ปวดน่อง

ความหมาย ปวดน่อง

ปวดน่อง เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณน่อง โดยแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกันไป แต่โดยมากมักมีอาการปวดเมื่อย ปวดแปลบ ปวดร้าว หรือรู้สึกปวดตึงบริเวณด้านหลังของขาส่วนล่าง ทั้งนี้ สาเหตุอาจมาจากการได้รับบาดเจ็บจนทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ โรคเรื้อรังบางชนิด หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เดิน วิ่ง กระโดดบนพื้นแข็งเป็นเวลานาน เป็นต้น

1469 ปวดน่อง Resized

อาการปวดน่อง

อาการปวดน่องจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดเมื่อย ปวดแปลบ ปวดตุบ ๆ บริเวณน่องข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นขณะนอนหลับในตอนกลางคืน วิ่ง หรือออกกำลังกาย

นอกจากนี้ อาการปวดน่องอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะหากพบอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้นร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที

  • น่องหรือขาบวม
  • ขาและเท้าเริ่มซีดหรือเย็นผิดปกติ
  • น่องมีอาการแดงและร้อนผิดปกติ
  • กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง
  • รู้สึกเจ็บแปลบหรือชาบริเวณน่องและขา
  • มีอาการกดเจ็บบริเวณน่อง

สาเหตุของอาการปวดน่อง

อาการปวดน่องเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น

  • การบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย อาจเกิดจากการอบอุ่นร่างกายยืดเส้นยืดสายไม่เพียงพอก่อนออกกำลังกาย หรือใช้กล้ามเนื้อน่องมากเกินไป โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่เน้นบริหารช่วงขา เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ยกน้ำหนัก เป็นต้น เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดและเกิดอาการปวดน่องตามมาได้
  • การห้อเลือดหรือรอยฟกช้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตกหลังได้รับบาดเจ็บ เช่น หกล้ม หรือถูกกระแทกจากของไม่มีคม เป็นต้น
  • การเกิดตะคริวที่น่องจนทำให้กล้ามเนื้อหดรัดตัว โดยอาจเกิดจากการออกกำลังกายเป็นเวลานานหรือหนักเกินไป หรือร่างกายอยู่ในภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่
  • เอ็นร้อยหวายอักเสบ เกิดจากการใช้เส้นเอ็นมากเกินไป โดยอาการทั่วไปที่พบ คือ เอ็นอักเสบ ปวดบวมบริเวณด้านหลังของขาส่วนล่าง และเคลื่อนไหวได้ในทิศทางที่จำกัดเมื่องอเท้า
  • อาการปวดร้าวลงขา มีสาเหตุจากเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic Nerve) ถูกกดทับ ส่งผลให้เกิดอาการปวด ชา และเจ็บแปลบบริเวณหลังส่วนล่าง ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดร้าวลงไปถึงน่องและกล้ามเนื้ออื่น ๆ ร่วมด้วย
  • หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ทำให้ลิ่มเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำส่วนลึกบริเวณแขน ขา และน่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ขาเกิดอาการบวมและปวดตึง
  • เส้นประสาทบริเวณขาเสียหายจากโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะที่พบมากในผู้ป่วยเบาหวาน ส่งผลให้เส้นประสาทที่มือ แขน ขา และเท้าถูกทำลาย
  • ความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชา ปวดอย่างรุนแรง และเคลื่อนไหวลำบาก

การวินิจฉัยอาการปวดน่อง

กรณีที่มีอาการปวดน่องอย่างรุนแรงหรือปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการปวด โดยในการประเมินขั้นต้น แพทย์จะตรวจสอบประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการ ประวัติการใช้ยา พฤติกรรมการใช้ชีวิต และโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดน่อง ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลดังกล่าวมักเพียงพอต่อการวินิจฉัยโรคแล้ว

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม หากผู้ป่วยมีอาการปวดที่ไม่ชัดเจนหรือมีอาการซับซ้อน เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด โดยมีแนวทางการวินิจฉัย ดังนี้

  • ตรวจเลือดเพื่อดูระดับโพแทสเซียมและแคลเซียม
  • ตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Electromyography) เพื่อดูการทำงานและความผิดปกติของกล้ามเนื้อ
  • ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินลักษณะของกล้ามเนื้ออย่างละเอียดผ่านการฉายภาพ

การรักษาอาการปวดน่อง

การรักษาด้วยตนเอง ผู้ป่วยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อบรรเทาอาการปวดเล็ก ๆ น้อย ๆ

  • หยุดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดน่อง
  • ค่อย ๆ ยืดหรือเหยียดขาออก แล้วนวดกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดเบา ๆ โดยเหยียดขาค้างไว้จนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง
  • ทายาบรรเทาอาการปวด ซึ่งเป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  • ประคบร้อนบริเวณกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดตึง
  • ประคบเย็นบริเวณกล้ามเนื้อที่เพิ่งได้รับบาดเจ็บ
  • หากมีอาการบวม อาจยกขาให้อยู่ระดับหัวใจหรืออยู่เหนือระดับหัวใจ
  • รับประทานยาแก้ปวดที่มีขายทั่วไปตามร้านขายยา เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น

การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์

แพทย์จะรักษาอาการปวดน่องตามลักษณะอาการ ผลการวินิจฉัย และโรคประจำตัวของผู้ป่วยร่วมกัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและควบคุมสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดน่องซ้ำอีกในอนาคต กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดน่องจากภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง หลอดเลือดดำอุดตันที่ขา หรือเส้นประสาทถูกทำลายจากเบาหวาน อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด ทั้งนี้ หากอาการปวดน่องไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากหลังการรักษา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การป้องกันอาการปวดน่อง

  • อบอุ่นร่างกายด้วยการยืดกล้ามเนื้อขาทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย เพื่อลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
  • ค่อย ๆ เพิ่มระดับการออกกำลังกายเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ โดยอาจปรึกษาผู้ฝึกสอนเพื่อวางแผนการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์พอดี
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดน่อง
  • งดสูบบุหรี่ และจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้หญิงควรดื่มไม่เกิน 1 หน่วยมาตรฐาน/วัน และผู้ชายไม่เกิน 2 หน่วยมาตรฐาน/วัน
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อช่วยป้องกันเส้นประสาทบริเวณขาเสียหายจากโรคเบาหวาน