หูดับ

ความหมาย หูดับ

หูดับ หูดับเฉียบพลัน หรือ หูตึงเฉียบพลัน คือ ภาวะที่ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินอย่างเฉียบพลันหรือประสาทหูเสื่อมอย่างเฉียบพลัน ทำให้ไม่ได้ยินเสียงใด ๆ อาการนี้มักเกิดขึ้นกับหูเพียงข้างเดียว และอาจเกิดในชั่วขณะ หรือเป็นเวลาหลายวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการหูดับเกิดขึ้น เพราะอาการหูดับที่เผชิญอยู่อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสุขภาพที่เป็นอันตรายหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

หูดับ

อาการของหูดับ

เมื่อมีอาการหูดับ ผู้ป่วยอาจจะไม่ได้ยินเสียงใด ๆ หลังจากตื่นนอนในตอนเช้า อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือผู้ป่วยอาจรู้ตัวภายหลังหากหูดับเกิดขึ้นกับหูเพียงข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาจมีสัญญาณบ่งชี้ก่อนเกิดอาการหูดับ เช่น

  • ได้ยินเสียงพูดไม่ชัดในขณะสนทนา หรือ มีปัญหาในการฟังขณะสนทนาแบบกลุ่ม
  • รับรู้และได้ยินเสียงรอบข้างได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  • มีปัญหาในการฟังเสียงสูงแหลม
  • เวียนหัว 
  • มีปัญหาการทรงตัว
  • หูอื้อ หรือได้ยินเสียงดังในหูคล้ายเสียงจั๊กจั่น เสียงจิ้งหรีด หรือเสียงหวี่ในหู

สาเหตุของหูดับ

หูดับเกิดจากเซลล์รับเสียง หรือวิถีประสาทที่อยู่ระหว่างหูกับสมองได้รับความเสียหาย มีสาเหตุมากมายที่เป็นไปได้ที่อาจทำให้เกิดอาการหูดับมากกว่า 100 ปัจจัย แต่โดยทั่วไป อาการหูดับมักจะยากที่จะตรวจเจอสาเหตุที่ชัดเจนได้ มีเพียง 10-15% ในผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้น ที่แพทย์สามารถระบุสาเหตุชัดเจนได้

ตัวอย่างปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูดับ ได้แก่

  • ฟังเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • อวัยวะที่อยู่ในหูชั้นในผิดรูปร่าง
  • มีเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตผิดปกติ หรือมีเนื้องอกเกิดขึ้นภายในประสาทที่เชื่อมต่อหูกับสมอง
  • ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บอย่างรุนแรง
  • เจ็บป่วยด้วยโรคทางประสาท เช่น โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) ซึ่งเป็นโรคที่มีการทำลายปลอกไมอีลินซึ่งหุ้มใยประสาทของสมองและไขสันหลังเอาไว้ ทำให้เนื้อเยื่อเกิดความเสียหายและเกิดแผลเป็น จนมีอาการแสดงและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา
  • เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น กลุ่มอาการโคแกน (Cogan’s Syndrome) ซึ่งเป็น กลุ่มอาการที่เกิดจากหลอดเลือดแดงอักเสบ ทำให้เกิดอาการเวียนหัว หูดับ และตาแดงได้
  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) เป็นโรคที่เกิดจากการมีน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ ซึ่งโดยปกติทัวไปหูชั้นในจะมีเซลล์ประสาท (Labyrinth) และมีน้ำในหูในปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน เมื่อมีความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำในหู จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัว และการได้ยินไปด้วย
  • โรคไลม์ (Lyme Disease) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อผ่านการถูกเห็บกัด มีโอกาสเกิดสูงในผู้ที่เลี้ยงและคลุกคลีกับสัตว์ โดยหลังจากที่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ รวมทั้งอาจเกิดอาการหูดับได้
  • เจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดต่าง ๆ หรือมีปัญหาในระบบหมุนเวียนโลหิต หากมีการไหลเวียนโลหิตไม่ดีบริเวณหูชั้นใน อาจทำให้เกิดอาการหูดับได้เช่นกัน
  • การใช้ยารักษาที่มีพิษต่อประสาทหูเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอันตรายต่อหูและประสาทการได้ยิน เช่น อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside) ซาลิไซเลต (Salicylate) ควินิน (Quinine) เป็นต้น
  • พิษจากงู หากถูกงูบางชนิดที่มีพิษกัด พิษที่เข้าสู่ร่างกายและกระแสเลือดอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ รวมทั้งหูดับได้
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อมถอยหรือเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าปกติ

นอกจากนี้ อาการหูดับในเด็กอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น

  • การเจ็บป่วยติดเชื้อของมารดาได้แพร่ไปสู่ทารกในครรภ์ด้วย ทำให้เด็กหูดับแต่กำเนิด เช่น โรคหัดเยอรมัน ซิฟิลิส เริม หรือการติดเชื้อปรสิตทอกโซพลาสมาจอนดิไอ (Toxoplasma Gondii)
  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • เด็กมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย

การวินิจฉัยหูดับ

เมื่อมีอาการหูดับ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที โดยแพทย์อาจตรวจวินิจฉัยตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ซักประวัติ แพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย โดยขั้นตอนนี้ ผู้ป่วยต้องแจ้งประวัติการเจ็บป่วยและการรับการรักษาของตนที่ผ่านมา รวมทั้งประวัติการใช้ยารักษาในปัจจุบันให้แพทย์ทราบโดยละเอียดด้วย
  • ตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไป รวมทั้งตรวจการได้ยิน เช่น ให้ผู้ป่วยปิดหูข้างหนึ่งแล้วฟังเสียงที่ระดับความดังแตกต่างกันไป หรือแพทย์อาจเคาะส้อมเสียง (Tuning Fork) แล้วตรวจตามจุดว่าผู้ป่วยได้ยินเสียงที่บริเวณใดดังมากกว่ากัน เพื่อทดสอบการได้ยิน และประเมินตำแหน่งความเสียหายของการได้ยินเบื้องต้น
  • ตรวจสมรรถภาพการได้ยินด้วยการใช้สัญญาณเสียงบริสุทธิ์ (Pure Tone Audiometry) ด้วยการใช้เครื่องมือตรวจการได้ยิน (Audiometer) ผู้ป่วยจะได้สวมที่ครอบหูฟังเสียงที่มีชนิดและความดังแตกต่างกันไป เพื่อวินิจฉัยว่าอาการหูดับเกิดจากเสียงไม่สามารถส่งผ่านไปยังหูชั้นในได้จากการกีดขวางและความผิดปกติภายในหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง หรือเกิดจากประสาทการรับฟังเสียงบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถรับเสียงแล้วแสดงผลเป็นการได้ยินตามปกติได้ นอกจากนั้น การตรวจนี้ยังสามารถแสดงระดับความถี่ช่วงเสียงที่ทั่วไปไม่สามารถได้ยินได้อีกด้วย โดยผู้ที่มีอาการหูดับ จะมีประสาทการได้ยินเสียงบกพร่องไปมากกว่า 30 เดซิเบล ที่การตรวจวัดติดต่อกัน 3 ระดับความถี่ขึ้นไป
  • ตรวจเพิ่มเติม เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยมีอาการหูดับจริง แพทย์อาจส่งตรวจด้วยวิธีการอื่นต่อไปเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการป่วยนี้ เช่น ตรวจการทรงตัว ตรวจเลือด หาความผิดปกติของเม็ดเลือดหรือหาการติดเชื้อ หรือตรวจภาพถ่ายภายใน เพื่อดูความผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกาย โดยมักใช้การตรวจแบบ MRI scan ซึ่งเป็นการสร้างภาพด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่สามารถฉายภาพอวัยวะภายในได้อย่างละเอียดและคมชัดมากขึ้น เป็นต้น

หากเป็นอาการหูดับในเด็ก ผู้ปกครองลองสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญก่อนพาเด็กไปพบแพทย์ เช่น

  • เด็กมีท่าทีไม่เข้าใจภาษาและการสื่อสาร
  • เด็กไม่พยายามจะพูดสื่อสาร
  • เด็กไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกับเสียงที่ได้ยินในทันที หรือไม่ตอบโต้ในวิธีที่ควรจะเป็น
  • เด็กมีการติดเชื้อในหู หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว

การรักษาหูดั

แม้อาการหูดับที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตรวจไม่ค่อยพบสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่มีวิธีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการตามอาการที่เกิดขึ้น ส่วนในรายที่แพทย์ระบุสาเหตุได้ ควรได้รับการรักษาตามปัจจัยที่เป็นสาเหตุ โดยแพทย์อาจวางแผนการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมและแตกต่างกันไปตามสภาพอาการ เช่น

  • การใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroids) ใช้รักษาในรายที่มีอาการอักเสบบวม เช่น ผู้ป่วยหูดับจากโรคทางระบบภูมิคุ้มกันอย่างกลุ่มอาการโคแกน หรือแพทย์อาจให้ยาคอติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ใช้รักษาในผู้ป่วยหูดับที่หาสาเหตุไม่ได้ เพื่อลดอาการอักเสบบวม และช่วยให้ร่างกายต้านทานต่อการเจ็บป่วยได้ โดยอาจให้ยาในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน หรือฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในหูชั้นกลางบริเวณด้านหลังแก้วหู เพื่อให้ยาซึมเข้ารักษาในหูชั้นใน
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ใช้รักษาในรายที่มีอาการหูดับซึ่งเกิดจากการป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคไลม์
  • การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) ใช้รักษาในผู้ป่วยหูดับจากการป่วยด้วยโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานต้านตนเอง
  • การใช้ยาขยายหลอดเลือด มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น เช่น กรดนิโคตินิก (์Nicotinic acid) และเบตาฮิสทีน (Betahistine)
  • การใช้ยาลดอาการเวียนศีรษะ ใช้ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับอาการหูดับ
  • การให้วิตามิน แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานวิตามินบางชนิด เพื่อช่วยบำรุงประสาทหูที่เสื่อม
  • การนอนพักผ่อน แพทย์อาจให้ผู้ป่วยนอนพักเพื่อลดการรั่วของน้ำในหูชั้นในไม่ให้เข้าไปในหูชั้นกลาง โดยยกศีรษะให้สูงขึ้นประมาณ 30 องศาจากพื้นราบ เพื่อให้มีความดันในหูชั้นในน้อยที่สุด และผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการออกแรงทำงานหนัก หรือการออกกำลังกายที่หักโหม  
  • การผ่าตัดประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) การผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมจะไม่ช่วยให้ประสาทรับรู้ด้านการได้ยินกลับมาอย่างสมบูรณ์ แต่จะช่วยขยายเสียงที่รับมาในชั้นหูให้อยู่ในระดับที่ดังหรือชัดเจนกว่าปกติ เพื่อช่วยในการได้ยินของผู้ป่วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดอาการป่วย และความรุนแรงของอาการด้วย แต่ยิ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วขึ้น ก็ยิ่งทำให้อาการป่วยดีขึ้นและฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้นไปด้วย ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตสุขภาพหูและการได้ยินของตนอยู่เสมอ และไปพบแพทย์ทันทีหากมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น เพราะผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เร็วและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ย่อมมีโอกาสสูงที่จะกลับมามีการได้ยินตามปกติได้ แต่หากเข้ารับการรักษาช้าเกินไป อาจทำให้เกิดความเสียหายจนหูหนวกหรือไม่สามารถกลับมาได้ยินเสียงตามปกติได้อีก

ภาวะแทรกซ้อนของหูดับ

อาการหูดับมักส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในด้านคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจ เช่น มีความยากลำบากในการทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสาร สูญเสียความมั่นใจ มีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น หรือนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ส่วนลักษณะและความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของหูดับ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคด้วย อย่างไรก็ตาม หากอาการหูดับที่เกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ถูกปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดความเสียหายในประสาทหูอย่างถาวร จนทำให้หูหนวกได้ในที่สุด

การป้องกันอาการหูดับ

หูดับอาจป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค หรือระมัดระวังและถนอมประสาทหู รวมทั้งป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้นได้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่มีเสียงดังรบกวน
  • หลีกเลี่ยงการฟังเพลงเสียงดังจนเกินไป หรือการฟังเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • หากต้องทำงานอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดัง หรืองานที่มีความเสี่ยงสูง ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันหูและศีรษะอยู่เสมอ
  • ใส่ที่อุดหูในขณะว่ายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำและเชื้อโรคเข้าไปในหู
  • หากต้องอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังเป็นประจำ หรือว่ายน้ำเป็นประจำ ควรหมั่นไปตรวจสุขภาพหูและสมรรถภาพการได้ยินเป็นระยะ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อประสาทหู เช่น แอสไพริน (Aspirin) ควินิน (Quinine) และ อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside)
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ จัดการและผ่อนคลายความเครียด ลดความวิตกกังวลในชีวิตประจำวันลง
  • หลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
  • ไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่
  • หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคไต โรคความผิดปกติของเลือด ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม และไปพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ
  • ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการป่วยติดเชื้อภายในหู เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบลุกลามหรือประสาทหูเกิดความเสียหายอย่างถาวร จนทำให้หูหนวกได้