ถามแพทย์

  • เป็นโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสวิง ก่อนทานอาหาร เกิดจากอะไร

  •  Somchat Supabhundit
    สมาชิก
    อายุ 70 ปี 6 เดือน นน. 60 กก. สูง 168 ฃม. ทานยา metformin 500มก. เช้าเม็ด เย็นเม็ด มียาGLI-PI-ZIDE ก่อนอาหารเช้าอีก 1 เม็ด มาหลายปีแล้ว ออกกำลังกายประจำทุกวัน(หรือไม่น้อยกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์) Muscle strengthening/stretching วันละ 1 ชม ขี่จักรยานอยู่กับที่ วันละ 1 ชม. อยากทราบว่า... เช้าวันนี้...วัด 4 รอบเลย... (9:00)หลังตื่นนอน. ก่อนข้าวเช้า 108 (10:30)หลังออกกำลัง. . 144 (13:30)หลังอาหารเช้า 2 ชม. 147 (14:50)หลังขี่จักรยานก่อนข้าวเที่ยง. 81 ช่วยอธิบายตรรกนี้หน่อย น้ำตาลขึ้นหลังออกกำลังก่อนอาหารเช้า จาก 108 เป็น 144 เพราะอะไร? แต่หลังอาหารเช้า 2 ชม. ขี่จักรยาน 1 ชม. น้ำตาลกลับ ลงจาก 147 มาที่ 81.. ทำไมตัวเลข 2 ชุดนี้ มันขัดกันอ่ะ? ขอบคุณครับ

    สวัสดีครับ คุณ Somchat Supabhundit

    ตามหลักการแล้ว ระดับน้ำตาลของเรามักจะสูงขึ้นหลังตอนตื่นนอนอยู่แล้วครับ เพราะร่างกายอดอาหารมานานหลายชั่วโมง ตับของเราจึงทำการปลดปล่อยน้ำตาลออกมาในช่วงตื่นนอนแรก เพื่อให้เรามีพลังงานพอจะทำกิจวัตรประจำวัน และแน่นอน เพื่อไปหาอาหารเช้ามารับประทานครับ

    ในช่วงแรก แม้หลังตื่นนอน จะออกกำลังกาย  ก็ไม่ได้หมายความว่าน้ำตาลจะลดลงได้ครับ เพราะร่างกายจะรับรู้และหยุดปล่อยน้ำตาลออกมาในเลือด ก็ต่อเมื่ออาหารเช้าตกถึงท้องเท่านั้น  เพราะที่กระเพาะมีตัวรับรู้การมาของอาหาร หากกระเพาะถูกกระตุ้นจากอาหารแล้ว ระดับฮอร์โมนอินซูลินถึงจะสูงขึ้น จึงจะทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงได้ครับ

    นี่จึงอธิบายระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นจาก 108 เป็น 144 ในช่วงแรก เพราะยังไม่มีอาหารตกถึงท้อง ร่างกายจึงปล่อยน้ำตาลออกมาเรื่อยๆครับ

    โดยปกติ หากรับประทานอาหารแล้ว ช่วงแรก ทั้งระดับน้ำตาลและอินซูลินจะสูงขึ้น เพราะร่างกายรับอาหารเข้ามาและมีการดูดซึมสารที่ให้น้ำตาล (โดยเฉพาะแป้ง) กระนั้น ต่อมาระดับน้ำตาลจะลดต่ำลงมา เพราะผลของอินซูลิน ภายในเวลาราว 2 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร  แต่ในผู้ป่วยเบาหวาน การทำงานของฮอร์โมนอินซูลินอาจจะมีประสิทธิภาพไม่ดีนัก  จึงอาจใช้เวลามากกว่านั้นกว่าระดับน้ำตาลจะลดลงมาครับ

    นี่จึงอธิบายการที่น้ำตาลลดจากระดับจาก 147 มาที่ 81 หลังรับประทานอาหารเช้าแล้วครับ

    กล่าวโดยสรุป ระดับน้ำตาลจะขึ้นลงนั้นขึ้นอยู่กับมื้ออาหารที่รับประทานมากกว่า กิจกรรมหรือการออกกำลังกายครับ  ดังนั้น การเจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลจึงเน้นไปที่ช่วงก่อนหรือหลังรับประทานอาหารมากกว่าครับ 

    นอกจากนี้ ไม่ควรอดอาหารนานจนเกินไป เพราะจะทำให้การควบคุมน้ำตาลทำได้ลำบาก อีกทั้ง ควรศึกษาระดับน้ำตาลในอาหารแต่ละชนิดให้ถี่ถ้วน เพื่อหลีกเลี่ยงการรับน้ำตาลเกิน  และออกกำลังกายเป็นประจำก็จะสามารถช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงครับ