกิดอาการตากระตุก ได้แก่

  • โรคอัมพาตใบหน้า (Bell' Palsy) เป็นภาวะที่ทำให้ใบ้หน้าเพียงซีกหนึ่งเกิดอาการอ่อนแอลงหรือเบี้ยว
  • ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia) ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกและกล้ามเนื้อที่ได้รับผลกระทบจะมีการบิดเกร็ง
  • โรคคอบิดเกร็ง (Cervical dystonia) ทำให้คอเกิดอาการกระตุกและทำให้ศีรษะบิดเกร็งไปอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกสบาย
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis: MS) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการรับรู้และการเคลื่อนไหว
  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) ทำให้เกิดอาการสั่นที่แขนและขา กล้ามเนื้อเกิดความอ่อนล้า มีปัญหาในการทรงตัว และทำให้พูดได้ลำบาก

การป้องกันตากระตุก

เนื่องจากแพทย์ได้สันนิษฐานว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการตากระตุก ได้แก่ ความเครียด การอดนอน การบริโภคคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มาก หรือการสูบบุหรี่ ดั้งนั้นการป้องกันในเบื้องต้นจึงทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ลดความเครียดหรือพยายามไม่ให้เกิดความเครียด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเข้านอนให้เร็วขึ้นกว่าปกติ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ลดการบริโภคคาเฟอีนและแอลกอฮอล์

ที่สำคัญควรหมั่นจดบันทึกในช่วงเวลาที่เกิดอาการว่าตนเองมีการบริโภคคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รวมไปถึงระดับความเครียดและนอนหลับเพียงพอหรือไม่ เพื่อที่จะได้หาทางแก้ไขได้อย่างตรงจุด