คอพอก

ความหมาย คอพอก

คอพอก หรือโรคคอพอก (Goiter) คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อบริเวณลำคอใต้ลูกกระเดือกมีขนาดโตกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับไอโอดีนจากอาหารไม่เพียงพอ ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายสูงหรือต่ำกว่าปกติ หรือเกิดก้อนผิดปกติภายในต่อมไทรอยด์ อาการบ่งชี้ของภาวะคอพอก ได้แก่ บวมบริเวณลำคอใต้คอหอย รู้สึกแน่นในลำคอ ไอ เสียงแหบ กลืนอาหารลำบาก หายใจลำบาก เป็นต้น

คอพอก

อาการของคอพอก

อาการของคอพอกที่เด่นชัด คือ ต่อมไทรอยด์โตขึ้นจนทำให้ลำคอบริเวณคอหอยบวม ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการบวมเพียงเล็กน้อยและไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ทว่าในรายที่มีคอพอกขั้นรุนแรง อาจมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • ไอ รู้สึกแน่นภายในลำคอ
  • เสียงเปลี่ยนไปจากปกติ เสียงแหบ
  • กลืนอาหารลำบาก
  • หายใจลำบาก หายใจเสียงดังหวีด

สาเหตุของคอพอก

คอพอกเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยสาเหตุหลักที่พบ คือ ภาวะขาดไอโอดีน อันเป็นสารสำคัญที่จำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ เมื่อร่างกายได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอจะส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ จนทำให้ต่อมมีขนาดโตขึ้น นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับไอโอดีนจากอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กและทารก ยังเสี่ยงก่อให้เกิดผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองอีกด้วย ส่วนปัจจัยอื่นที่ก่อให้เกิดโรคคอพอกได้เช่นกัน มีดังนี้

  • โรคเกรฟส์ (Graves' Disease) หรืออาจเรียกว่าโรคคอพอกตาโปน เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติและเข้าทำลายต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่าภาวะไทรอยด์เป็นพิษ และทำให้ต่อมมีขนาดโตขึ้น
  • โรคฮาชิโมโต (Hashimoto's Disease) เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติเช่นเดียวกับโรคเกรฟส์ แต่จะส่งผลให้มีช่วงที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์น้อยกว่าปกติและเกิดภาวะขาดไทรอยด์หรือไฮโปไทรอยด์ ทำให้ต่อมใต้สมองซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ออกมากระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นเหตุให้มีขนาดโตขึ้น
  • การอักเสบ ต่อมไทรอยด์ที่อักเสบมักเกิดอาการบวมและทำให้รู้สึกเจ็บในลำคอ นอกจากนั้น การอักเสบอาจส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากผิดปกติหรือน้อยผิดปกติได้เช่นกัน
  • การตั้งครรภ์ ฮอร์โมนฮิวแมนคอริโอนิกโกนาโดโทรฟิน (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) ที่ร่างกายผลิตขึ้นระหว่างตั้งครรภ์อาจกระตุ้นทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้นได้
  • ก้อนตะปุ่มตะป่ำของต่อมไทรอยด์ (Multinodular Goiter) เป็นภาวะที่เกิดก้อนและซีสต์ถุงน้ำหลายตุ่มกระจายอยู่ทั่วต่อมไทรอยด์ทั้ง 2 ข้าง ส่งผลให้ต่อมมีขนาดโตขึ้น
  • ก้อนเดี่ยวของต่อมไทรอยด์ (Solitary Thyroid Nodules) เป็นภาวะที่เกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์เพียงข้างใดข้างหนึ่งจนทำให้ต่อมมีขนาดโตขึ้น
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ เซลล์มะเร็งอาจทำให้ต่อมไทรอยด์ข้างใดข้างหนึ่งโตขึ้น ทว่าพบได้น้อย เพราะก้อนผิดปกติที่พบส่วนมากมักไม่ใช่เนื้อร้าย

ทั้งนี้ คนบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อโรคคอพอกมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เพศหญิง หญิงตั้งครรภ์ หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง ผู้ที่เคยเข้ารับการฉายรังสีบริเวณลำคอหรือหน้าอก และผู้ที่กำลังรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาอะมิโอดาโรน ยาลิเทียม เป็นต้น

การวินิจฉัยคอพอก

ผู้ที่มีอาการของโรคคอพอกหรือสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย ในขั้นแรกแพทย์จะตรวจดูลักษณะของต่อมไทรอยด์ด้วยการคลำบริเวณลำคอหรือให้ผู้ป่วยกลืนให้ดู หากพบความผิดปกติอาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล ดังนี้

  • การตรวจเลือด แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ในร่างกาย รวมถึงตรวจดูแอนติบอดี้หรือสารภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ เนื่องจากผู้ป่วยโรคคอพอกบางรายมีแนวโน้มผลิตแอนติบอดี้ที่ผิดปกติออกสู่กระแสเลือด
  • การอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงจำลองภาพต่อมไทรอยด์ ทำให้แพทย์มองเห็นลักษณะโดยทั่วไปและขนาดของต่อมไทรอยด์ รวมถึงตรวจดูว่ามีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่
  • การถ่ายภาพสแกนไทรอยด์ แพทย์จะฉีดสารไอโซโทปกัมมันตรังสีเข้าทางเส้นเลือดดำบริเวณข้อพับแขนก่อนถ่ายภาพบริเวณไทรอยด์ สารดังกล่าวจะช่วยให้มองเห็นส่วนต่าง ๆ ของต่อมไทรอยด์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น วิธีนี้ทำให้ทราบถึงลักษณะโดยทั่วไปและขนาดของต่อมไทรอยด์ ซึ่งคล้ายกับการอัลตราซาวด์ แต่ให้รายละเอียดมากกว่า ทว่าก็อาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงมากกว่า ใช้เวลาตรวจนานกว่า และมีค่าใช้จ่ายแพงกว่า
  • การตัดเนื้อเยื่อไปตรวจ แพทย์อาจตัดเนื้อเยื่อบางส่วนของต่อมไทรอยด์หรือนำของเหลวภายในต่อมไทรอยด์ที่มีส่วนของเซลล์ออกมาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ

การรักษาคอพอก

วิธีรักษาคอพอกนั้นแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมไทรอยด์ อาการ ความรุนแรงของโรค และภาวะแทรกซ้อนที่พบ หากต่อมไทรอยด์บวมโตไม่มากและยังทำงานได้เป็นปกติ แพทย์อาจนัดติดตามอาการเป็นระยะ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รับการรักษา ดังนี้

  • การรับประทานยา แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยโรคคอพอกจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือภาวะไฮโปไทรอยด์รับประทานยาที่ช่วยให้ต่อมไทรอยด์ทำงานเป็นปกติ ส่วนผู้ป่วยไทรอยด์อักเสบอาจให้รับประทานยาต้านอักเสบ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาเอ็นเสด เป็นต้น
  • การผ่าตัด หากต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่มากจนส่งผลกระทบต่อการหายใจหรือการกลืนอาหาร แพทย์อาจตัดเนื้อเยื่อบางส่วนหรือต่อมไทรอยด์ทั้งหมด และอาจใช้วิธีนี้รักษาผู้ป่วยที่มีก้อนเดี่ยวในต่อมไทรอยด์แบบมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้เช่นกัน
  • การกลืนสารไอโอดีนกัมมันตรังสี วิธีนี้มักใช้รักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โดยสารที่ผู้ป่วยกลืนเข้าไปจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและเคลื่อนเข้าสู่ต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้เซลล์บางส่วนถูกทำลาย และต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลง ทว่าอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะไฮโปไทรอยด์ในภายหลังได้

ภาวะแทรกซ้อนของคอพอก

ผู้ป่วยโรคคอพอกที่มีต่อมไทรอยด์บวมเพียงเล็กน้อยมักไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายมากนัก ทว่าหากมีอาการบวมมาก อาจทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือกลืนอาหารยากขึ้น ไอ และเสียงแหบ ส่วนผู้ป่วยคอพอกจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์อาจมีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด มีปัญหาการนอนหลับ น้ำหนักมากขึ้นหรือลดลงผิดปกติร่วมด้วย

การป้องกันคอพอก

โรคคอพอกส่วนใหญ่เกิดจากภาวะขาดไอโอดีน โดยปกติคนเราควรได้รับไอโอดีน 150 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งมีปริมาณเท่ากับเกลือเสริมไอโอดีน 1 ช้อนชา ดังนั้น การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไอโอดีนอย่างอาหารทะเลและอาหารเสริมไอโอดีน โดยเฉพาะเกลือเสริมไอโอดีนที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงอาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้