ความหมาย เจ็บคอ
เจ็บคอ (Sore Throat) เป็นอาการเจ็บ คัน หรือระคายเคืองที่ลำคอ และอาจส่งผลทำให้ยากต่อการกลืนน้ำหรืออาหาร อาการเจ็บคออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คอแห้ง เสียงแหบ ต่อมทอนซิลบวมและแดง มีจุดขาวหรือหนอง และส่วนใหญ่มักจะหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน ยกเว้นกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน
สาเหตุของอาการเจ็บคอ
การติดเชื้อไวรัส
โดยโรคจากเชื้อไวรัสที่อาจนำมาซึ่งอาการเจ็บคอ มีดังนี้
- โรคหวัด (Cold) เกิดขึ้นได้จากเชื้อไวรัส Coronaviruses หรือ Rhinoviruses เป็นต้น โดยอาจทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม ปวดศีรษะ ปวดตามเนื้อตัว และมีไข้ร่วมด้วย
- โรคไข้หวัดใหญ่ (Flu) เป็นโรคจากเชื้อไวรัส Influenza ที่นอกจากจะมีอาการเจ็บคอแล้วยังอาจมีอาการอื่น ๆ คล้ายโรคไข้หวัดธรรมดา แต่มักมีความรุนแรงกว่า โดยอาการที่จะสังเกตได้ว่าแตกต่างจากโรคไข้หวัดธรรมดาคือ ไข้สูง ปวดตามกล้ามเนื้อหรือร่างกายอย่างรุนแรง และอ่อนเพลียมาก
- โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis) เกิดจากเชื้อไวรัส Epstein-Barr ที่ติดต่อได้ทางน้ำลาย มักทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีไข้
- โรคหัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส (Measles) เป็นโรคที่แพร่กระจายได้ง่าย นอกจากเจ็บคอแล้วยังอาจทำให้เกิดผื่นขึ้นชัดเจนและมีไข้
- โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เชื้อไวรัส Varicella เป็นสาเหตุของการติดเชื้อชนิดนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการเจ็บบริเวณผิวหนัง
- คอตีบเทียม (Croup) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Parainfluenza ที่กล่องเสียง มักพบได้บ่อยในเด็ก โดยจะทำให้มีอาการไอรุนแรงและเสียงดัง
- ไข้ตาเหลืองตัวเหลือง (Glandular Fever) ผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยล้า เป็นไข้ และมีก้อนที่คอ
- โรคคางทูม (Mumps) เป็นการติดเชื้อจากไวรัส Mumps ส่งผลให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลาย ปวดกล้ามเนื้อ ไม่อยากอาหารและมีอาการเจ็บคอขณะกลืนได้
- โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัส Coxsackie A มักเกิดในเด็ก โดยทำให้มีอาการเจ็บและอักเสบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และภายในปาก รวมถึงมีอาการเจ็บคอ
- การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในระยะแรกอาจมีอาการเจ็บคอและอาการอื่น ๆ คล้ายหวัด บางรายมีอาการเรื้อรังหรือกลับมาเจ็บคออีกครั้งเนื่องจากการติดเชื้อทุติยภูมิ เช่น การติดเชื้อราช่องปาก (Oral Thrush) และโรคติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส (Cytomegalovirus Infection) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่อันตรายต่อผู้ที่มีระบบภูมิคู้มกันอ่อนแอ
การติดเชื้อแบคทีเรีย
อาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียอาจบ่งบอกถึงโรคต่าง ๆ ได้ดังนี้
- โรคคออักเสบ (Streptococcal Pharyngitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcuspyogenes บริเวณลำคอ มักรุนแรงกว่าอาการเจ็บคอโดยทั่วไป เป็นอาการเจ็บคอร่วมกับรู้สึกมีก้อนที่คอ กลืนลำบาก และต่อมทอนซิลอักเสบ และยังอาจนำไปสู่อาการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น โรคไข้รูมาติก เป็นต้น
- โรคคอตีบ (Diphtheria) เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียอย่างรุนแรงที่จะส่งผลกระทบต่อเยื่อเมือกของลำคอและจมูก มักมีอาการเจ็บคอ เป็นไข้ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เหนื่อยล้า และปรากฏเป็นแผ่นหนาสีเทาด้านหลังลำคอ ทำให้หายใจลำบาก
- โรคไอกรน (Whooping Cough) ส่งผลต่อเยื่อเมือกในระบบทางเดินหายใจ อาการแรกเริ่มของโรคนี้มักคล้ายไข้หวัด แต่จะไอมาก ไอเป็นชุด และมีเสียงวี้ดแหลมขณะหายใจหรือหายใจลำบาก
- ฝีรอบต่อมทอนซิล (Peritonsillar Abscess) แม้จะพบได้น้อย แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยจะส่งผลให้มีอาการเจ็บที่หลังคอเนื่องจากการสะสมของหนอง และในรายที่อาการรุนแรง อาจทำให้อ้าปากหรือกลืนลำบาก
- ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ (Epiglottitis) อาการเจ็บคอจากโรคนี้พบได้ไม่มาก แต่หากเป็นรุนแรงจะสามารถส่งผลให้เสียงแหบ บางครั้งหายใจลำบากและกลืนอาหารลำบากร่วมได้
- ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) เกิดเป็นจ้ำสีแดงหรือขาวและบวมที่บริเวณต่อมทอนซิล มีก้อนที่ลำคอ กลืนลำบาก อาจมีไข้ เสียงเปลี่ยน หรือมีกลิ่นปาก
- หนองบริเวณโพรงข้างคอหอย (Retropharyngeal Abscess) เกิดจากการติดเชื้อและอาจมีอาการเป็นไข้ ลำคอส่วนบนบวม กลืนแล้วเจ็บ เป็นต้น
อาการเจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
นอกจากการติดเชื้ออาจมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้เช่นกัน
- การเผชิญสารก่อภูมิแพ้ เชื้อรา รังแคสัตว์ เกสรดอกไม้ หรือสิ่งระคายเคืองก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำมูกที่หลังจมูกได้ เมื่อน้ำมูกที่หลังคอสะสมจนมากเกินไปจึงทำให้เกิดการระคายเคืองต่อคอ ทำให้เจ็บและพุพองอักเสบ
- อากาศแห้ง การเสียดสีและเจ็บระคายเคืองในลำคออาจเกิดจากอุณหภูมิที่ไม่ชุ่มชื้น โดยเฉพาะในตอนเช้าหลังตื่นนอน นอกจากนี้ การหายใจทางปากเนื่องจากคัดจมูกก็ทำให้คอแห้งและเกิดอาการเจ็บได้
- การได้รับสารก่อความระคายเคือง เช่น มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ หรือสารเคมีต่าง ๆ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บเรื้อรังที่คอได้เช่นกัน
- พฤติกรรมการรับประทานบางอย่าง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารเผ็ด หรือแม้แต่การเคี้ยวยาสูบก็อาจก่อความระคายเคืองและอักเสบที่คอ
- การใช้เสียงมากเกินไป การตะโกนหรือพูดคุยติดต่อเป็นเวลานานก็อาจทำให้คอตึงจนเจ็บได้
- โรคกรดไหลย้อน เมื่อกรดจากกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก เกิดก้อนบวมในลำคอและทำให้เจ็บคอได้
- มีก้อนเนื้องอก เนื้องอกที่อาจกลายเป็นมะเร็งที่คอ ลิ้น หรือกล่องเสียงสามารถทำให้เจ็บคอ เสียงแหบ มีก้อนในคอ กลืนลำบาก มีเลือดในน้ำลายหรือเสมหะ หรือหายใจเสียงดังได้
การวินิจฉัยอาการเจ็บคอ
ในการตรวจเบื้องต้น แพทย์จะซักถามอาการและใช้ไฟฉายส่องดูลำคอ รวมถึงหูและโพรงจมูกเพื่อตรวจหาสัญญาณที่อาจบ่งบอกถึงอาการคออักเสบ เช่น แผลอักเสบหรือจ้ำขาว ๆ นอกจากนี้แพทย์อาจสัมผัสที่คอว่ามีก้อนที่คอหรือไม่ รวมถึงตรวจฟังเสียงการหายใจผู้ป่วยด้วยหูฟังหรือเครื่องสเตโทสโคป (Stethoscope)
ขั้นต่อไปอาจเป็นการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการเก็บตัวอย่างเชื้อจากลำคอเพื่อส่งตรวจหาการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรียในลำคอ แพทย์จะใช้ก้านสำลีทำความสะอาดเช็ดบริเวณหลังคอ และนำส่งตรวจผลทางห้องปฏิบัติการทันทีเพื่อตรวจหาเชื้อที่สงสัย และส่งตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
กรณีที่สงสัยภาวะภูมิแพ้ แพทย์อาจส่งต่อไปวินิจฉัยกับผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้เพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่อาจเป็นต้นเหตุอาการเจ็บคอ หรือแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูกซึ่งจะใช้กล้องส่องตรวจดูระบบทางเดินอาหาร และหากเป็นอาการเจ็บคอที่เป็นมานานก็อาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจหาเนื้อร้ายร่วมด้วย
การรักษาอาการเจ็บคอ
วิธีรักษาอาการเจ็บคออาจแบ่งตามสาเหตุที่พบ ดังนี้
อาการเจ็บคอจากเชื้อไวรัส
อาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอย่างโรคหวัดมักจะหายไปเองภายใน 5-7 วันโดยไม่ต้องใช้ยารักษา ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอด้วยการกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ ดื่มน้ำอุ่น อมเกล็ดน้ำแข็ง หรือรับประทานยาเพื่อลดอาการเจ็บและมีไข้ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา เช่น ยาพาราเซตามอล นอกจากนี้ ข้อสำคัญคือการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรระมัดระวังในการใช้ยาบรรเทาปวด ลดไข้ กับทารกและเด็ก และการให้เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีที่กำลังฟื้นตัวจากโรคอีสุกอีใสหรือมีอาการคล้ายหวัดรับประทานยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้แพ้และเกิดอันตรายร้ายแรงได้
อาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย
กรณีที่มีอาการเจ็บคอนานกว่า 7 วัน หรือมีอาการอื่นร่วม เช่น หายใจลำบาก กลืนลำบาก เจ็บข้อต่อ เจ็บหู ผื่นขึ้น มีไข้สูง เสมหะเป็นเลือด มีก้อนในลำคอ หรือเสียงแหบ ผู้ป่วยควรต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจรับการรักษา
หากพบว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อ เช่น ยากลุ่มเพนิซิลิน (Penicillin) หรืออะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) ซึ่งส่วนใหญ่มักดีขึ้นได้ภายใน 1-2 วัน ทั้งนี้ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดแม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดหมด การหยุดยาก่อนกำหนดอาจทำให้ไม่หายดีและมีอาการเจ็บคออีกครั้งได้
นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะ หากไม่ได้รับยาตามปริมาณและเวลาที่แพทย์กำหนด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ อาจแย่ลงและแพร่ไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และในเด็กยังเสี่ยงต่อการเป็นไข้รูมาติกและเกิดการอักเสบของไตอย่างรุนแรงได้ด้วย
ส่วนผู้ป่วยที่จะใช้ยาสมุนไพรใด ๆ รักษาร่วมด้วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะยาสมุนไพรอาจเกิดปฏิกิริยาต่อยาปฏิชีวนะ และจะเป็นอันตรายต่อเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้
อาการเจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
การรักษาอาการเจ็บคอเนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ นั้นแตกต่างกันไปตามต้นเหตุหรือโรคที่เป็นอยู่ เช่น ผู้ที่เจ็บคอจากภูมิแพ้ควรเลี่ยงสารที่อาจก่อทำให้แพ้หรือสารก่อความระคายเคืองทั้งหลาย เลี่ยงการสูบหรือสูดดมควันบุหรี่ และใช้ยาต้านฮีสทามีนเพื่อบรรเทาอาการแพ้ ส่วนโรคกรดไหลย้อนที่ตามมาด้วยอาการเจ็บคอ สามารถรักษาที่โรคต้นเหตุโดยรับประทานยายับยั้งการหลั่งกรด อาการเจ็บคอที่เกิดจากเนื้องอกบริเวณลำคอหรือกล่องเสียงควรรักษาด้วยการผ่าตัด การทำเคมีบำบัด หรือรังสีบำบัด เป็นต้น
อาการเจ็บคอทั้งชนิดติดเชื้อและไม่ติดเชื้ออาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกระคายคอและมีอาการไอ เมื่ออาการรุนแรงขึ้นก็อาจส่งผลต่อการพูดคุยสื่อสารและสร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวันได้ ในเบื้องต้นอาจบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ด้วยการใช้ยาอมแก้เจ็บคอและยาน้ำแก้ไอ เพราะจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นภายในลำคอ ลดการระคายเคือง และยังบรรเทาอาการไอ อีกทั้งยังสามารถหาซื้อได้ทั่วไปและไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่ควรเลือกซื้อชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ เพราะยานี้จัดอยู่ในหมวดยาอันตรายและการใช้อย่างไม่ถูกวิธีอาจทำให้เชื้อดื้อยา ส่งผลให้การรักษาทำได้ยากขึ้นและหายช้าลง จึงควรใช้เมื่อแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น
นอกจากนี้ การดูแลตัวเองด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการและอาจช่วยให้หายเร็วขึ้น อย่างการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด งดสูบบุหรี่ รวมถึงงดการใช้น้ำยาบ้วนปาก เพราะอาจทำให้ระคายเคืองเพิ่มมากขึ้น หากต้องการบ้วนปากควรใช้น้ำเกลือทางการแพทย์ในการบ้วนปากและกลั้วคอ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการได้มากขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของอาการเจ็บคอ
อาการเจ็บคอที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียหรือคออักเสบที่ไม่ได้รับการรักษาโดยยาปฏิชีวนะ อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอย่างหูชั้นกลางหรือโพรงจมูกต่อไป
การป้องกันอาการเจ็บคอ
การป้องกันตนเองจากเชื้อโรคและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการเจ็บคอ ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสของที่ใช้ร่วมกันหลายคนหรือบ่อยครั้ง ควรล้างมือบ่อย ๆ เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียสะสม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อโรคหวัดหรือโรคอื่น ๆ ได้
- ไม่ใช้ช้อนรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นหรือดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน เพราะโรคบางโรคสามารถแพร่ผ่านน้ำลายได้ เช่น โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส
- หลีกเลี่ยงสารที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา และฝุ่น
- เลี่ยงการรับควันบุหรี่ไม่ว่าจากการสูบเองหรือจากผู้อื่นที่อาจส่งผลระคายเคืองต่อคอจนมีอาการเจ็บ และยังเป็นสาเหตุของการเกิดเนื้องอกบริเวณลำคอได้
- รักษาความชื้นในบ้านไม่ให้อากาศแห้ง และดื่มน้ำให้เพียงพอไม่ให้คอแห้ง