ถามแพทย์

  • เจ็บแน่นตรงช่วงหน้าอก ลิ้นปี่ และปวดหลังร่วมด้วย อาเจียนอออกมา เกิดจากสาเหตุอะไร

  •  Mimind Sudathip
    สมาชิก
    สวัสดีค่ะคุณหมอ พอดีอยากจะสอบถามเกี่ยวกับอาการที่เป็นค่ะ คือมีอาการเจ็บแน่นตรงช่วงหน้าอก ลิ้นปี่ รวมไปถึงมีอาการปวดหลังร่วมด้วย และได้มีการอาเจียนอออกมาแล้ว อาการจุกแน่นก็ดีขึ้นแต่ยังคงมีอาการปวดหลังอยู่ เกิดจากสาเหตุอะไรคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ Mimind Sudathip,

                    อาการเจ็บแน่นตรงช่วงอก ลิ้นปี่ และปวดหลังร่วมด้วย อาจเกิดจาก

                    1.โรคกระเพาะอาหารอักเสบ  ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดบริเวณท้องส่วนบน อาจเป็นบริเวณลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือหรือปวดค่อนไปทางด้านซ้าย อาจปวดแบบจุกแน่น หรือแสบร้อน และปวดร้าวทะลุไปหลังได้ นอกจากนี้อาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อิ่มเร็ว เรอบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

                   2.โรคกรดไหลย้อน อาการจะคล้ายๆ กับกระเพาะอาหารอักเสบ แต่จะมีอาการแสบร้อนกลางอกหรือแน่นหน้าอกร่วมด้วย หรือมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในคอ หรือเจ็บคอ ระคายเคืองคอ เป็นต้น 

                 3. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน แต่จะมีอาการปวดท้องบริเวณท้องส่วนบนรุนแรง และมักปวดร้าวไปที่หลังได้ อาการปวดมักจะมากขึ้นเมื่อทานอาหาร ท้องอืด แน่นท้อง มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีตัวเหลือง ตาเหลือง เกิดภาวะขาดน้ำ เช่น ผิวแห้ง กระหายน้ำ หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น ซึ่งมักเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

                   4. มีนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งมักจะทำให้เกิดอาการปวดท้องบริเวณช่องท้องส่วนบนหรือด้านขวา และมักปวดร้าวไปยังไหล่ขวาหรือบริเวณหลังด้านขวา อาการจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ปวดนานแต่ละครั้งอย่างน้อย 30 นาทีถึงหลายๆชั่วโมง และมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย อาการปวดมักเกิดขึ้นหลังจากทานอาหารมื้อหนัก หรืออาหารที่มีไขมันสูง นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในกระเพาะอาหาร และอาจมีจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ด้วย

                     ในเบื้องต้น ควรเลือกทานอาหารเฉพาะอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด คือ ไม่เค็ม เปรี้ยวหรือเผ็ดไป ไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดต่างๆ อาหารผัด ไม่ทานเนื้อสัตว์ปริมารมากไป เพราะย่อยยาก ควรเคี้ยวช้าๆ ให้ละเอียด ไม่ทานและกลืนเร็ว ไม่ทานอาหารจนอิ่มเกินไป ไม่ดื่มน้ำอัดลม อัดแก๊สต่างๆ รวมถึงชา กาแฟ โกโก้ แอลกอฮอล์ และไม่ควรทานอาหารก่อนนอนภายใน 2 ชั่วโมง ห้ามทานยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น แก้ปวดเมื่อย ปวดข้อ ปวดประจำเดือน เป็นต้น  

                     หากอาการยังไม่บรรเทา อาจทานยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งกรด เช่น แรนิทิดีน (ranitidine) ยาโอเมพราโซล (omeprazole) เป็นต้น หรือยาที่ช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กได้เร็วขึ้น เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (metoclopramide) เป็นต้น

                    แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์ค่ะ