การป้องกัน งูสวัด
โรคงูสวัดสามารถป้องกันได้ด้วยการไม่ให้ร่างกายสัมผัสหรือรับเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุตั้งแต่แรก ส่วนผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน จำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำจนทำให้เชื้อสามารถจู่โจมร่างกายได้ นอกจากนี้ การใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคก็สามารถทำได้โดยในปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ 2 ประเภท ได้แก่
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เป็นวัคซีนที่สามารถฉีดให้กับเด็กได้ โดยเข็มแรกจะฉีดเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป และเข็มที่ 2 จะฉีดเมื่ออายุ 4-6 ปี โดยวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส มีทั้งวัคซีนชนิดเดี่ยวและวัคซีนรวม ซึ่งในประเทศไทยวัคซีนนี้สามารถฉีดเพิ่มให้เด็กได้โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ส่วนผู้ใหญ่สามารถฉีดได้เฉพาะกรณีที่ไม่เคยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใสมาก่อนเท่านั้น
ในด้านประสิทธิภาพของวัคซีนโรคอีสุกอีใส วัคซีนชนิดนี้โดยทั่วไปสามารถป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ตลอดชีวิต โดยประสิทธิภาพในการป้องกันจะอยู่ที่ประมาณ 90% แต่หากได้รับการฉีดตั้งแต่อายุ 1-12 ปี ประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มแรกจะสามารถป้องกันโรคได้ 85% และประสิทธิภาพของวัคซีนจะเพิ่มขึ้นไปถึง 88-98% เมื่อได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ทั้งนี้ถ้าในกลุ่มที่อายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป จะต้องฉีดวัคซีนทั้ง 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ จึงจะได้ประสิทธิภาพที่ดี แต่การได้รับวัคซีนหลังจากสัมผัสเชื้อไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย และอาจเกิดผลข้างเคียงทั่วไป อาทิ เป็นผื่น ปวดแขนบริเวณที่ฉีดวัคซีน เป็นไข้ ปวดบริเวณข้อต่อหรือรู้สึกแข็งที่บริเวณข้อต่อชั่วคราว ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่ได้รับวัคซีน
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เป็นวัคซีนที่ใช้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป โดยวัคซีนนี้สามารถให้ได้กับผู้ที่เคยหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน สามารถป้องกันต่อเนื่องได้ 5 ปี แต่วัคซีนชนิดนี้ไม่สามารถใช้กับบุคคลบางกลุ่มได้ ได้แก่
- ผู้มีประวัติในการแพ้เจลาติน ยานีโอมัยซิน หรือแพ้ส่วนผสมต่าง ๆ ของวัคซีน
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือกำลังรับการรักษาด้วยยาบางชนิดที่ไปกดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีรังสีรักษาหรือเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับไขกระดูกและระบบน้ำเหลือง
นอกจากนี้ หากผู้ที่รับวัคซีนต้องการตั้งครรภ์ ควรชะลอการตั้งครรภ์ไปช่วงหลังจากรับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์ รวมทั้งผู้ที่มีอาการป่วยอื่น ๆ หรือเป็นไข้ ควรรักษาให้หายเป็นปกติก่อนแล้วจึงค่อยรับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้จะเป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อชนิดเดียวกัน แต่ก็ไม่สามารถใช้แทนกันได้ เนื่องจากปริมาณเชื้อในวัคซีนแตกต่างกัน