ถามแพทย์

  • อายุ 24 ปี ทานอาหารแล้วจุกลิ้นปี่ข้างขวาสลับซ้าย เรอบ่อย ผายลมบ่อย ท้องร้องดัง ท้องผูก

  •  ธรรม มะ
    สมาชิก
    สวัสดีครับคุณหมอผมอายุ24ปี ผมมีอาการเวลาทานอาหารแล้วรุ้สึกจุกเสียดที่ลิ้นปี่ข้างขวาสลับกับข้างซ้ายอ่ะครับ แล้วจะมีเหมือนกรดในท้องตลอดด เรอบ่อย ผายลมบ่อยมากก ก่อนหน้านี้จะมีอาการกรดในท้องเยอะยิ่งเวลานอนแล้วท้องว่างจะมีเสียงดังในท้องกร็อดๆๆๆ ตลอดเลยยพอกินเยอะก็ค่อนข้างจุกเสียดด การขับถ่ายที่เปลี่ยนไปคือคือท้องผูกอุจจาระจะไม่ออกก ออกแต่ลมเหมือนเสียงแก๊สอ่ะครับ แต่ก็มีออกบ้างเปนสีเหลืองปกติมีมูกใสๆบ้างอ่ะครับ ก่อนหน้านี้ผมไม่ค่อยทานผักผลไม้อ้ะครับแต่จะดื่มพวกน้ำมะเขือเทศบ่อยมาก ทานอาหารรสจัดพวกยำส้มตำบ่อย

    สวัสดีค่ะ คุณ ธรรม มะ,

                         อาการจุกเสียดตรงลิ้นปี่ข้างซ้ายและขวาสลับกัน เรอบ่อย ผายลมบ่อย ท้องร้องเสียงดัง อาจเกิดจาก

                      1.โรคกระเพาะอาหารอักเสบ  โดยจะมีอาการปวดบริเวณท้องส่วนบน อาจเป็นบริเวณลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือหรือปวดค่อนไปทางด้านซ้าย อาจปวดแบบจุกแน่น หรือแสบร้อน นอกจากนี้อาจมีอาการท้องอืด มีแก๊สในทางเดินอหารมาก อาหารไม่ย่อย อิ่มเร็ว เรอบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

                      2.โรคกรดไหลย้อน อาการจะคล้ายๆ กับกระเพาะอาหารอักเสบ แต่จะมีอาการแสบร้อนกลางอกหรือแน่นหน้าอกร่วมด้วย หรือมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในคอ หรือเจ็บคอ ระคายเคืองคอ เป็นต้น 

                      3.นิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งมักจะทำให้เกิดอาการปวดท้องบริเวณช่องท้องส่วนบนหรือด้านขวา และมักปวดร้าวไปยังไหล่ขวาหรือบริเวณหลังด้านขวา และมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในกระเพาะอาหาร และอาจมีจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ด้วย

                      4. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน แต่จะมีอาการปวดท้องบริเวณท้องส่วนบนรุนแรง และมักปวดร้าวไปที่หลัง อาการปวดมักจะมากขึ้นเมื่อทานอาหาร ท้องอืด แน่นท้อง มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีตัวเหลือง ตาเหลือง เกิดภาวะขาดน้ำ เช่น ผิวแห้ง กระหายน้ำ หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น 

                        นอกจากนี้ อาจเกิดจากโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร เนื้องอกหรือมะเร็งของลำไส้ เป็นต้น แต่มักจะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย และไม่ค่อยพบในคนอายุน้อย มักพบในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

                      ในเบื้องต้น แนะนำให้ดูแลรักษาแบบโรคกระเพาะอาหารไปก่อน เช่น การเลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย ไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดต่างๆ อาหารผัด ไม่ทานอาหารรสจัด ไม่ทานเผ็ด ดังนั้น ก็ควรงดทานอาหารจำพวกยำและส้มตำไปก่อน ไม่ทานอาหารครั้งละปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะในมื้อเย็น งดการทานเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ๆ ไม่ดื่มน้ำอัดลม อัดแก๊สต่างๆ รวมถึงชา กาแฟ โกโก้ แอลกอฮอล์ ห้ามทานยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น แก้ปวดเมื่อย ปวดข้อ เป็นต้น  

                      นอกจากนี้ การมีอาการท้องผูก ก็อาจทำให้อาการท้องอืด และอาการต่างๆ เป็นมากขึ้นได้ ดังนั้น ก็ควรรักษาอาการท้องผูกให้ดีขึ้นด้วย โดยการดื่มน้ำเปล่ามากๆ ทานผักและผลไม้ให้เพียงพอ หรืออาจทานไฟเบอร์เสริมก็ได้ และควรออกกำลังกายด้วย เพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหว จะได้ถ่ายได้ง่ายขึ้น สำหรับน้ำมะเขือเทศ ส่วนใหญ่จะมีแต่น้ำตาล และอาจวิตามินและเกลือแร่อยู่ แต่ไม่ค่อยมีไฟเบอร์ จึงอาจไม่ได้ช่วยเรื่องการขับถ่ายค่ะ 

                      นอกจากนี้ อาจทานยาที่ช่วยขับลม ช่วยย่อย เช่น ไซเมทิโคน (simethicone), เอ็ม คาร์มิเนทิฟ (M. Carminative) มาเจสโต (magesto-F) เป็นต้น

                      แต่หากอาการต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบอายุรแพทย์เพื่อตรวจรักษาค่ะ