ถามแพทย์

  • ไอบ่อยมา 1 เดือน มีเสมหะสีเขียวข้น มีกลิ่นในคอเหมือนเลือด กินยาทุเลาแต่ไม่หาย เป็นอะไร

  •  rusjutha
    สมาชิก

        มีอาการไอบ่อยครั้งเป็นมาเดือนหนึ่ง พร้อมทั้งมีเสมหะสีเขียวข้นมีกลินในคอเหมือนเลือด/โลหะ กินยาแก้ไอแค่ช่วยให้ทุเลาลง แต่ไม่ได้หายสนิท อยากทราบว่าอาการเหล่านี้เป็นอะไรคะ? และมันร้ายแรงไหมคะ?

    สวัสดีค่ะ คุณ rusjutha,

                      อาการไอมีเสมหะมา 1 เดือน อาจเกิดจาก  

                  1. วัณโรคปอด โดยเริ่มแรกมักเป็นการไอแห้ง ต่อมาจึงมีเสมหะ หรือมีเสมหะปนเลือด หรือไอเป็นเลือด ร่วมกับมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงชัดเจน เหงื่อออกกลางคืน มีไข้ เป็นต้น

                       2. ปอดบวม ฝีในปอด มักมีไข้ร่วมด้วย

                   3. โรคปอดอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น หลอดลมโป่งพอง โรคทางเดินปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), โรคพังผืดในปอดชนิดต่างๆ เป็นต้น แต่นอกจากไอ มีเสมหะมากแล้ว ก็จะมีอาการเหนื่อยง่ายร่วมด้วย หากเป็นมานาน ก็จะมีทรวงอกโป่งออก นิ้วมีลักษณะปุ้ม น้ำหนักลด เป็นต้น

                    4. โรคหอบหืด อาการมักจะกำเริบขึ้นเมื่อโดนกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการแพ้ หรือจากอุณหภูมิที่เย็น การออกกำลังกาย หรือความเครียด บางรายอาจมีเฉพาะอาการไอได้ แต่ก็ไม่น่ามีเสมหะ และมักจะมีอาการอื่นๆ ร่วมอีก เช่น หายใจลำบาก หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงดังวี๊ดๆ หอบเหนื่อย เป็นต้น

                     5. กรดไหลย้อน อาจทำให้เกิดอาการไอได้จากน้ำย่อยที่ไหลย้อนขึ้นมาระคายเคืองบริเวณลำคอและอาจไหลลงสู่หลอดลม จึงกระตุ้นให้เกิดการไป แต่มักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แสบร้อนกลางอก จุกแน่นลิ้นปี่ เรอบ่อย รู้สึกเปรี้ยวหรือขมที่ลำคอ คลื่นไส้หลังทานอาหาร อิ่มเร็ว เป็นต้น 

                     6. มะเร็งปอด อาการไอจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีอาการอื่นๆ เช่น ไอปนเลือด เหนื่อยหอบ น้ำหนักลด เป็นต้น

                     หากอาการเป็นมา 1 เดือนแล้ว ยังไม่หายไป มีแค่ทุเลาลง แนะนำว่าควรต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาค่ะ ในเบื้องต้น ก็ควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ไม่โดนลมหรือโดนฝน หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีฝุ่นละอองมาก หรือใส่หน้ากากป้องกัน ไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด ผัด เพราะอาจกระตุ้นให้มีเสมหะมากขึ้นได้ เป็นต้น