ถามแพทย์

  • เวลากินข้าวแล้วรู้สึกว่ากลืนลำบาก อาหารไปจุกอยู่ตรงคอ แน่นอก กินยาแล้วก็เป็นๆหายๆตลอด อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคืออะไร

  •  benjamin_10969
    สมาชิก
    สวัสดีค่ะ ช่วงนี้เวลากินข้าวแล้วรู้สึกว่ากลืนได้ลำบาก เจ็บคอ จุกแน่นอยู่ตรงอกกับคอ มีครั้งนึงเคยกินข้าวกล้อง แต่พอกินได้สองสามคำ เหมือนข้าวมันไปจุกที่อกจนเหงื่อแตก, หายใจไม่ออกเลยค่ะ เราเจ็บตรงกลางอกจนทะลุไปหลัง เวลาหิวจะรู้สึกเหมือนจะวูบ จะเป็นลม เวลาหายใจแล้วรู้สึกว่าเจ็บตรงชายโครงด้วยค่ะ เราเป็นจนเครียดและรำคาญมากๆ วันก่อนเลยพบหมอมาแล้ว หมอบอกเราว่าเราเป็นกรดไหลย้อน+โรคกระเพาะเรื้อรัง (เราเคยมาหาหมอเพราะเป็นกรดไหลย้อนมาก่อน) หมอให้ Miracid, ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน, ยาเคลือบกระเพาะ, ยาขับลม หมอให้ยาคลายเครียดอะมิทริปไทลีนเพิ่มมาให้ด้วยค่ะ เราอยากรู้ว่า อาการที่เราเป็นมีโอกาสเป็นโรคอื่นได้มั้ยคะ ที่สำคัญก่อนหน้านั้นเรารู้สึกว่าเราเคยทานยาพวกนี้มาก่อน แล้วมันก็เป็นๆหายๆอยู่ตลอดเลยค่ะ ไม่เคยหายดีเลย สมมติว่าถ้ากินอะไรผิดสำแดงนิดหน่อย อยู่ดีๆก็กลับมาเป็นกรดไหลย้อนอีกรอบตลอดเลย อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำอาหารที่เราควรกินและไม่ควรกินด้วยค่ะ ;---; ขอบคุณค่ะ
    benjamin_10969  พญ.นรมน
    สมาชิก

     สวัสดีค่ะคุณ benjamin_10969

    อาการจุกคอ แน่นอก สัมพันธ์กับมื้ออาหารดังกล่าวมานั้น อาจจะเกิดจากกรดไหลย้อน ทำให้มีอาการกลืนลำบาก จุกคอ อาจมีแสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ และเป็นๆหายๆได้ ขึ้นกับการปฏิบัติด้วยดังจะกล่าวต่อไป สาเหตุอื่นๆ หากรักษากรดไหลย้อนแล้วไม่ดีขึ้น อาจจะมีได้เช่น มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่หลอดอาหารมีการทำงานมากผิดปกติ จนเกิดการรัดตัวตลอดเวลา จึงทำให้รู้สึกกลืนลำบาก หรือการมีเนื้องอกที่หลอดอาหาร อาจทำให้กลืนลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ น้ำหนักลดร่วมด้วย เป็นต้น

    การดูแลตัวเองเบื้องต้น หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้มีอาการมากขึ้น กินแล้วนั่งหัวสูงไว้ก่อนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ไม่ควรกินอาหารมื้อใหญ่ในคราวเดียว จริงๆไม่มีอาหารที่ห้ามกิน ขอให้สังเกตอาการตนเองว่าตอบสนองต่ออาหารแบบใด แต่โดยทั่วไปจะแนะนำหลีกเลี่ยงอาหารกลุุ่มรสเผ็ด ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ค่ะ และควรรับประทานยาลดกรดภายใต้การดูแลของแพทย์

    โดยหากรักษาด้วยยาลดกรดติดต่อกันเกิน 4 สัปดาห์ต่อเนื่องแล้วไม่ดีขึ้น ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายซ้ำอีกครั้ง ซึ่งแพทย์จะซักประวัติการใช้ยาและการปฏิบัติตัวร่วมด้วย หากเห็นว่าไม่ตอบสนองต่อยาจริง อาจจะต้องมีการตรวจเพิ่มติมเช่นเอ็กซเรย์หน้าอกหรือส่องกล้องทางเดินอาหารต่อไป