ผิวไหม้แดด (Sunburn)

ความหมาย ผิวไหม้แดด (Sunburn)

ผิวไหม้แดด (Sunburn) คือภาวะของผิวที่เกิดการอักเสบ แดง และแสบร้อนจากการรับรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี (UV) ที่มากหรือนานเกินไป ซึ่งอาการไหม้แดดสามารถเกิดขึ้นบนผิวหนังทั่วไปและบริเวณร่างกายที่โดนรังสียูวีได้ เช่น หนังศีรษะ ริมฝีปาก ดวงตา เป็นต้น

ผิวไหม้แดดไม่ได้เกิดจากแสงแดดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดจากรังสียูวีเทียม อย่างหลอดไฟยูวี ตู้หรือเตียงอบผิวแทน แม้อาการผิวไหม้แดดส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง แต่หากได้รับรังสีนี้มากเกินไปก็อาจเกิดอาการอื่น ๆ ที่ส่งผลเสียต่อผิวหนัง เช่น ผิวไหม้ ผิวลอก ตุ่มพอง เป็นต้น รวมทั้งอันตรายจากรังสียูวีก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดริ้วรอยต่าง ๆ และโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย

ผิวไหม้แดด (Sunburn)

อาการผิวไหม้แดด

ผิวไหม้แดดมักจะเริ่มมีอาการหลังจากที่โดนแดดไปประมาณ 2-6  ชั่วโมง โดยมักจะพบอาการแสบร้อนตามผิวหนังที่โดนแดด ผิวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง หลังจากนั้นประมาณ 24 ชั่วโมงขึ้นไป ผิวที่ไหม้แดดจะเริ่มเกิดอาการอื่น ๆ ตามระดับความรุนแรง โดยอาจพบว่าผิวเริ่มมีอาการระคายเคืองหรือเจ็บปวด 

นอกจากนี้ ผิวไหม้แดดอาจเกิดได้กับผิวหนังส่วนที่มีเสื้อผ้าปกคลุมอยู่หากเนื้อผ้าบางเกินไปหรือไม่สามารถกันรังสียูวีได้ รวมถึงบริเวณส่วนอื่นของร่างกายที่โดนแดดได้อย่างดวงตา ทำให้แสบตา เจ็บตา ระคายเคืองตา หรือรู้สึกคล้ายมีเม็ดทรายอยู่ในดวงตา

อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์หากอาการผิวไหม้แดดไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงใน 2-3 วัน เช่น ผิวเริ่มบวมมากขึ้น แผลพุพองเพิ่มขึ้นทั่วร่างกาย หรือมีอาการติดเชื้อจากตุ่มแผลที่แตก ส่งผลให้มีอาการเจ็บ มีหนองและรอยแดงกระจายบริเวณรอบ ๆ แผล เป็นต้น 

แต่หากมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย (Electrolyte Imbalances) หรือเป็นลมแดด (Heatstroke) ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยสังเกตได้หลังจากการโดนแดดแล้วร่างกายมีอุณหภูมิขึ้นสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส รู้สึกวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ เป็นลม ตัวซีด หายใจถี่ ชีพจรเต้นเร็ว กระหายน้ำ ไม่ค่อยปัสสาวะ เบ้าตาลึก 

สาเหตุของผิวไหม้แดด

สาเหตุหลักของผิวไหม้แดดเกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีทั้งจากแหล่งธรรมชาติและจากรังสียูวีเทียม อย่างเตียงอบผิวแทนหรือหลอดไฟยูวี รวมไปถึงพื้นผิวต่าง ๆ อย่างทรายหรือน้ำ ก็สามารถสะท้อนรังสียูวีมาสู่ร่างกายได้เช่นกัน ทำให้ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศหนาวหรือร้อนก็อาจเกิดผิวไหม้แดดได้ 

ปกติแล้วร่างกายของมนุษย์จะมีกระบวนการป้องกันรังสียูวีอยู่ โดยร่างกายจะผลิตเม็ดสีที่มีชื่อว่าเมลานิน (Melanin) ออกมามากกว่าปกติที่ผิวหนังชั้นนอกและทำให้ผิวคล้ำขึ้น ซึ่งเมลานินจะเป็นตัวช่วยในการป้องกันผิวจากรังสียูวีที่มากเกินไปและป้องกันไม่ให้ผิวเกิดการไหม้แดด แต่กระบวนการนี้สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

รังสียูวีแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ยูวีเอ (UV-A), ยูวีบี (UV-B) และ ยูวีซี (UV-C) แต่รังสียูวีซีถูกกรองออกไปที่นอกชั้นบรรยากาศจึงไม่ส่งผลอะไรร้ายแรงกับมนุษย์ ดังนั้นรังสียูวีเอและยูวีบีจึงเป็นสาเหตุหลักของอาการผิวไหม้แดด และทั้งสองรังสีนี้ก็ส่งผลต่อชั้นผิวหนังมนุษย์ต่างกันไป 

ยูวีเอ

ยูวีเอเป็นรังสีที่มีความรุนแรงน้อยกว่ายูวีบี แต่เป็นรังสีที่สามารถทะลุเข้าไปทำลายเซลล์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นผิวหนังแท้และชั้นไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนัง และการรับรังสียูวีเอสะสมเป็นเวลานานก็จะทำให้ผิวเกิดริ้วรอยร่องลึกต่าง ๆ ตามมา

ยูวีบี

ยูวีบีมีผลต่อชั้นหนังกำพร้าที่อยู่นอกสุดของร่างกาย ก่อให้เกิดรอยแดงที่เป็นสัญญาณเริ่มต้นของอาการผิวไหม้แดด และการรับรังสียูวีบีสะสมเป็นเวลานานก็เป็นสาเหตุของการเกิดริ้วรอยต่าง ๆ รวมไปถึงมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) และชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non-melanoma) 

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดผิวไหม้แดดนั้นขึ้นอยู่กับหลายอย่าง เช่น

  • ผู้ที่มีผิวขาวหรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของเม็ดสี เช่น โรคผิวเผือก (Albinism) โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyrias) โรคด่างขาว (Vitiligo) และโรคแพ้แสงแดด (Xeroderma Pigmentosum) 
  • ผู้ที่มีผมสีแดงหรือสีบลอนด์ และผู้ที่มีตาสีฟ้าหรือสีเขียวจะมีโอกาสเกิดการไหม้แดดได้สูง
  • ช่วงเวลาที่โดนแดด โดยเฉพาะช่วง 10.00-16.00 น. จะเป็นช่วงที่รังสียูวีรุนแรงที่สุด และระยะเวลาในการโดนแดดหากยิ่งนานจะยิ่งทำให้เกิดผิวไหม้แดดได้ง่าย 
  • อาศัยในพื้นที่สูง เพราะรังสียูวีจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นตามระดับความสูง
  • ยาบางชนิดที่ทำให้ผิวไวต่อแสง เช่น เรตินอยด์ (Retinoids) ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline)
  • ผิวที่เปียกจะมีโอกาสเกิดการไหม้แดดมากกว่าผิวที่แห้งปกติ
  • การรับรังสียูวีเป็นประจำโดยที่ไม่มีการป้องกัน

การวินิจฉัยผิวไหม้แดด

ในเบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติและอาการของผู้ป่วย ตรวจดูที่ผิวหนังเพื่อทราบข้อมูลเบื้องต้น เช่น ประวัติการเกิดอาการ ระยะเวลาที่เกิดอาการ มีตุ่มพองขึ้นบนบริเวณผิวหนังหรือไม่ มีการทาครีมกันแดดหรือป้องกันผิวจากแสงแดดหรือไม่ อาการผิวไหม้แดดเกิดขึ้นบริเวณใดบ้าง ยาที่ผู้ป่วยใช้ประจำ หรืออาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น 

นอกจากนี้หากแพทย์พบว่าผิวของผู้ป่วยมีความไวต่อแสง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทำการทดสอบแสง (Phototesting) โดยการฉายรังสียูวีเอและยูวีบีบนผิวหนังของผู้ป่วยบริเวณเล็ก ๆ เพื่อทดสอบว่าผู้ป่วยมีภาวะไวต่อแสงหรือไม่ (Photosensitive Skin)

การรักษาผิวไหม้แดด

หากเป็นผิวไหม้แดดในระดับไม่รุนแรง อาการจะหายได้เองตามธรรมชาติ โดยผิวชั้นบนจะเริ่มลอกออกในช่วง 2-3 วันหลังการไหม้แดดหรืออาจนานกว่านั้น และผิวใหม่ที่ขึ้นมาอาจจะยังมีสีที่ไม่สม่ำเสมอ แต่จะดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น

  • ใช้ผ้าเย็นหรือผ้าชุบน้ำประคบลงบนผิว แต่ควรหลีกเลี่ยงน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นจัด
  • หลีกเลี่ยงการขัดถูผิว แต่ให้ใช้การซับอย่างเบา ๆ แทน
  • ทาครีมหรือเจลว่านหางจระเข้หรือคาลาไมน์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
  • ดื่มน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน เพื่อชดเชยและป้องกันการสูญเสียน้ำของร่างกาย
  • อยู่ในที่ร่ม หลีกเลี่ยงการออกแดด
  • หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้ 
  • ปล่อยตุ่มน้ำให้แตกเองตามธรรมชาติ และล้างหรือทำความสะอาดแผลที่แตกแล้วบ่อย ๆ

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีตุ่มน้ำขนาดใหญ่และอาจต้องเจาะให้น้ำออก ควรใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อและทำการล้างแผลให้สะอาดก่อนด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์สำหรับล้างแผล โดยเลือกเจาะบริเวณขอบของแผลและปล่อยให้น้ำข้างในไหลออกมาให้หมด จากนั้นควรทายาฆ่าเชื้อรูปแบบครีมขี้ผึ้ง (Topical Antibiotic Ointments) เพื่อป้องกันแผลไม่ให้ติดเชื้อ และเลือกเครื่องแต่งกายที่ไม่แน่นจนเกินไปเพื่อลดการเสียดสี

หากผิวไหม้แดดรุนแรง ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวแล้วอาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักที่โรงพยาบาลและรับการรักษาที่เหมาะสม โดยการรักษาทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การบรรเทาอาการเจ็บ แสบ การอักเสบ คัน พุพอง ผิวลอก ตามร่างกาย เช่น

  • การใช้ยาทาบรรเทาอาการคันตามผิวหนังบริเวณที่ผิวไหม้แดด โดยอาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิว  
  • การใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด 
  • การให้ยาในกลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-inflammatory Drugs : NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการปวด แดง และระคายเคืองของผิวชนิดรับประทาน เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) หรือยาชนิดทาภายนอก อย่างยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ซึ่งฤทธิ์ยาจะอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมงหลังใช้ อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้มีข้อควรระวังในการใช้ ผู้ป่วยควรใช้ยาชนิดนี้ภายใต้การดูแลของแพทย์

ทั้งนี้หากผู้ป่วยที่มีอาการผิวไหม้แดดกำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุดสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนของผิวไหม้แดด

อาการต่าง ๆ ของผิวไหม้แดดที่สามารถหายได้เองนั้นเป็นเพียงแค่ผลลัพธ์ชั่วคราวจากรังสียูวี แต่เซลล์ที่ถูกรังสียูวีทำร้ายไปแล้วจะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว เช่น

ผิวแก่ก่อนวัย

ผิวที่โดนรังสียูวีบ่อย ๆ จะค่อย ๆ สูญเสียความแข็งแรงและเหี่ยวย่นลงเรื่อย ๆ รวมไปถึงการเกิดกระแดดและริ้วรอยร่องลึก หยาบแห้ง และมีเส้นเลือดสีแดงขึ้นบริเวณแก้ม จมูก ใบหู

โรคมะเร็งผิวหนัง

ถึงแม้ผิวหนังจะไม่มีอาการไหม้แดด แต่การรับรังสียูวีเป็นเวลานานก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดต่าง ๆ ได้ ได้แก่

  • โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เป็นชนิดที่พบได้ยากแต่เป็นชนิดที่รุนแรงที่สุด โดยอาการแรกเริ่มอาจมาจากจุดด่างดำที่ขึ้นมาใหม่ หรือของเดิมที่มีอยู่แล้วเปลี่ยนสี รูปร่าง และขนาดไป
  • โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา เป็นชนิดที่มีความรุนแรงน้อยกว่าชนิดเมลาโนมาแต่สามารถพบได้บ่อย โดยส่วนใหญ่จะเกิดกับผิวบริเวณที่ต้องโดนแดดอยู่บ่อย ๆ เช่น ใบหู ใบหน้า ลำคอ และแขนส่วนปลาย

ผลกระทบต่อดวงตา

การรับรังสียูวีไม่เพียงแต่ทำร้ายผิวหนังเท่านั้น แต่ยังทำร้ายดวงตาในส่วนต่าง ๆ อีกด้วย เช่น จอตา เลนส์แก้วตา หรือกระจกตา ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเกิดโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับดวงตาตามมา เช่น ต้อกระจก (Cataracts) ต้อเนื้อ (Pterygium) กระจกตาอักเสบจากรังสียูวี (Photokeratitis) โรคจอประสาทตาเสื่อม ( Macular Degeneration)

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่มีรังสียูวีหรือแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคผิวเผือก โรคโพรพีเรีย และโรคด่างขาว อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเดิม โดยอาจทำให้ผิวยิ่งไวต่อแสงแดดและอาการของโรคเดิมที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเองอาจมีผื่นแดงกำเริบขึ้น

การป้องกันผิวไหม้แดด

การป้องกันผิวไหม้แดดที่ดีที่สุดจึงเป็นการหลีกเลี่ยงกิจกรรมในที่โล่งแจ้งที่ต้องโดนแสงแดดจัด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00-16.00 น. หากเลี่ยงไม่ได้ควรเลือกปฏิบัติตามวิธีต่าง ๆ ที่ช่วยป้องกันหรือลดโอกาสการไหม้แดด เช่น

  • หมั่นทาครีมกันแดดและลิปบาล์มอยู่เสมอ โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป และควรทาก่อนออกแดดประมาณ 15 ถึง 30 นาที และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือหลังว่ายน้ำและเหงื่อออก
  • กางร่มและสวมแว่นกันแดดที่สามารถกันรังสียูวี หรือเลือกสวมเครื่องแต่งกายที่สามารถปกปิดร่างกายได้มิดชิด เช่น เสื้อหรือกางเกงขายาว โดยเลือกเสื้อผ้าที่มีสีโทนมืดเพราะสามารถกันรังสียูวีได้มากกว่าเสื้อผ้าที่มีสีโทนอ่อน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้ผิวไวต่อแดด เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด เรตินอยด์ และปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • ดื่มน้ำให้มาก และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการอาบแดดหรือการใช้เตียงอบผิวแทน 

ในกรณีเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน อาจใช้แค่ร่มหรือเครื่องแต่งกายเพื่อป้องกันรังสียูวี แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อย 15 บริเวณใบหน้าและหลังมือและเลือกชนิดที่มีไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium Oxide) และซิงก์ออกไซด์ (Zinc Oxide) เป็นส่วนผสมเพื่อลดโอกาสการเกิดการระคายเคืองของผิวหนัง