ขาโก่ง

ความหมาย ขาโก่ง

ขาโก่ง เป็นอาการที่ช่วงเข่าทั้ง 2 ข้างโค้งแยกออกจากกันในขณะที่ยืนเท้าชิดติดกัน ซึ่งเป็นอาการที่มักพบได้ทั่วไปในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 18 เดือน โดยอาการจะดีขึ้นและหายไปเมื่อเด็กเริ่มยืดขาได้และหัดเดิน และไม่จำเป็นต้องรับการรักษา อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งอาการขาโก่งก็อาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้ และหากมีอาการขาโก่งในระยะยาวแล้วไม่ได้รับการรักษา ก็อาจนำไปสู่ภาวะข้ออักเสบบริเวณหัวเข่าและสะโพกได้เช่นกัน

569 bow legsRe

อาการของขาโก่ง

มีลักษณะหัวเข่าห่างออกจากกัน ไม่แนบชิดติดกัน แม้ในขณะอยู่ในท่ายืนที่เท้าและข้อเท้าชิดติดกัน

สาเหตุของขาโก่ง

ขาโก่งตามธรรมชาติ

สำหรับเด็กทารกแรกเกิด จะพบอาการขาโก่งได้ในช่วงอายุต่ำกว่า 18 เดือน เนื่องจากเด็กต้องนอนอยู่ในท่าขดตัวในครรภ์มารดาเป็นเวลานานก่อนคลอด แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเมื่อเด็กเริ่มมีพัฒนาการไปตามวัย

ทั้งนี้ พ่อแม่มีวิธีการสังเกตพัฒนาการของลูกที่เป็นไปตามวัย ดังนี้

  • ช่วงอายุ 6-10 เดือน เด็กส่วนใหญ่จะพยายามดันตัวลุกขึ้นยืน
  • ช่วงอายุ 7-13 เดือน เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มหัดเดินโดยเกาะไปตามวัตถุหรือเฟอร์นิเจอร์รอบข้าง ซึ่งในช่วงนี้ พ่อแม่ควรช่วยเหลือประคองให้เด็กหัดเดิน และไม่ฝืนบังคับให้เด็กเดินให้ได้ด้วยตนเอง
  • ช่วงอายุ 11-14 เดือน โดยทั่วไป เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มเดินได้เอง

เด็กส่วนใหญ่จะเกิดมาพร้อมกับอาการขาโก่ง และขาจะยืดเหยียดตรงขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น แต่หากเด็กยังคงขาโก่งอย่างต่อเนื่องจนอายุถึง 2-3 ปี อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงอาการเจ็บป่วยด้วยภาวะอื่น ๆ พ่อแม่ควรพาเด็กไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์ต่อไป

ขาโก่งจากการเจ็บป่วย

โรคและภาวะที่อาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยมีอาการขาโก่ง ได้แก่

  • กระดูกพัฒนาผิดรูป
  • กระดูกแตกหรือหัก แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
  • โรคเบล้าท์ (Blount’s Disease) ที่ผู้ป่วยจะมีกระดูกหน้าแข้งโก่งออก พบได้มากในเด็กที่มีภาวะอ้วน และเชื้อชาติชาวแอฟริกัน-อเมริกัน โดยเด็กที่เริ่มหัดเดินเร็วเกินไป อาจมีความเสี่ยงสูงเผชิญอาการขาโก่งมากขึ้น ทั้งนี้ พ่อแม่ควรให้เด็กหัดเดินในช่วงอายุที่เหมาะสม คือ ช่วงอายุประมาณ 11-14 เดือน เพื่อช่วยลดความเสี่ยง
  • โรคกระดูกอ่อน (Rickets) ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะขาดวิตามินดี ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง เปราะ และแตกหักได้ง่าย จนทำให้ขาโก่งได้
  • โรคพาเจท (Paget’s Disease) ที่เกิดความผิดปกติในกระบวนการสร้างและสลายกระดูก เป็นผลให้กระดูกที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ไม่แข็งแรง ทำให้อาจเกิดอาการขาโก่งและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามข้อต่อกระดูกได้ ซึ่งโรคนี้มักพบได้มากในผู้สูงอายุ
  • ความผิดปกติของกระบวนการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้ร่างกายเตี้ยแคระหรือแคระแกร็น และอาจมีอาการขาโก่งเกิดขึ้นร่วมด้วยเมื่อโตขึ้น

การวินิจฉัยขาโก่ง

อาการขาโก่งสามารถสังเกตเห็นได้ไม่ยาก โดยต่อจากนี้จะเน้นเฉพาะในเด็กเท่านั้น

หากเด็กมีอาการขาโก่ง หรือพ่อแม่สงสัยว่าเด็กมีอาการขาโก่งหรือไม่ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยตรวจวัดจากระยะห่างระหว่างหัวเข่าที่ขาโก่งออกมาในขณะที่ผู้ป่วยนอนหงาย

บางกรณี แพทย์อาจทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์กระดูกบริเวณที่มีอาการขาโก่ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของกระดูกจากภาพฉายรังสี และอาจส่งตรวจผลเลือดของผู้ป่วย เพื่อหาสาเหตุของอาการขาโก่งว่าเกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคใด เช่น โรคกระดูกอ่อนหรือโรคพาเจท

ตัวอย่างเกณฑ์ที่แพทย์อาจใช้พิจารณาให้เด็กเข้ารับการเอกซเรย์อาการขาโก่ง ได้แก่

  • ผู้ป่วยขาโก่งเป็นเด็กที่มีอายุ 3 ปี หรือมากกว่า
  • อาการขาโก่งปรากฏรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • ขาทั้ง 2 ข้างโก่งออกไม่เท่ากัน
  • ผลการตรวจอื่น ๆ บ่งชี้ว่า อาการขาโก่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ

การรักษาขาโก่ง

สำหรับเด็กทารกจนถึงวัยหัดเดินที่อายุต่ำกว่า 18 เดือน อาการขาโก่งจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายไปโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ส่วนอาการขาโก่งที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของพัฒนาการกระดูกตามวัย โดยทั่วไป แพทย์จะทำการรักษาต่อเมื่ออาการขาโก่งมีความรุนแรง หรือรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีสาเหตุมาจากโรคหรือการเจ็บป่วยต่าง ๆ

ตัวอย่างการรักษาอาการขาโก่ง ได้แก่

การรักษาแบบไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด

โรคเบล้าท์ ให้ผู้ป่วยสวมใส่อุปกรณ์ช่วยดามบริเวณที่ขาโก่ง แต่อาจไม่เกิดประสิทธิผลทางการรักษาในผู้ป่วยที่โตเป็นวัยรุ่นแล้ว

โรคกระดูกอ่อน แพทย์อาจแนะนำให้รักษากับผู้เชี่ยวชาญทางโรคพันธุกรรมเมตาบอลิคโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาเพื่อรักษาอาการด้วย และอาจแนะนำให้เด็กรับวิตามินดีและแคลเซียมที่เพียงพอด้วยวิธีการต่าง ๆ ต่อไป

การรักษาแบบต้องเข้ารับการผ่าตัด

ในบางกรณีที่พบได้ไม่มากนัก หากอาการขาโก่งมีความรุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยรักษาด้วยการเข้ารับการผ่าตัด

โรคเบล้าท์ หากอาการขาโก่งในผู้ป่วยเด็กไม่ดีขึ้นแม้จะใช้อุปกรณ์ช่วยดามแล้ว แพทย์อาจทำการผ่าตัดกระดูกบริเวณดังกล่าวเพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้ขาโก่งรุนแรงขึ้นอีกในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป

โรคกระดูกอ่อน หากการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ผู้ป่วยโรคกระดูกอ่อนที่มีอาการขาโก่งก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขกระดูกเช่นกัน

โดยขั้นตอนวิธีการหลัก ๆ ในการผ่าตัดรักษาขาโก่ง มี 2 แบบ ได้แก่

การผ่าตัดชักนำการเจริญเติบโตของกระดูก จะเป็นการผ่าตัดหยุดการเจริญเติบโตของกระดูกในด้านที่เจริญเติบโตปกติ เพื่อให้กระดูกด้านที่ผิดปกติได้มีโอกาสเจริญเติบโตและได้ยืดกระดูกขาออกไป เพื่อรักษาและลดปัญหาอาการขาโก่งในที่สุด

การผ่าตัดดัดกระดูกเข่า แพทย์จะตัดกระดูกหน้าแข้งบริเวณใต้เข่าแล้วปรับแต่งให้ได้รูป จากนั้น กระดูกจะค่อย ๆ สมานตัวอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

หลังการผ่าตัด แพทย์จะใส่เฝือกไว้ในระหว่างที่กระดูกกำลังฟื้นฟู ผู้ป่วยอาจต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ในระหว่างที่พักฟื้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดและออกกำลังกายไปด้วย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและกระตุ้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนของขาโก่ง

ข้ออักเสบเป็นอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ป่วยมีอาการขาโก่งและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม โดยแรงกดที่ผิดปกติจากอาการขาโก่งในระยะยาวจะส่งผลกระทบอาจทำให้เกิดข้ออักเสบที่หัวเข่าและข้อสะโพก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีภาวะอ้วนร่วมด้วย ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการและไปปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนรักษาให้ทันการณ์ ก่อนจะเสี่ยงเผชิญอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้น

การป้องกันอาการขาโก่ง

  • ป้องกันไม่ให้เด็กทารกมีภาวะขาดวิตามินดี ซึ่งจะนำไปสู่การป่วยโรคกระดูกอ่อนและเสี่ยงเกิดอาการขาโก่งได้ ด้วยการให้เด็กรับประทานอาหารที่มีโภชนาการ มีวิตามินดีในปริมาณที่เหมาะสม หรือให้เด็กสัมผัสกับแสงแดดในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากกระบวนการสังเคราะห์วิตามินดีสามารถเกิดขึ้นได้จากการรับแสงแดด
  • หลังเด็กเกิด พ่อแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์ผู้ดูแลเป็นระยะอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพ ความแข็งแรง และความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กหลังคลอด
  • หากสังเกตพบความผิดปกติที่เกิดขึ้น หรือสงสัยว่ามีอาการขาโก่ง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา โดยเฉพาะในเด็กที่อายุเกินกว่า 2 ปีแล้วอาการขาโก่งยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการขาโก่งที่รุนแรงขึ้น เพราะการตรวจวินิจฉัยอาการแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้แพทย์สามารถทำการรักษาได้ทันการณ์ และมีประสิทธิผลทางการรักษาเพิ่มมากขึ้นไปด้วย