ปวดข้อนิ้วมือ

ความหมาย ปวดข้อนิ้วมือ

ปวดข้อนิ้วมือ เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บหรือเป็นสัญญาณของโรค โดยเฉพาะโรคข้อเสื่อม นอกจากอาการปวดแล้ว บางครั้งอาจมีอาการบวม เป็นเหน็บ หรือชาตามนิ้วเกิดขึ้นร่วมด้วย ผู้ที่มีอาการปวดไม่รุนแรงอาจรักษาได้ด้วยตนเอง แต่หากมีอาการปวดนิ้วเรื้อรังควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

อาการปวดนิ้วอาจพบได้บ่อยในผู้ที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งการทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวมือหรือนิ้วมือซ้ำ ๆ ดังนั้น การสวมอุปกรณ์ป้องกันนิ้วมืออาจช่วยลดความเสี่ยงในเบื้องต้นได้ แต่ผู้ที่อาการปวดมาจากโรค ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาโรคที่ต้นเหตุและทำการรักษา

ปวดข้อนิ้วมือ

อาการปวดข้อนิ้วมือ

อาการปวดอาจเกิดขึ้นกับนิ้ว ๆ เดียวหรือหลายนิ้วร่วมกันได้ รวมทั้งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น นิ้วบวม ข้อนิ้วแข็งเกร็ง เจ็บนิ้วขณะออกแรง รู้สึกแสบร้อน และผิวหนังเปลี่ยนสีไป เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุ นอกจากนี้ หากมีอาการปวดนิ้วรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เป็นเหน็บ นิ้วไม่มีความรู้สึก งอหรือเหยียดนิ้วไม่ได้ ผิวหนังบริเวณนิ้วมือเปลี่ยนสี ไข้ขึ้น หรือเวียนศีรษะ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

สาเหตุของอาการปวดข้อนิ้วมือ

อาการปวดข้อนิ้วมืออาจเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลัก ดังนี้

1. การบาดเจ็บ

นิ้วมือประกอบไปด้วยหลายส่วน ทั้งกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ กระดูก เส้นเอ็น เส้นประสาท และหลอดเลือด ถ้าหากส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดการบาดเจ็บ อย่างนิ้วเคล็ด นิ้วซ้น หรือกระดูกหัก ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดนิ้วมือตามมา ซึ่งการบาดเจ็บที่มักเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดข้อนิ้วมือได้บ่อย เช่น การเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงปะทะ อุบัติเหตุ หรือการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ อย่างการพิมพ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

2. โรคต่างๆ

อาการปวดบริเวณข้อนิ้วมืออาจมีสาเหตุมาจากโรคข้ออักเสบ อย่างโรครูมาตอยด์ โรคข้อกระดูกอักเสบ หรือโรคอื่น ๆ เช่น โรคปลายประสาทอักเสบ กลุ่มอาการประสาทมือชา ภาวะเอ็นฝ่ามือหดรั้ง โรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ การติดเชื้อและเนื้องอกบริเวณนิ้วมือ หรือโรคผิวหนังอักเสบก็อาจทำให้เกิดอาการปวดได้เช่นกัน

การวินิจฉัยอาการปวดข้อนิ้วมือ

ขั้นแรกของการวินิจฉัยแพทย์จะซักถามอาการที่พบและประวัติการเจ็บป่วยเดิม จากนั้นแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจเลือดและแสดงภาพลักษณะภายในนิ้วมือด้วยการเอกซเรย์หรือวิธีอื่น ๆ เพื่อหาความผิดปกติภายในข้อนิ้ว อย่างการบาดเจ็บหรือเนื้องอก

การรักษาอาการปวดข้อนิ้วมือ

การรักษาอาการปวดข้อนิ้วมือมุ่งเน้นไปที่การรักษาสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นโรคหรือการบาดเจ็บ โดยอาการปวดแบบไม่รุนแรงหรือชั่วคราวอาจบรรเทาอาการได้ด้วยตนเองที่บ้าน แต่หากมีอาการปวดรุนแรง ต่อเนื่อง หรือมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม ควรไปพบแพทย์ โดยวิธีรักษาอาการปวดตามข้อนิ้วมืออาจทำได้ ดังนี้

การรักษาด้วยตนเอง

อาการปวดนิ้วมือแบบชั่วคราวอาจบรรเทาได้ด้วยการดูแลหรือรักษาด้วยตนเอง เบื้องต้นควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด อย่างการเล่นกีฬาหรือยกของหนัก สำหรับผู้ที่สวมแหวนควรถอดแหวนออก หากมีอาการปวดบวมร่วมด้วยอาจใช้การประคบนิ้วมือด้วยผ้าห่อน้ำแข็งราว 20 นาทีทุก 2-3 ชั่วโมง นอกจากนี้ อาจปรึกษาเภสัชกรในการใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน ยาทาแก้ปวด หรือแผ่นแปะบรรเทาปวด

การรักษาโดยแพทย์

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวด สำหรับกรณีที่ทราบสาเหตุแน่ชัด แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น อาการปวดที่เกิดจากการบาดเจ็บอย่างนิ้วซ้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยสวมอุปกรณ์ดามนิ้ว สำหรับผู้ที่มีโรคที่เกี่ยวกับข้อโดยตรงอย่างโรคข้ออักเสบ แพทย์อาจรักษาด้วยยาแก้อักเสบ กายภาพบำบัด หรือทำการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงและชนิดของโรค นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดข้อนิ้วมือจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์และรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุควบคู่ไปกับการบรรเทาอาการปวดด้วยวิธีต่าง ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดข้อนิ้ว

แม้ว่าอาการปวดข้อนิ้วแบบชั่วคราวอาจหายได้เอง แต่ในรายที่มีการบาดเจ็บรุนแรงหรือมีโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวด ไม่ควรปล่อยอาการเหล่านี้ทิ้งไว้โดยไม่รักษาให้หายขาด เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

การป้องกันอาการปวดข้อนิ้ว

อาการปวดที่เกิดจากการบาดเจ็บอาจป้องกันได้ ดังนี้ 

  • ระมัดระวังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องเล่นกีฬาหรือยกของ 
  • อาการปวดนิ้วที่เกิดจากการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ อาจป้องกันได้ด้วยการหยุดพักเป็นช่วง ๆ เพื่อผ่อนคลายนิ้วมือ 
  • อาการปวดนิ้วที่มีสาเหตุจากโรคข้ออักเสบชนิดต่าง ๆ ควรมุ่งเน้นไปที่การลดความเสี่ยงด้วยการดูแลรักษาสุขภาพ เช่น งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ โรคข้ออักเสบบางชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมนั้นไม่สามารถป้องกันได้