Inguinal Hernia

ความหมาย Inguinal Hernia

Inguinal Hernia เป็นโรคไส้เลื่อนประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณช่องท้องส่วนล่างใกล้กับขาหนีบ โดยเกิดจากลำไส้บางส่วนยื่นออกมาผ่านผนังหน้าท้องที่อ่อนแอหรือมีช่องเปิดผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดเมื่อเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกาย โดยเฉพาะเมื่อไอ ก้มตัว หรือยกของหนัก โดยมากมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 

Inguinal Hernia อาจไม่ก่อให้เกิดอันตราย ในบางกรณีผู้ป่วยอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษาเนื่องจากไส้เลื่อนมีขนาดเล็กและไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่หากไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือทำให้เกิดอาการเจ็บปวด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

2544-Inguinal-Hernia

อาการของ Inguinal Hernia

อาการของ Inguinal Hernia สามารถสังเกตได้จากภายนอก โดยจะพบก้อนนูนบริเวณหัวหน่าวหรือขาหนีบ หากผู้ป่วยยืนขึ้นหรือไอแรง ๆ อาจทำให้ก้อนนูนขยายใหญ่ขึ้น และจะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัสโดน นอกจากนี้ อาการอื่นที่อาจพบได้ ได้แก่

  • รู้สึกเจ็บปวดเมื่อไอแรง ๆ ก้มตัว หรือออกกำลังกาย
  • รู้สึกเจ็บแปลบหรือปวดแสบร้อนบริเวณก้อนเนื้อ
  • รู้สึกปวดหน่วงเหมือนถูกกดทับ โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ
  • ในผู้ป่วยชายอาจมีอาการปวดหรือบวมบริเวณถุงอัณฑะ

Inguinal Hernia อาจพบได้ในทารกหรือเด็กเล็กที่มีผนังหน้าท้องอ่อนแอผิดปกติแต่กำเนิด ในบางกรณี อาจมองเห็นไส้เลื่อนเฉพาะเวลาที่เด็กร้องไห้ ไอ หรือขณะออกแรงขับถ่าย ทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัวและความอยากอาหารน้อยลง ส่วนในเด็กโตอาจสังเกตเห็นอาการได้เมื่อไอแรง ๆ ออกแรงขับถ่าย หรือยืนเป็นระยะเวลานาน

ไส้เลื่อนอาจยุบเข้าช่องท้องได้เมื่อผู้ป่วยใช้มือดันบริเวณก้อนเบา ๆ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถดันก้อนเนื้อกลับเข้าไปในช่องท้องได้อาจเป็นสัญญาณของภาวะไส้เลื่อนติดคา (Incarcerated Hernia) ซึ่งจะทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงบริเวณลำไส้ส่วนนั้น หากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานอาจทำให้ลำไส้เน่าและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้ 

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้
  • รู้สึกเจ็บปวดฉับพลันและปวดรุนแรงขึ้นกะทันหัน
  • ก้อนนูนบริเวณไส้เลื่อนเปลี่ยนเป็นสีแดง ม่วง หรือสีดำคล้ำ
  • ปวดท้อง ท้องอืด หรือไม่สามารถผายลมได้

สาเหตุของ Inguinal Hernia

ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • ภาวะไส้เลื่อนออกจากช่องเปิดของหน้าท้องบริเวณขาหนีบ (Indirect Inguinal Hernia) 

เป็นความผิดปกติที่ทำให้ช่องเปิดยังคงอยู่ ทำให้ลำไส้หรือเคลื่อนออกมาผ่านช่องเปิดนี้ได้ โดยเป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่มักเกิดขึ้นในทารกที่คลอดก่อนกำหนดและมักพบในเพศชายมากกว่า 

  • ภาวะไส้เลื่อนออกจากกล้ามเนื้อและผนังหน้าท้อง (Direct Inguinal Hernia)
    ในผู้ที่มีผนังหน้าท้องหย่อนหรืออ่อนแออาจทำให้ลำไส้ยื่นออกมายังบริเวณหัวหน่าวได้ โดยเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ใหญ่และพบได้น้อยในเด็ก 

Inguinal Hernia ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่อาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ผนังหน้าท้องอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว
  • การออกแรงเบ่งขณะขับถ่ายหรือมีอาการท้องผูกเรื้อรัง
  • การทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก
  • ภาวะตั้งครรภ์อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องอ่อนแอ ส่งผลให้เกิดความดันในช่องท้องมากขึ้น
  • ภาวะไอหรือจามเรื้อรังจากการสูบบุหรี่
  • ภาวะคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติ
  • อายุที่เพิ่มขึ้น เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ
  • เพศชายมักมีโอกาสเกิดอาการได้มากกว่าเพศหญิง

นอกจากนี้ หากตนเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นไส้เลื่อนมาก่อน เคยได้รับบาดเจ็บและได้รับการผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนขาหนีบได้เช่นกัน

การวินิจฉัย Inguinal Hernia

แพทย์จะสอบถามอาการและประวัติสุขภาพของผู้ป่วย อย่างระยะเวลาที่เริ่มมีอาการหรือความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้น หากสงสัยว่ามีก้อนนูนบริเวณขาหนีบ แพทย์จะตรวจร่างกายโดยให้ผู้ป่วยลุกขึ้นยืนและลองไอออกมา เพื่อให้เห็นอาการของไส้เลื่อนได้ชัดเจนมากขึ้น 

หากอาการไส้เลื่อนไม่สามารถเห็นได้ชัดจากภายนอก แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) บริเวณช่องท้อง การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ร่วมด้วย เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัด

การรักษา Inguinal Hernia

หากไส้เลื่อนมีขนาดเล็กและไม่ได้กระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย แพทย์อาจแนะนำให้เฝ้าสังเกตอาการก่อนและสวมเข็มขัดช่วยพยุง (Supportive Truss) เพื่อช่วยบรรเทาอาการ โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนก่อนการใช้เข็มขัดและต้องเลือกใส่ขนาดที่พอดีกับสรีระ สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการ แพทย์อาจทดลองกดบริเวณก้อนนูนก่อนจะพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัด

หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดหรือไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่ขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อลดความรู้สึกไม่สบายตัวและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่น ๆ ตามมา โดยวิธีผ่าตัดที่ใช้ในการรักษาอาการ Inguinal Hernia มีดังนี้

  • การผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery) โดยแพทย์จะผ่าที่บริเวณหน้าท้องแล้วดันลำไส้ส่วนที่เคลื่อนออกมากลับเข้าไปสู่ตำแหน่งเดิม และเย็บซ่อมแซมผนังหน้าท้องที่อ่อนแอ โดยมักใส่วัสดุคล้ายตาข่าย (Hernioplasty) เพื่อเสริมความแข็งแรงและลดโอกาสในการเกิดอาการไส้เลื่อนซ้ำอีกในภายหลัง โดยทั่วไปผู้ป่วยมักใช้เวลาพักฟื้นร่างกายและสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ 
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นการผ่าตัดที่ทำผ่านกล้องโดยสอดท่อที่ติดกล้องขนาดเล็กที่ปลายด้านหนึ่งเข้าไปยังบริเวณที่แพทย์ผ่าเปิดผิวหนังไว้ เพื่อดันลำไส้ส่วนที่เคลื่อนออกมากลับสู่ตำแหน่งเดิม วิธีนี้จะทำให้แผลหลังการผ่าตัดผ่านกล้องมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ไว และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิด แต่อาจมีโอกาสกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำที่บริเวณเดิมได้และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า

หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก อย่างการก้มตัวยกของหนักหรือออกแรงเบ่งขณะขับถ่าย เป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์หรือตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้แผลหายสนิทและให้กล้ามเนื้อได้ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของ Inguinal Hernia

ในบางกรณี หากปล่อยให้เกิดอาการไส้เลื่อนทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้

  • การกดทับรอบบริเวณที่เกิดไส้เลื่อน โดยไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบอาจขยายใหญ่ขึ้นได้ตามระยะเวลา หากไม่ได้รับการผ่าตัดอาจทำให้ไส้เลื่อนขยายไปกดทับบริเวณถุงอัณฑะในผู้ป่วยชาย ทำให้รู้สึกเจ็บปวดและมีอาการบวม 
  • ภาวะที่ลำไส้ติดคา (Incarcerated Hernia) จากการเคลื่อนออกมาและไม่สามารถดันกลับไปในช่องท้องได้ จึงอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สามารถผายลมหรือขับถ่ายได้ตามปกติ
  • ภาวะลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยง (Strangulated Hernia) เกิดจากการภาวะลำไส้ติดคาเป็นระยะเวลานาน เมื่อลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยงอาจทำให้ลำไส้เน่าและเป็นอันตรายถึงชีวิต จัดเป็นอาการร้ายแรงที่ต้องได้รับการผ่าตัดทันที

การป้องกัน Inguinal Hernia

Inguinal Hernia เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แม้จะไม่สามารถป้องกันปัจจัยด้านกรรมพันธุ์หรือความผิดปกติแต่กำเนิดได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการในภายหลังด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และออกกำลังกายเป็นประจำ โดยอาจปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยสูง อย่างผักผลไม้หรือธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งจะช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ตามปกติ ป้องกันอาการท้องผูกและการออกแรงเบ่งขณะขับถ่าย
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะจะช่วยลดการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ และการเกิดภาวะไอเรื้อรังที่เป็นสาเหตุของ Inguinal Hernia
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักและระมัดระวังในการยกของ หากต้องการยกของควรใช้วิธีย่อตัวลงแทนการก้มตัว