ถามแพทย์

  • เป็นแผลที่อวัยวะเพศ เจ็บเเสบ พอหายก็้เป็นไข่ดันที่ขาหนีบ กดแล้วเจ็บนิดๆ

  • ที่แรกก้เป็นมาดขาวแป้งเปียกแล้วเราก้ไม่ได้คิดอะไรเป้นมานานแล้ว อยู่ดีๆก้เป็นแผลที่อวัยวะเจ้บเเสบพอหายก้เป็นใข่ดันที่ขาหนีบกดลวไปรู้สึกเจ้บนิดๆเป็นด้อนไหญ่แค่ขยับไม่ได้ควรทำยังไงค่ะ

    สวัสดีค่ะ คุณ น้องมาย ไอโซโล่,

                         การมีแผลเจ็บแสบที่อวัยวะเพศ ร่วมกับมีไข่ดันที่ขาหนีบ หรือคือต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น และมีอาการเจ็บ อาจเกิดจาก

                       - เริมที่อวัยวะเพศ เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ เริ่มแรกจะมีตุ่มน้ำขึ้นมาก่อน มีอาการแสบร้อนหรือเจ็บปวด ต่อมาตุ่มน้ำจะแตกและกลายเป็นแผล และมีน้ำเหลืองซึมได้ หากเป็นครั้งแรกอาการจะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ บางรายอาจมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตและเจ็บได้

                       - แผลริมอ่อน หรือซิฟิลิสเทียม เกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุคือแบคทีเรียชื่อ Haemophilus ducreyi  อาการจะเริ่มจากเป็นแผลเล็กๆ บริเวณอวัยวะเพศก่อนแล้วค่อยๆ ขยายรวมกันเป็นแผลใหญ่ ลักษณะของแผลจะดูแฉะไม่สะอาด มีเนื้อเยื่อเละ ๆ ที่ก้นแผล ส่วนที่ขอบแผลจะนูน ไม่แข็ง และไม่เรียบ และรู้สึกเจ็บ ต่อมาต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตหลายต่อม มีการบวมแดง และเจ็บ บางรายอาจมีไข้ หนาวสั่น และปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย

                       - ฝีมะม่วง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Trachomatis ซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน เริ่มแรกจะเป็นตุ่มนูนเล็กๆ หรือเป็นแผลตื้น ๆไม่มีอาการเจ็บปวดและหายไปเองภายใน 2-3 วัน ต่อมาต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตติดกันและกลายเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่ ซึ่งจะเจ็บปวดมาก บางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เกิดผื่นขึ้นตามตัว ปวดตามข้อ ตาอักเสบ เป็นต้น   

                        - ซิฟิลิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน โดยระยะแรกจะมีตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้น จากนั้นตุ่มจะกลายเป็นแผล และจะเริ่มขยายออกมีขนาดใหญ่ขึ้น กลายเป็นแผลกว้าง ขอบแผลเรียบยกนูนและแข็ง พื้นแผลมีสีแดงและดูสะอาด แต่แผลจะไม่เจ็บไม่คัน หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ จะมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตทั้ง 2 ข้างได้ แต่จะกดไม่เจ็บ 

                        แนะนำควรไปพบสูติ-นรีแพทย์เพื่อตรวจว่าเกิดจากโรคใด จะได้รับการรักษาให้ตรงกับโรคค่ะ เพราะชนิดของยาที่ใช้รักษาจะแตกต่างกันในแต่ละโรคค่ะ