มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ความหมาย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) คือมะเร็งที่เกิดขึ้นกับระบบน้ำเหลือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน และเป็นระบบที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย ประกอบไปด้วยน้ำเหลือง ท่อน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลือง ทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากเชื้อโรค โดยการทำลายสิ่งมีชีวิตที่ลุกล้ำเข้ามาในร่างกาย เช่น ไวรัส แบคทีเรีย มะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถเกิดขึ้นกับระบบน้ำเหลืองทุกบริเวณในร่างกาย อาการบ่งชี้ที่สำคัญ คือ ต่อมน้ำเหลืองบวม โต และมักไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

องค์ประกอบของระบบน้ำเหลือง

ระบบน้ำเหลืองประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน ดังนี้

  • น้ำเหลือง น้ำเหลืองมีลักษณะเป็นของเหลวใส ประกอบไปด้วยเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวประเภทลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย
  • ท่อน้ำเหลือง ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำเหลืองไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองจะกระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ภายในประกอบไปด้วยน้ำเหลืองและสสารต่าง ๆ ที่ถูกลำเลียงมาโดยท่อน้ำเหลือง โดยบางบริเวณของร่างกายจะมีต่อมน้ำเหลืองอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เช่น บริเวณข้าง ๆ คอ รักแร้ ขาหนีบ

ประเภทของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin's Lymphoma: HL) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin's Lymphoma: NHL) โดยมะเร็งทั้ง 2 กลุ่มนี้มีอัตราการแพร่กระจายและอาจมีการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นในกระบวนการรักษา ชนิดของมะเร็งจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่ต้องวินิจฉัย

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน โดยปกติแล้วน้ำเหลืองจะประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ทำหน้าที่ดักจับและทำลายเชื้อโรค ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ลิมโฟไซต์ชนิด B หรือ B Cells และลิมโฟไซต์ชนิด T หรือ T Cells ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินมักเกิดมาจากลิมโฟไซต์ชนิด B เป็นหลัก เมื่อลิมโฟไซต์ชนิด B เกิดความผิดปกติและทำการแบ่งตัวโดยไม่สามารถควบคุมได้ สุดท้ายจะสะสมจนกลายมาเป็นเซลล์มะเร็งในระบบน้ำเหลือง ซึ่งสามารถเกิดได้ในระบบน้ำเหลืองทุกส่วนของร่างกาย โดยส่วนมากจะพบระเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ในวัยเด็กและวัยหนุ่มสาว
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน เป็นมะเร็งที่พบในคนไทยมากกว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน เกิดเมื่อลิมโฟไซต์ชนิด B หรือชนิด T เกิดความผิดปกติและทำการแบ่งตัวโดยไม่สามารถควบคุมได้ สุดท้ายจะถูกสะสมจนกลายมาเป็นเซลล์มะเร็งในระบบน้ำเหลือง ซึ่งสามารถเกิดได้ในระบบน้ำเหลืองทุกส่วนของร่างกาย โดยส่วนมากจะพบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ในวัยผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน มักเป็นมะเร็งกลุ่มที่พบในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองส่วนใหญ่ ดังนั้นหากกล่าวถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง บทความนี้จึงจะนำเสนอข้อมูลของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กินเป็นหลัก

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อาการทั่วไปที่บ่งชี้ถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองคือ เกิดการบวมที่ต่อมน้ำเหลือง ส่วนมากบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ และมักไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย ซึ่งอาการบวมเกิดจากการสะสมของลิมโฟไซต์ที่ผิดปกติในต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้น ๆ ทั้งนี้อาการบวมที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นอาการบ่งชี้ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเสมอไป แต่อาจบ่งชี้ถึงโรคชนิดอื่นหรือการติดเชื้อบริเวณต่อมน้ำเหลือง ดังนั้นหากพบว่าต่อมน้ำเหลืองมีลักษณะบวม โต ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้องทันที

นอกจากการบวม โต ของต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจมีอาการอื่นควบคู่ไปด้วย ดังนี้

  • มีไข้
  • มีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย
  • มีอาการติดเชื้อรุนแรง
  • เป็นแผลและเลือดออกง่าย

สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดขึ้นเมื่อ DNA ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ในน้ำเหลืองเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้ลิมโฟไซต์เปลี่ยนเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ และเกิดการแบ่งตัวที่ไม่สามารถควบคุมได้ ถูกสะสมในระบบน้ำเหลือง จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ DNA เกิดการกลายพันธุ์และเจริญเป็นเซลล์มะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ ทำให้บุคคลที่ต้องประสบกับปัจจัยต่อไปนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากกว่าบุคคลอื่น

  • อายุ แม้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับบุคคลทุกช่วงอายุ แต่โดยส่วนใหญ่บุคคลที่มีอายุมากกว่าอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งมากกว่าบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดก็มีโอกาสเกิดกับบุคคลที่มีอายุน้อยมากกว่าบุคคลที่มีอายุมากเช่นกัน
  • เพศ มะเร็งต่อมเหลืองมีแนวโน้มที่จะเกิดกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน บุคคลที่เป็นโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน หรือได้รับยาระงับภูมิคุ้มกัน อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากกว่าบุคคลที่ไม่เคยเป็นโรคหรือไม่เคยได้รับยามาก่อน
  • การติดเชื้อ เชื้อโรคบางตัวเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เช่น เชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus) เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) เป็นต้น

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

หากพบความผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองบวม โต หรือมีอาการที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติของร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นนอกระบบน้ำเหลืองได้ ฉะนั้นการรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ขณะที่มะเร็งยังไม่ลุกลาม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งการวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีดังนี้

  • การตรวจร่างกายเบื้องต้น: แพทย์จะทำการตรวจร่างกายผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อตรวจสอบต่อมน้ำเหลืองที่บวม และตรวจหาสัญญาณอื่น ๆ ของโรคมะเร็ง
  • การตรวจเลือด: หากคาดการณ์ว่าผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะนำเลือดของผู้ป่วยไปตรวจสอบจำนวนและรูปร่างของเซลล์เม็ดเลือด ซึ่งในบางครั้ง แพทย์อาจใช้การตรวจเลือดแบบพิเศษที่เรียกว่า Flow Cytometry เพื่อใช้ตรวจสอบและวิเคราะห์เซลล์ต่าง ๆ รวมถึงเซลล์มะเร็งในเลือด
  • การตัดเนื้อเยื่อไปตรวจ (ฺBiopsy): เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แพทย์จะตัดเนื้อเยื่อบางส่วนหรือทั้งหมดของต่อมน้ำเหลืองที่ผิดปกติ แล้วนำไปตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง
  • การสร้างภาพทางด้านรังสีวิทยา (Imaging Tests): แพทย์จะตรวจหาสัญญาณหรือวินิจฉัยระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยใช้วิธีการสร้างภาพเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งในส่วนอื่นของร่างกาย เช่น การใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การใช้เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการใช้โพซิตรอนอีมิสชันโทโมกราฟี (PET)
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery): การผ่าตัดผ่านกล้องถูกนำมาใช้ตรวจสอบการลุกลามและวินิจฉัยระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยแพทย์จะผ่าช่องท้องเป็นแผลขนาดเล็ก และสอดแลปปาโรสโคป (Laparoscope) ซึ่งเป็นท่อเล็ก ๆ ที่มีกล้องและแหล่งกำเนิดแสงเข้าไป เพื่อทำการตรวจสอบการลุกลามของเซลล์มะเร็ง

ระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่แตกต่างกันส่งผลให้การรักษาแตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งมะเร็งได้ออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1: เซลล์มะเร็งเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลืองเหลืองเพียงต่อมเดียว
  • ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลือง 2 จุดขึ้นไป โดยทุกจุดเกิดขึ้นบริเวณเหนือกระบังลมหรือใต้กระบังลมส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากทางการแพทย์ได้แบ่งร่างกายออกเป็น 2 ส่วน โดยใช้กล้ามเนื้อใต้อกหรือกระบังลมเป็นเส้นแบ่ง คือด้านบนซึ่งเป็นส่วนตั้งแต่กระบังลมขึ้นไป และด้านล่างซึ่งเป็นส่วนตั้งแต่กระบังลมลงมา
  • ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลือง 2 จุดขึ้นไป โดยกระจายอยู่ทั้งร่างกายส่วนบนกระบังลมและส่วนใต้กระบังลม
  • ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งลุกลามสู่อวัยวะอื่นภายนอกระบบน้ำเหลือง เช่น ตับ ปอด กระดูก เป็นต้น

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง และเป้าหมายในการรักษาเป็นหลัก โดยวิธีการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีดังนี้

  • การเฝ้าระวังเชิงรุก (Active Surveillance)

ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่มะเร็งมีการเจริญเติบโตของเซลล์ช้า และผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการของโรค แพทย์จะใช้วิธีการตรวจสอบและติดตามอาการเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้เพราะการใช้วิธีการรักษาแบบเชิงรุก (Aggressive Therapy) ในทันทีนั้นยังไม่จำเป็น เนื่องจากไม่ได้ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้มีอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้น

การใช้เคมีบำบัดคือการใช้ยาทางเคมีฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยการใช้เคมีบำบัดนั้นมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับตัวยาแต่ละชนิดที่ผู้ป่วยได้รับ บางชนิดมีลักษณะเป็นยาเม็ด บางชนิดต้องใช้การฉีดผ่านหลอดเลือดดำ

  • การใช้ตัวยาชนิดอื่น

การใช้ตัวยาชนิดอื่น เช่น การใช้ยาแบบมุ่งเป้า (Targeted Drugs) ซึ่งเป็นการใช้ยาเพื่อไปรบกวนการทำงานของโมเลกุลที่มีความจำเพาะต่อการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ หรือการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) โดยใช้ยาเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในตัวผู้ป่วย ให้ทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • การใช้รังสีรักษา (Radiation Therapy)

การใช้รังสีรักษาคือการใช้รังสีพลังงานสูง เช่น รังสีเอกซเรย์ หรือรังสีโปรตอน เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย

  • การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow Transplant)

แพทย์จะปลูกถ่ายไขกระดูก โดยใช้รังสีปริมาณสูงหรือยาทางเคมีกดการทำงานของไขกระดูกของผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดกระบวนการต่อต้านไขกระดูกใหม่ที่จะได้รับ ต่อไปจึงนำสเต็มเซลล์ที่ดีเซลล์ใหม่ซึ่งอาจได้มาจากการบริจาคหรือจากตัวผู้ป่วยเอง ฉีดเข้าไปในเลือดเพื่อสร้างไขกระดูกใหม่

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจประสบกับอาการที่นอกเหนือจากอาการทั่วไปที่บ่งชี้การเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากระบบน้ำเหลืองจะกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ดังนั้นอาการจึงแตกต่างกันตามอวัยวะในบริเวณที่พบหรือใกล้เคียงเซลล์มะเร็ง โดยอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีดังนี้

  • ไอ หายใจลำบาก หรือรู้สึกเจ็บหน้าอก เมื่อเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นที่ต่อมไทมัสหรือระบบน้ำเหลืองบริเวณหน้าอก
  • ปวดหัว พฤติกรรมเปลื่ยนไป หรือบางครั้งเกิดอาการชัก เมื่อเซลล์เกิดขึ้นที่ระบบน้ำเหลืองในสมอง
  • เห็นภาพซ้อน ชาที่ใบหน้า มีปัญหาทางการพูด เมื่อเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองลุกลามไปยังบริเวณอื่นรอบสมองและไขสันหลัง
  • รู้สึกคัน มีก้อนนูนแดงหรือม่วงบริเวณใต้ผิวหนัง เมื่อเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นที่ระบบน้ำเหลืองบริเวณผิวหนัง

การติดตามผลภายหลังการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ภายหลังเสร็จสิ้นการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะนัดเพื่อติดตามผลการรักษา ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแต่ละรายจะมีแนวโน้มของผลลัพธ์ในการรักษาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง สุขภาพของตัวผู้ป่วย และวิธีการรักษาที่ได้รับ การติดตามผลอาจนานต่อเนื่องหลายปี เพื่อสังเกตว่ามีสัญญาณการกลับมาของมะเร็งหรือไม่ หากผู้ป่วยพบอาการที่ผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองควรปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง ดังนี้

  • รักษาน้ำหนักตัวให้เป็นไปตามมาตรฐาน เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและมะเร็งได้ โดยสามารถตรวจสอบน้ำหนักตัวว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ผ่านการคำนวณค่าดัชนีมวลกายหรือค่า BMI
  • ออกกำลังกาย ซึ่งในที่นี้การออกกำลังกายอาจเป็นการทำกิจกรรมบางอย่างที่ได้ใช้กำลังก็ได้ เช่น การทำงานบ้าน
  • รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ รับประทานผักและผลไม้ เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ รับประทานน้ำตาลแต่น้อย รวมถึงการรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ
  • จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ หรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ การสูบบุหรี่และควันบุหรี่เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากควันบุหรี่จะไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด

นอกจากนั้น ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพศหญิงที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี และเคยได้รับการรักษาโดยใช้รังสีรักษา (Radiation Therapy) บริเวณหน้าอก จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าบุคคลที่ไม่เคยได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มาก่อน จึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของเต้านมและเข้ารับการตรวจเต้านม โดยแพทย์จะใช้วิธีตรวจร่างกายเพื่อหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติร่วมกับการทำแมมโมแกรม (Mammogram) ซึ่งหากพบสัญญาณของมะเร็ง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับการตรวจพิเศษต่อไป

การป้องกันมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

การป้องกันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่มีวิธีที่แน่นอน เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยใดออกมาพิสูจน์ถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่แน่ชัด อีกทั้งบุคคลที่ไม่เข้าข่ายมีปัจจัยเสี่ยง ก็อาจเป็นมะเร็งได้ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่ายกาย และรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อพบความผิดปกติ เนื่องจากการรับการรักษาตั้งแต่มะเร็งยังอยู่ในระยะต้น ๆ จะส่งผลให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาเมื่อมะเร็งเริ่มลุกลาม