เจ็บเต้านม

ความหมาย เจ็บเต้านม

เจ็บเต้านม เป็นอาการปวด เจ็บ หรือรู้สึกไม่สบายบริเวณเต้านม ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงประมาณ 50-70 เปอร์เซ็นต์ บางส่วนอาจพบได้ในผู้ชาย อาการปวดมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนรุนแรง โดยอาจปวดตุบ ๆ เจ็บแปลบ รู้สึกแน่น ๆ หนัก ๆ แสบร้อนหน้าอก ขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิด บางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดในบริเวณใกล้เคียงกับเต้านม โดยในบทความจะไม่รวมถึงอาการคัดเต้านมในผู้หญิงตั้งครรภ์

เจ็บเต้านม

อาการเจ็บเต้านม

อาการเจ็บเต้านมมักจะแยกได้ยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ ได้แก่

อาการเจ็บเต้านมที่สัมพันธ์กับประจําเดือน (Cyclical Breast Pain) เป็นอาการปวดเต้านมที่พบในผู้หญิงได้มากที่สุด มักเกิดขึ้นในช่วงไข่ตกหรือช่วงมีประจำเดือนของทุก ๆ เดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยลักษณะอาการสามารถสังเกตจาก

  • มีอาการในช่วงก่อนมีประจำเดือน และค่อย ๆ ลดลงเมื่อประจำเดือนหมด
  • ปวดเต้านมในลักษณะตื้อ ๆ หนัก ๆ หรือปวดร้าว
  • เต้านมบวม แข็งเป็นก้อน
  • มักเกิดกับเต้านมทั้ง 2 ข้าง และอาจลามไปที่บริเวณแขนส่วนบนหรือรักแร้
  • ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงอายุประมาณ 20-30 ปี และอาจพบได้ประปรายในช่วงอายุ 40 ปี เนื่องจากเป็นช่วงต่อในการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

อาการเจ็บเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจําเดือน (Noncyclic Breast Pain) เป็นอาการปวดที่ไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของเต้านม การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อรอบ ๆ เต้านม จึงอาจส่งผลกระทบให้เกิดอาการปวดเต้านมตามมา

  • อาการปวดเกิดเป็นพัก ๆ หรือปวดเรื้อรัง
  • ปวดหรือเจ็บเต้านมในลักษณะตึง ๆ แน่น ๆ และแสบร้อน
  • ส่วนใหญ่จะปวดเฉพาะบางจุดของเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง
  • มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือใกล้หมดประจำเดือน

นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดอีกประเภทหนึ่งที่คล้ายกับอาการเจ็บเต้านม คือ อาการปวดภายนอกเต้านม (Extramammary Breast Pain) เป็นอาการปวดที่ไม่ได้เกิดจากภายในเต้านมโดยตรง แต่มาจากจุดใดก็ได้ในบริเวณใกล้เคียงเต้านม เช่น การใช้กล้ามเนื้อบริเวณช่วงอกอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของผนังเต้านมหรือกระดูกซี่โครงหน้าอกจนลามไปยังเต้านม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนเจ็บเต้านมได้เช่นกัน

แม้ว่าอาการปวดเต้านมในผู้หญิงมักเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการปวดบริเวณใดบริเวณหนึ่งของเต้านมอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2-3 สัปดาห์ คลำแล้วพบก้อนในเต้านม รู้สึกปวดมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ให้ตรวจดูอาการ โดยเฉพาะบางรายที่มีอาการแน่นหน้าอก ชาตามแขนขา เจ็บเสียวตามมาหลังอาการเจ็บเต้านม เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) หรือคลำพบก้อนในเต้านมและไม่สามารถจับเลื่อนไปมาได้ รูปร่างและขนาดของเต้านมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีของเหลวไหลออกจากหัวนม อาจเป็นของเหลวที่มีสีปนเลือดออกมา เกิดรอยบุ๋มที่เต้านมหรือมีผื่นขึ้นรอบ ๆ หัวนม หัวนมบุ๋ม ซึ่งมักเป็นอาการของโรคมะเร็งเต้านม แต่โดยส่วนใหญ่อาการเจ็บเต้านมเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นอาการเฉพาะเจาะจง

สาเหตุของอาการเจ็บเต้านม

อาการเจ็บเต้านมยังไม่สามารถสรุปการเกิดได้แน่ชัด เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน โดยสาเหตุที่คาดว่าทำให้เกิดอาการเจ็บเต้านมอาจมาจาก

  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในขณะรอบเดือน ในช่วงใกล้เป็นประจำเดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะเอสโตรเจน (Estrogen) และโพรเจสเทอโรน (Progesterone) ส่งผลให้เต้านมเกิดการคัดตึง เจ็บ บวม หรือแข็งเป็นก้อน โดยอาการจะลดลงเมื่อหมดประจำเดือน แต่ในหญิงตั้งครรภ์และวัยทองจะพบอาการเจ็บเต้านมจากสาเหตุนี้ได้น้อย เนื่องจากเป็นช่วงประจำเดือนขาด
  • ก้อนหรือถุงน้ำในเต้านม ก้อนหรือถุงน้ำที่พบในเนื้อเยื่อเต้านมมีอยู่หลายชนิด แต่บางชนิดมักจะก่อให้เกิดอาการปวดเต้านมตามมา เช่น ชนิดไฟโบรซีสติค (Fibrocystic Breasts) เป็นก้อนเนื้อที่ไม่ร้ายแรงและมักไม่กลายเป็นมะเร็ง โดยพบได้บ่อยในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขี้นไป ส่วนอีกชนิด คือ ไฟโบรอะดีโนมา (Fibroadenoma) เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง มีลักษณะผิวเรียบ สามารถเคลื่อนที่ได้ โดยพบในผู้หญิงที่อายุน้อยหรืออยู่ในวัยเจริญพันธุ์
  • ภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) เกิดจากการติดเชื้อของท่อน้ำนม โดยพบบ่อยในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะมักจะเกิดบาดแผลขณะให้นมและมีการติดเชื้อตามมา ทำให้เนื้อเยื่อเต้านมอักเสบ บวม แดง เจ็บเต้านมอย่างรุนแรง ผิวบริเวณเต้านมแตก มีอาการคัน หรือเป็นแผลที่หัวนม
  • ฝีที่เต้านม (Breast Abscess) เกิดจากการติดเชื้อที่เต้านมจนมีอาการบวม แดง และลุกลามกลายเป็นแผลมีหนอง มีอาการปวดและเจ็บเต้านม ซึ่งส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากภาวะเต้านมอักเสบ
  • การบาดเจ็บบริเวณใกล้เคียงเต้านม เมื่อเกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือเนื้อเยื่อใกล้กับเต้านมอาจกระทบโดนเส้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณหน้าอก จึงทำให้รู้สึกคล้ายอาการปวดเต้านมตามไปด้วย เช่น การบาดเจ็บที่คอ หัวไหล่ หรือหลัง กระดูกอ่อนบริเวณหน้าอกอักเสบ (Costochondritis)
  • ยาบางชนิด อาการปวดเต้านมสามารถเกิดได้จากผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านเศร้า การให้ฮอร์โมนทดแทน ยารักษาโรคหัวใจ ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน  
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น แผลหลังการผ่าตัดเต้านม หน้าอกมีขนาดใหญ่กว่าปกติ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารไขมันสูง

การวินิจฉัยอาการเจ็บเต้านม

แพทย์จะวินิจฉัยอาการผู้ป่วยจากการสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการผิดปกติที่พบ การตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจเต้านม แพทย์จะตรวจดูขนาดและรูปร่างของเต้านมว่าผิดปกติหรือไม่ จากนั้นจึงคลำหาก้อนบริเวณเต้านม ใต้รักแร้ คอส่วนล่าง รวมไปถึงมีการตรวจอวัยวะใกล้เคียงอื่น ๆ เช่น การเต้นของหัวใจ ตรวจปอด หน้าอก หรือช่องท้องที่อาจทำให้เกิดอาการปวดที่เต้านม หากประวัติทางการแพทย์ ผลการตรวจเต้านม และการตรวจร่างกายทั่วไปไม่พบความผิดปกติ อาจไม่ต้องมีการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม
  • การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการถ่ายภาพรังสีของเนื้อเยื่อเต้านมในกรณีที่แพทย์คลำพบก้อนเนื้อ เนื้อเต้านมมีขนาดหนาขึ้นผิดปกติ หรือตรวจดูในจุดที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บเต้านม
  • การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการถ่ายภาพของเนื้อเยื่อเต้านมในจุดที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง โดยมักใช้ควบคู่กับการตรวจแมมโมแกรม
  • การตรวจเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) การตรวจเนื้อเยื่อเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้อที่พบว่าจะเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือไม่  
  • การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ (Breast Biopsy) เป็นการนำตัวอย่างของก้อนเนื้อหรือเนื้อเยื่อเต้านมที่หนาตัวผิดปกติออกมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

การรักษาอาการเจ็บเต้านม

อาการเจ็บเต้านมส่วนใหญ่จะหายได้เอง จึงมักไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากมีอาการปวดมากก็สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ด้วยการประคบร้อนหรือประคบเย็นบริเวณเต้านม หลีกเลี่ยงความวิตกกังวล จำกัดหรือดื่มคาเฟอีนในปริมาณที่พอดี หรือรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรจดบันทึกรอบเดือนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้น เพราะอาจช่วยวิเคราะห์หาสาเหตุได้ว่าเกิดจากปัจจัยใด

อย่างไรก็ตาม หากอาการรุนแรงมากขึ้นหรือเป็นเรื้อรังนานมากกว่า 2-3 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ โดยทั่วไป หากเป็นกรณีที่อาการเจ็บเต้านมสัมพันธ์กับประจำเดือน แพทย์มักแนะนำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ และรักษาด้วยการใช้ยา

คำแนะนำทั่วไป

  • กำจัดสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เช่น เลือกสวมเสื้อชั้นในที่เหมาะกับรูปร่างตนเองและเลือกชุดชั้นในที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย เพื่อช่วยรองรับเต้านมได้อย่างพอดี
  • ปรับเปลี่ยนการใช้ยาคุมกำเนิด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยที่รับประทานยาคุมกำเนิดหยุดใช้ยาชั่วคราวหรือเปลี่ยนไปใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นแทน เพื่อบรรเทาอาการให้ลดลง
  • ลดปริมาณการใช้ยาฮอร์โมนทดแทน ผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงใช้ยาฮอร์โมนทดแทน โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจให้หยุดการใช้ยาทั้งหมดหรือลดปริมาณยาลง
  • รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ไขมันต่ำ
  • รับประทานอาหารเสริม เช่น แมกนีเซียม น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose Oil) หรือวิตามินอี

การรักษาด้วยยา ตัวยามีทั้งแบบหาซื้อได้ทั่วไปหรือเป็นยาที่แพทย์สั่งจ่าย โดยแบ่งออกเป็น

  • ยาแก้ปวดหรือยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) สำหรับรับประทานเมื่ออาการปวดรุนแรงขึ้น เช่น ยาไอบูโพรเฟน การใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนการใช้ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินเพื่อหลีกเลี่ยงกลุ่มโรคเรย์ซินโดรม (Reye's Syndrome) จากการแพ้ยาแอสไพริน บางรายอาจได้รับยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดทาเต้านมในบริเวณที่มีอาการปวด
  • ยาดานาซอล เป็นยาที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและคัดตึงเต้านม แต่อาจมีผลข้างเคียงตามมา เช่น สิวขึ้น เสียงเปลี่ยนไป น้ำหนักขึ้น หรือยาทาม็อกซิเฟน สำหรับรักษาและป้องกันโรคมะเร็งเต้านม และมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง จึงจำเป็นต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด   
  • ในบางกรณี ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บเต้านมเกี่ยวเนื่องกับระบบประสาท แพทย์มักจะรักษาโดยใช้ยากาบาเพนติน ยาพรีกาบาลิน หรือยาอะมิทริปไทลีน

ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าอาการเจ็บเต้านมไม่มีความเกี่ยวข้องกับรอบเดือน การรักษาจะพิจารณาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของอาการเจ็บเต้านม

อาการเจ็บเต้านมที่สัมพันธ์กับประจำเดือนมักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่หากอาการเจ็บเต้านมมาจากสาเหตุอื่นอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพในระยะยาวจากตัวโรคหรือความผิดปกตินั้น ๆ ตามมาเมื่อไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

การป้องกันอาการเจ็บเต้านม

อาการเจ็บเต้านมยังไม่มีวิธีป้องกันได้ แต่สามารถเลี่ยงโอกาสในการเกิดได้บางประการ เช่น เลือกเสื้อชั้นในที่เหมาะสมกับขนาดและประเภทของกิจกรรมที่ทำ โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าอกใหญ่ รวมถึงระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่อาจกระทบกระเทือนบริเวณหน้าอกและเต้านม