การตรวจร่างกาย (Physical Examination) เป็นขั้นตอนพื้นฐานที่แพทย์ใช้ในการประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ช่วยในการวินิจฉัยโรค และหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคน ตามปกติแล้วการตรวจร่างกายจะเป็นขั้นตอนแรกเมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ในสถานพยาบาล และเป็นส่วนหนึ่งในบริการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย
การตรวจร่างกายจะมีการตรวจพื้นฐาน เช่น การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง การวัดชีพจร หลังจากนั้นอาจมีการตรวจเพิ่มเติมตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงการตรวจร่างกายโดยแพทย์เท่านั้น
การตรวจร่างกายตรวจอะไรกันบ้าง
การตรวจร่างกายโดยแพทย์มักประกอบด้วยขั้นตอนต่อไปนี้
การซักประวัติก่อนตรวจร่างกาย
ก่อนการตรวจร่างกาย แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เช่น อาการเจ็บป่วย การใช้ยา อาการแพ้ต่าง ๆ การใช้สารเสพติด การรับประทานอาหาร หรือการออกกำลังกาย เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยคัดแยกโรคต่าง ๆ ประเมินวิธีรักษาและประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยร่วมกับผลการตรวจร่างกาย
การวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนัก
เจ้าหน้าที่หรือพยาบาลจะให้ผู้ป่วยวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนัก เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มหรือลดอย่างผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ภาวะเครียด ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
การตรวจสอบสัญญาณชีพ (Vital Signs)
แพทย์จะตรวจสอบสัญญาณชีพเพื่อประเมินการทำงานโดยรวมของร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ คนที่มีสุขภาพดีจะมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่าง 60–100 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตปกติควรอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท และอุณหภูมิร่างกายปกติไม่ควรเกิน 37 องศาเซลเซียส
การตรวจตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
สำหรับผู้ป่วยทั่วไป การตรวจตามร่างกายขั้นตอนนี้จะเป็นการหาความผิดปกติต่าง ๆ เช่น การฟังเสียงหัวใจและปอด (Stethoscope) การตรวจบริเวณหู จมูก ปาก และคอด้วยไฟฉาย การคลำท้อง การคลำต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพอย่างอื่น แพทย์อาจมีการตรวจแบบเฉพาะเจาะจงด้วย เช่น การตรวจทางระบบประสาท การตรวจผิวหนัง การตรวจทางทวารหนัก การตรวจสายตาและการมองเห็น รวมถึงการตรวจตามความเสี่ยงแต่ละเพศอย่างการตรวจภายในและเต้านมในผู้หญิง การตรวจอวัยวะเพศและต่อมลูกหมากในผู้ชาย
การตรวจเพิ่มเติมหลังตรวจร่างกาย
หลังการตรวจร่างกาย บางรายอาจได้รับการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับผลตรวจร่างกาย ปัญหาสุขภาพ และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจอัลตราซาวด์ หรือการตรวจเอกซเรย์
การตรวจร่างกายเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้แพทย์ทราบถึงปัญหาสุขภาพและช่วยวินิจฉัยโรคเบื้องต้น กรณีที่พบปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการรักษา แพทย์จะมีการวางแผนรักษาหรือส่งตรวจในขั้นตอนต่อไป หากผู้ป่วยไม่เข้าใจผลตรวจหรือมีความกังวลกับปัญหาสุขภาพ สามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมถึงวิธีดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเองได้